พช.ผนึกสถาบันอาหาร หนุนโครงการยืดอายุผลิตภัณฑ์ OTOP อาหารถิ่นรสไทยแท้ ปั้นแบรนด์ “OTOP Thai Taste” สร้างมูลค่าเพิ่มอาหารไทย มุ่งสร้างรายได้คืนกลับชุมชน

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีส่งมอบสินค้าต้นแบบ และแถลงผลการดำเนินงาน ภายใต้ “โครงการยืดอายุผลิตภัณฑ์ OTOP อาหารถิ่นรสไทยแท้” ณ ห้องประชุม 3003 กรมการพัฒนาชุมชน โดยมี ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นางนิตยา พิระภัทรุ่งสุริยา รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน

โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างกรมการพัฒนาชุมชน และ สถาบันอาหาร ในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาคุณภาพการผลิต การแปรรูป การเก็บรักษา เมนูอาหารที่ผ่านการรับรองมาตรฐานอาหารถิ่นรสไทยแท้ จากโครงการยกระดับมาตรฐานอาหารถิ่นรสไทยแท้ (OTOP Authentic Thai Taste) จัดทำสินค้าต้นแบบเชิงพาณิชย์ สร้างสรรค์เมนูอาหารถิ่นรสไทยแท้ที่มีความโดดเด่นของส่วนประกอบที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น 10 เมนู เพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้แก่อาหารถิ่นรสไทยแท้ที่เป็นอาหารปรุงสด ให้เป็นอาหารที่มีอายุการเก็บรักษาเพื่อการบริโภคได้ยาวนานขึ้น สะดวกต่อการรับประทานรองรับเทรนด์ในยุคปัจจุบัน พร้อมขยายตลาดสู่เครือข่ายผู้ผลิตอาหารไทยและผู้บริโภค

นายสุทธิพงษ์ เผยว่า โครงการยืดอายุผลิตภัณฑ์ OTOP อาหารถิ่นรสไทยแท้ เป็นโครงการที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากการดำเนินการโครงการอาหารถิ่นรสไทยแท้ (OTOP Authentic Thai Taste) ในปีงบประมาณ 2561 ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานอาหารถิ่นรสไทยแท้กว่า 500 เมนู จาก 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยอาหารถิ่นที่ได้รับการคัดสรรหลายเมนู มีเครื่องเทศ สมุนไพร และพืชผักพื้นบ้านหลายชนิดเป็นส่วนประกอบ ดีต่อสุขภาพ ซึ่งเมนูอาหารถิ่นรสไทยแท้ดังกล่าว เหมาะสำหรับการบริโภคทันทีเมื่อปรุงเสร็จ มีช่วงเวลาเก็บรักษาที่สั้น ทำให้ไม่สามารถทำการตลาดในวงกว้างได้

ในปี 2563 นี้ กรมการพัฒนาชุมชน จึงได้จัดทำ “โครงการยืดอายุผลิตภัณฑ์ OTOP อาหารถิ่นรสไทยแท้” โดยมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาอาหารไทยที่มีสมุนไพรที่ดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคมาพัฒนา โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตมาใช้เพื่อการยืดอายุผลิตภัณฑ์ พัฒนาเป็นสินค้าอาหารแปรรูป ที่สะดวกต่อการบริโภค สอดคล้องตามความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน รสชาติอร่อย แต่ยังคงคุณประโยชน์ คุณภาพ และความปลอดภัย เพิ่มการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ และใช้ตราสัญลักษณ์หรือแบรนด์ OTOP Thai Taste ระบุข้อมูลโภชนาการต่อหน่วยบริโภค และจุดเด่นเรื่องราว (Story) ของผลิตภัณฑ์ ลงบนฉลากบรรจุภัณฑ์ตามมาตรฐานสินค้าระดับสากล

โดยนอกจากได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ในท้องตลาด ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าและกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน เดิมจากอาหารที่ปรุงสดในราคา 30 บาท สามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ OTOP ได้ในราคาขาย 50 บาทหรืออาจสูงกว่า จากการสำรวจปี 2562 มีครัวเรือนทั่วประเทศ 21 ล้านครัวเรือน หากแต่ละครัวเรือนซื้อผลิตภัณฑ์ OTOP อาหารถิ่นรสไทยแท้ 1 ถ้วย/ปี จะได้ 21 ล้านถ้วย สามารถสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 1,050 ล้านบาท ซึ่งรายได้ดังกล่าวจะกระจายกลับคืนสู่ชุมชนและอีกหลายชีวิต ก่อให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจฐานรากได้ สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งในระดับชุมชนอย่างยั่งยืน

“อาหารไทย ถือเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย ที่เราจะต้องช่วยกันรักษา เผยแพร่ และสืบต่อให้คงอยู่คู่กับบ้านเมืองเรา ปัจจุบันมีร้านอาหารไทยอยู่ทั่วโลกและกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่า อย่างไรก็ตามอาหารไทยสำเร็จรูปในลักษณะ Freeze dry เป็นหนึ่งในธุรกิจที่น่าสนใจต่อยอดอย่างยิ่ง กรมการพัฒนาชุมชน จึงได้หารือกับสถาบันอาหาร เพื่อหาวิธียืดอายุอาหารไทยแท้ทั้ง 500 สูตร ให้สามารถเก็บไว้ได้นาน โดยที่รสชาติยังคงความปรุงสุก สด ใหม่เช่นเดิม เพื่อให้อาหารไทยมีโอกาสเผยแพร่ไปทั่วโลก และเป็นประโยชน์ตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึงภาคธุรกิจ นอกจากนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาสถานการณ์สาธารณภัยต่าง ๆ หรือให้ผู้ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ได้มีโอกาสได้รับประทานอาหารที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย”

ในส่วนของวัตถุดิบนั้น นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน ยินดีเป็นสื่อกลางต่อยอดไปยังแหล่งวัตถุดิบระดับคุณภาพปลอดสารพิษ จากโครงการโคก หนอง นา โมเดล เกษตรแนวใหม่ตามศาสตร์พระราชา ซึ่งน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเผยแพร่สู่พี่น้องประชาชน เรายินดีที่จะเป็นตัวกลางให้นักลงทุนหรือผู้ผลิต ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบที่ปลอดภัยจากชาวบ้านทั่วประเทศไทย และที่สุดแล้วก็จะเป็นการพัฒนายกระดับสินค้าเกษตรให้กลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม สามารถทำการค้าได้ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เกษตรกรไทยเติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนต่อไป

ด้าน ดร.วันดี กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับกรมพัฒนาชุมชนที่ได้ร่วมสร้างนวัตกรรมในการยืดอายุของอาหารไทย ซึ่งอาหารเป็น 1 ในปัจจัย 4 ของโลก เพราะฉะนั้นโครงการยืดอายุผลิตภัณฑ์ OTOP อาหารถิ่นรสไทยแท้ในวันนี้ จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบอย่างมากมาย การขับเคลื่อนของกรมการพัฒนาชุมชนในครั้งนี้ ทำให้เกิดการขยายผลทางการตลาด ซึ่งสามารถนำรายได้กลับมาช่วยพี่น้องประชาชนในทางเกษตรกรรมได้

ขณะที่นางนิตยา พิระภัทรุ่งสุริยา รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า สินค้าต้นแบบที่ส่งมอบนี้เป็นสินค้าต้นแบบเชิงพาณิชย์ที่ผ่านการควบคุมกระบวนการผลิตตามมาตรฐานสากล เพื่อให้การผลิตสินค้ามีคุณภาพ และความปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยใช้เทคโนโลยียืดอายุผลิตภัณฑ์ ซึ่งสถาบันอาหารรับดำเนินการผลิตเป็นสินค้าต้นแบบเชิงพาณิชย์จำนวน 10 ผลิตภัณฑ์ด้วย 2 เทคโนโลยี คือ 1) เทคโนโลยีการยืดอายุด้วยเครื่องฟรีซดราย (Freeze Dryer) หรือเทคโนโลยีการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง จำนวน 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ น้ำยา(น้ำเงี้ยว) แกงไตปลา แกงป่าไก่ แกงเห็ด และแกงกระวานไก่

และ 2) เทคโนโลยีการยืดอายุอาหารโดยใช้เครื่องรีทอร์ท (Retort) หรือเครื่องฆ่าเชื้อภายใต้แรงดัน จำนวน 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ แกงฮังเลไก่ มัสมั่นไก่ ต้มโคล้งปลาย่าง น้ำยาป่า และแกงส้มมะละกอ โดยผลิตภัณฑ์ทั้ง 10 เมนูนี้ สามารถเก็บรักษาได้นานกว่า 1 ปี ทั้งนี้เมื่อนำสินค้าต้นแบบกระจายสู่ตลาดแล้ว จะมีการประเมินผลการทดสอบตลาดในแต่ละจังหวัดเพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพ รสชาติ และบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการตลาดต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน