องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก แนะรัฐตื่นตัวหยุดระบบฟาร์มอุตสาหกรรม เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นของคน สัตว์-สิ่งแวดล้อม ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมรุนแรงยิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ 21 ก.ค.65 องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ World Animal Protection เปิดเผยรายงานชื่อว่า “ภัยคุกคามสุขภาพที่ซ่อนไว้ในระบบปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม ปฏิรูประบบปศุสัตว์เพื่อสุขภาพของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น” โดยอธิบายถึงผลกระทบที่เกิดจากการกินเนื้อสัตว์จำนวนมากของมนุษย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และยังทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมรุนแรงยิ่งขึ้น

โดยรายงานชิ้นนี้ระบุว่า ในรอบ 30 ปี คนทั่วโลกกินเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะคนในประเทศร่ำรวย อย่างสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อิสราเอล ขณะที่คนในประเทศรายได้ปานกลางถึงต่ำ ก็หันมากินเนื้อสัตว์กันเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการขยายตัวของ “ฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรม” ซึ่งส่งผลกระทบต่อโลกและคุณภาพชีวิตของทุกคน

โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญระบบอาหาร องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก แจงถึงสาระสำคัญของรายงานว่า

“ตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 เป็นต้นมา สัตว์ประเภทต่างๆ ทั่วโลกลดจำนวนลง กว่าหนึ่งล้านสายพันธุ์เสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ เนื่องจากมีการตัดป่าเพื่อปลูกพืชให้เป็นอาหารสัตว์ เป็นการทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด การผลิตเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรมยังเป็นแหล่งปล่อยก๊าซ ที่เป็นองค์ประกอบหลักของก๊าซเรือนกระจก สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งก่อมลพิษทางน้ำ” รายงานระบุ

มีงานวิจัยออกมาจำนวนมากทั่วโลก ที่ชี้ให้เห็นว่าการกินเนื้อสัตว์มากเกินไป ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคติดต่อไม่เรื้อรัง(NCDs) เช่นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น

นอกจากนั้นฟาร์มแบบอุตสาหกรรมซึ่งสัตว์อยู่รวมกันอย่างแออัด การใช้สัตว์สายพันธุ์โตไว แต่ต้านทานโรคต่ำ หรือการตัดตอนอวัยวะในหมู ทำให้สัตว์มีอาการเครียด ภูมิคุ้มกันโรคต่ำและเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและติดเชื้อ ส่งผลให้เกิดการใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมาก และทำให้เกิด “เชื้อแบคทีเรียดื้อยา” ขึ้นและแพร่ออกสู่ภายนอก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและระบบสาธารณสุขไปทั่วโลก

กลุ่มผู้ใช้แรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ ยังเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม จากการต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ ค่าแรงต่ำ ทำงานหนัก เสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากเครื่องจักร และโรคต่าง ๆ ในช่วงโควิด 19 แพร่ระบาด คนงานในโรงบรรจุภัณฑ์เนื้อสัตว์ในสหรัฐอเมริกา ติดเชื้อโควิดสูงกว่า 300,000 ราย และกลุ่มคนงานแปรรูปเนื้อสัตว์ก็เป็นกลุ่มที่ได้รับบาดเจ็บและล้มป่วยจากการทำงานมากที่สุด

“เราขอเสนอแนะให้รัฐบาลทุกประเทศตระหนักถึงผลกระทบด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม จากฟาร์มปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม เราไม่ต้องการระบบอาหารที่เป็นภัยนี้ป้อนอาหารสู่คนทั้งโลก เรามีทางออกอื่นที่ดีกว่านั้น เราต้องเร่งสร้างระบบอาหารที่เป็นธรรมและยั่งยืนต่อทั้งคน สัตว์และสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะสายเกินไป”

สำหรับผู้ที่สนใจ อ่านรายงานฉบับเต็ม ภัยคุกคามที่ซ่อนไว้ในระบบปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม คลิกไปที่ https://www.worldanimalprotection.or.th/The-hidden-health-impacts-of-factory-farming

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน