เที่ยวมหาสารคาม2ยุค – จ.มหาสารคาม ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคอีสาน

จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบหลักฐานว่าได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนา ตั้งแต่สมัย คุปตะตอนปลายและปาลวะของอินเดียในรูปแบบของศิลปะสมัยทวารวดี อาทิ ในปี 2522 มีการขุดพบพระพิมพ์ดินเผาจำนวนมาก รวมทั้งพบพระบรมสารีริกธาตุที่บริเวณกลางทุ่งนาในเขต อ.นาดูน หรือนครจำปาศรีในอดีต

นอกจากนั้นยังพบร่องรอยศิลปะสมัยทวารวดีที่ อ.กันทรวิชัย โดยพบหลักฐานเป็นพระพุทธรูปยืนแกะสลักจากหิน ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดพระพุทธมงคลเมือง และวัดพระพุทธมิ่งเมือง เป็นต้น

และยังพบร่องรอยวัฒนธรรม “ขอม” ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดี ประเภทโบราณวัตถุสถานที่สร้างขึ้นเนื่องในสายวัฒนธรรมแบบเขมรหรือแบบขอมอยู่หลายแห่ง กระจายอยู่หลายพื้นที่ทั่วทั้งจังหวัด

ผศ.ดร.สมชาติ มณีโชติ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้ความเห็นว่า จากหลักฐานประเภทศิลปะโบราณวัตถุสถานแบบเขมรในพื้นที่ จ.มหาสารคาม ได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่ได้แผ่อิทธิพลผ่านมาทางวัฒนธรรม “ขอม” ที่เป็นโบราณวัตถุสถานสร้างขึ้นเนื่องในสายวัฒนธรรมแบบเขมรหรือแบบขอม โดยได้รับอิทธิพลให้เห็นในรูปแบบปราสาท

ลักษณะการก่อสร้างได้รับอิทธิพลทั้งลักษณะรูปแบบการก่อสร้างและคติความเชื่อมาจากอาณาจักรขอมหรือเขมรโบราณ จากเมืองพระนคร หรืออาณาจักรเขมรโบราณในเขตเมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา มาตั้งแต่ไม่น้อยกว่าราวพุทธศตวรรษที่ 15 และต่อเนื่องมาจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 18

ในบรรดาอาคารสิ่งก่อสร้างในสายวัฒนธรรมเขมร ส่วนใหญ่มีทั้งใช้อิฐ ศิลาทรายและศิลาแลง เป็นวัสดุหลักในการก่อสร้างและเรียกอาคารเหล่านี้ว่า ปราสาท หรือปราสาทหิน ใช้เป็นศาสนสถานในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาทั้งในศาสนาฮินดูและพระพุทธศาสนานิกายมหายาน

สถานที่ปราสาทขอมโบราณตั้งอยู่จึงเป็นหลักฐานยืนยันว่าดินแดนเหล่านี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรขอมที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อน

ต่อมาภายหลังชาวอีสานตามความเชื่อวัฒนธรรมลาว ได้เรียกปราสาทเหล่านี้ว่า “กู่”

สำหรับกู่โบราณสถานสมัยขอม ในพื้นที่ของมหาสารคาม มีอายุราว 800 ปี นิยมสร้างด้วยศิลาแลง กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วทั้งจังหวัด และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยมจากคนในพื้นที่และนอกพื้นที่มาโดยตลอด

อาทิ กู่บ้านแดง อยู่ในเขต อ.วาปีปทุม กู่สันตรัตน์ อยู่ในเขต อ.นาดูน กู่ศาลานางขาว อยู่ในเขต อ.นาดูน กู่บ้านเขวา อยู่ในเขต อ.เมือง ปราสาทกู่โนนพระบ้านตะคุ อยู่ในเขต อ.แกดำ เป็นต้น รวมทั้งมีการขุดพบศิลาจารึกและประติมากรรมรูปเคารพแบบเขมรอยู่กับโบราณสถานเหล่านั้นด้วย

ปัจจุบันกู่หลายแห่งได้รับการขุด แต่งจากกรมศิลปากร จนมีสภาพที่สมบูรณ์ และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญสร้างรายได้เข้า ท้องถิ่น

นอกจากนั้นกู่บางแห่งชาวบ้านในท้องถิ่นซึ่งเป็นความเชื่อวัฒนธรรมลาว เชื่อว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ จึงนำพระพุทธรูปเข้าไปตั้งไว้เพื่อสักการบูชา และเข้าไปจัดงานบุญประเพณี อาทิ สรงกู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ เป็นต้น

ผศ.ดร.สมชาติกล่าวอีกว่า กู่วัฒนธรรมขอมที่ปรากฏในพื้นที่มหาสารคาม อยู่ช่วงปลายสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ส่วนใหญ่เป็นวัดในพุทธนิกายมหายาน อายุประมาณ 800 ปี บางแห่งยังใช้ประโยชน์เป็นอโรคยาศาลหรือสถานพยาบาล อาทิ กู่บ้านเขวา ต.เขวา อ.เมือง และกู่สันตรัตน์ อ.นาดูน เป็นต้น

สำหรับกู่ที่เป็นอโรคยาศาลดูได้จาก 1.แผนผังของกู่จะเหมือนกัน รวมทั้งวัสดุที่นำมาสร้างจะเป็นศิลาแลงทั้งหมด

2.กำแพงล้อมรอบกู่ทั้ง 4 ทิศจะมีประตูเข้าออกทางเดียวคือด้านตะวันออก หรือที่เรียกว่าโคปุระ

3.มีปราสาทประธานหลังเดียวหันหน้าไปทางทิศตะวันออก

4.ภายในกำแพงด้านปราสาทประธานทิศใต้จะมีอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า 1 หลังหันหน้าไปทางทิศตะวันตก อาคารนี้นักโบราณคดีเรียกว่าบรรณาลัย

นอกจากนั้นกู่ทั้ง 2 แห่งยังพบรูปเคารพ “พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาถคตพระพุทธเจ้า” เป็นพระพุทธเจ้าทางการแพทย์ตามความเชื่อของพุทธนิกายมหายาน และเป็นที่น่ายินดีที่สถาบันการอุดมศึกษาในพื้นที่ได้มีโครงการปลุกจิตสำนึกให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ร่วมกันอนุรักษ์โบราณสถานสมัยขอมเหล่านี้เอาไว้ให้อยู่คู่ชุมชน

หลังจากเที่ยวชมกู่โบราณสถานสมัยขอมโบราณแล้ว ในพื้นที่ จ.มหาสารคาม ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาที่น่าสนใจ

นั่นคือการเที่ยวชมพระอุโบสถพุทธศิลป์สวยงามอลังการที่สร้างใหม่ ซึ่งบางแห่งมูลค่าการก่อสร้างเป็นร้อยล้านบาท

อาทิ 1.พระอุโบสถไม้วัดป่าวังน้ำเย็น ต.เกิ้ง อ.เมือง เป็นอุโบสถหลังใหญ่อลังการ วัสดุก่อสร้างใช้ไม้ซุงขนาดใหญ่ทั้งหลัง เฉพาะเสาไม้ซุงจำนวน 32 ต้นใหญ่ กว้าง 32 เมตร ยาว 70 เมตร มูลค่าการก่อสร้างกว่า 200 ล้านบาท

2.พระอุโบสถรูปทรงเรือวัดหนองหูลิง ต.มิตรภาพ อ.เมือง เป็นอุโบสถที่มีรูปทรงแปลกตาแตกต่างจากอุโบสถทั่วๆ ไป รูปทรงสถาปัตยกรรมสร้างเป็นรูปทรงเรืออนันตนาคราช มีความกว้าง 40 เมตร ยาว 20 เมตร มูลค่าก่อสร้างกว่า 10 ล้านบาท

3.พระอุโบสถวัดป่าหนองชาด หมู่ 2 หมู่บ้านหัวหนอง ต.ดอนเงิน อ.เชียงยืน ถือเป็นวัดที่มีพระอุโบสถสวยงามแห่งหนึ่งของ จ.มหาสารคาม วิหารคดที่ล้อมรอบอุโบสถฝาผนังวิหารประดับไปด้วยพระพิมพ์สมเด็จสีทอง ทั้งด้านในและด้านนอก มากกว่า 10,000 องค์ ส่วนตรงกลางเป็นพระอุโบสถสร้างจากวัสดุไม้รูปทรงประยุกต์ เป็นการรวมศิลปะของ 3 ชาติเข้าไว้ด้วยกัน คือ ลาว พม่า และไทย

4.พระอุโบสถรูปทรงเรือวัดวังยาววารี บ้านวังยาว หมู่ 2 ต.เกิ้ง อ.เมือง ก่อสร้างในปี 2556 มูลค่าก่อสร้างกว่า 6 ล้านบาท ลักษณะสถาปัตยกรรมสร้างเป็นรูปเรือสุพรรณหงส์ ออกแบบได้สวยงามลงตัว ภายในอุโบสถมีพระพุทธชินราชเป็นพระประธาน ตามฝาผนังมีภาพเขียนพุทธประวัติเพื่อให้พุทธศาสนิกชนที่มาวัดได้ศึกษาเรียนรู้

5.พระอุโบสถไม้ วัดโพธิ์ศรี ต.คันธารราษฎร์ อ.กันทรวิชัย ถึงจะเป็นอุโบสถที่ไม่ใหญ่โต แต่จุดเด่นคือตัวอาคารก่อสร้างด้วยไม้ มีการแกะสลักบานประตูหน้าต่าง ตกแต่งรอบตัวอาคาร สวยงามคลาสสิคให้บรรยากาศที่เงียบสงบเหมาะแก่การปฏิบัติกิจของสงฆ์

หากผ่านมายังเมืองมหาสารคามไม่ควรพลาดแวะเที่ยวชมโบราณสถานสมัยขอมและพระอุโบสถที่สวยงามอลังการยากจะหาที่ใดเทียบ

เชิด ขันตี ณ พล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน