พิมพ์ของพระเครื่อง

คอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง

พิมพ์ของพระเครื่อง – สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน เรื่องของการพิจารณาพระเครื่องนั้นๆ ว่าเป็นพระแท้หรือไม่แท้ มีหลักเกณฑ์สำคัญอยู่ 3 ข้อ คือ

พิมพ์ของพระเครื่อง : ชมรมพระเครื่อง

1.เรื่องรายละเอียดของแม่พิมพ์และร่องรอยของธรรมชาติจากการผลิต

2.เรื่องเนื้อหาขององค์พระ (วัสดุที่นำมาสร้างพระ)

3.ธรรมชาติความเก่าตามอายุการสร้าง

การพิจารณามีความสำคัญทั้ง 3 ข้อ การวิเคราะห์ขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้เลยครับ มีบางท่านกล่าวว่า เรื่องพิมพ์ไม่มีความสำคัญไม่ต้องจำ หัดดูเนื้อคราบผิวก็พอนั้น เป็นการเข้าใจที่ผิดและจะนำมาซึ่งความผิดพลาดได้ง่ายมาก

วันนี้ผมจะพูดถึงเพียงเรื่องพิมพ์ หรือรายละเอียดของแม่พิมพ์มีความสำคัญอย่างไร พระเครื่องหรือพระพิมพ์นั้น เป็นการผลิตขึ้นมาจากแม่พิมพ์ ดังนั้นสิ่งที่เกิดจากแม่พิมพ์อันเดียวกันก็ต้องมีรายละเอียดที่เหมือนกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเส้นริ้วรอยต่างๆ มิติความลึกตื้นก็จะเหมือนกันหมด เพราะเกิดขึ้นจากแม่พิมพ์อันเดียวกัน

พิมพ์ของพระเครื่อง : ชมรมพระเครื่อง

และไม่ว่าสิ่งผลิตใดๆ ก็ตามที่เกิดจากแม่พิมพ์อันเดียวกัน ก็จะมีรายละเอียดเหมือนกัน เช่น เหรียญกษาปณ์ หรือธนบัตร รุ่นเดียวกันและมีแม่พิมพ์ตัวเดียวกันก็จะเหมือนกันทั้งหมด ไม่เช่นนั้นเหรียญกษาปณ์หรือธนบัตรก็จะพิสูจน์ไม่ได้เลยว่าเก๊หรือแท้

สิ่งแรกที่จะต้องพิจารณาก่อนข้ออื่นๆ ก็คือ รายละเอียดของพิมพ์เนื่องจากเป็นสิ่งแรกๆ ที่เราจะเห็นก่อนสิ่งอื่นๆ และเห็นได้ด้วยตาเปล่า เอาล่ะผมขอยกตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ เช่น มีฝาแฝดอยู่คู่หนึ่ง คุณจะจดจำได้อย่างไรว่าคนไหนเป็นคนไหน แน่นอนครับเราก็จะจดจำสิ่งแตกต่างของคนหนึ่งว่าคนนี้ชื่ออะไร ก็เท่ากับว่าเราจดจำพิมพ์หรือตำหนิที่แตกต่าง ไม่ต้องไปเอาแว่นขยายไปส่องดูเนื้อผิวของคนคนนั้นก่อนจึงจะบอกได้ว่าคนไหนชื่ออะไร ตรรกะง่ายๆ และเป็นหลักความจริงไม่ใช่เพ้อฝันครับ

การพิจารณาพระแท้หรือไม่ สิ่งแรกที่เราเห็นก็คือรายละเอียดของพิมพ์ และก็เป็นสิ่งแรกที่จะต้องพิจารณาก่อนว่าถูกต้องหรือไม่ ก่อนที่จะรู้ว่าถูกต้องหรือไม่ก็ต้องศึกษาเรื่องของรายละเอียดของแม่พิมพ์เสียก่อน ต้องจดจำให้ได้ทุกมิติ พูดแบบนี้บางท่านก็อาจจะคิดว่ายาก แต่ความเป็นจริงถ้าเราศึกษาอย่างถูกต้องและศึกษาทีละพิมพ์ก็จะจดจำได้ไม่ยากนัก

พิมพ์ของพระเครื่อง : ชมรมพระเครื่อง

ข้อสำคัญต้องยึดหลักความเป็นจริงไม่ใช่จินตนาการเอาเอง ถ้าเรากำลังพิจารณาพระเครื่ององค์นั้นอยู่ และพระองค์นั้นรายละเอียดผิดแปลกจากพระแท้ๆ ที่เขาเล่นหากันโดยที่มีมูลค่ารองรับ คือมีพิมพ์ที่แตกต่างออกไป สิ่งแรกที่ต้องพิจารณาก็ผิดเสียแล้ว ข้อที่ 2 ที่ 3 ก็ไม่ต้องไปพิจารณาต่อให้เสียเวลาครับ เพราะสิ่งแรกที่ต้องทำให้ถูกต้องก็ผิดเสียแล้ว ถ้าพิจารณาต่อในข้อต่อๆ ไปก็ต้องผิดทั้งหมดครับ พระที่ผลิตหรือขึ้นรูปจากแม่พิมพ์อันเดียวกันก็ต้องเหมือนกัน แต่ถ้ายังไม่เหมือนก็ไม่ต้องดูต่อให้เสียเวลาครับ

ทีนี้ถ้าถามว่า พระเครื่องที่เป็นพิมพ์เดียวกันจะมีแม่พิมพ์อันเดียวกันหรือไม่ ถ้าต้องผลิตจำนวนมากๆ ครับเรื่องนี้ก็ต้องศึกษาให้รู้ก่อนว่า การสร้างแม่พิมพ์ของแต่ละยุคสมัยนั้นเขาทำออกมาอย่างไร เช่น พระกรุเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยาขึ้นไปนั้นเขาสร้างแม่พิมพ์อย่างไร เรื่องนี้มีประวัติบันทึกไว้ และมีการค้นพบแม่พิมพ์พระต่างๆ ตั้งแต่ในสมัยตอนเปิดกรุ ไม่ว่าจะเป็นที่กรมศิลปากรหรือพวกที่ลักลอบขุด

โดยจะพบแม่พิมพ์ที่ใช้พิมพ์พระเครื่องนั้นอยู่ในกรุด้วย ซึ่งคนโบราณเขาก็จะบรรจุไว้ในกรุพร้อมๆ กับพระเครื่องนั่นแหละ จะพบมากพบน้อยก็ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของกรุว่าถูกทำลายทรุดโทรมไปมากแค่ไหน เรื่องของตัวแม่พิมพ์นั้นนักขุดก็จะไม่ค่อยสนใจเท่าไร เพราะขายไม่ได้ และไม่ค่อยมีใครสนใจที่จะเก็บรักษาไว้

นอกจากนักประวัติศาสตร์จึงจะเห็นความสำคัญเก็บรักษาและบันทึกไว้ ถ้าถามว่าแม่พิมพ์ที่ถูกขุดพบนั้นจะนำมาสร้างพระชนิดนั้นได้อีกหรือไม่และเหมือนกันหรือไม่ ก็ตอบว่า นำมาผลิตได้แต่จะไม่เหมือนเดิม เนื่องจากว่าแม่พิมพ์นั้นๆ จะชำรุดไปตามกาลเวลา หรือสึกหรอไปตามกาลเวลาจึงนำมาผลิตใหม่ไม่เหมือนเดิมครับ เรื่องนี้ถ้าจะให้อธิบายก็ต้องใช้เนื้อที่หน้ากระดาษมาก ไว้จะเล่าเหตุผลให้ฟังในครั้งต่อไปครับ

ทีนี้ผมขอยกตัวอย่างพระคงลำพูนซึ่งมีการพบพระจำนวนมาก เขาสร้างพระอย่างไรถ้าแม่พิมพ์มีอันเดียว ครับเรื่องนี้ก็ต้องศึกษากันว่าเขาทำอย่างไร ในสมัยโบราณนั้น เขาจะทำแม่พิมพ์โดยการแกะตัวแม่พิมพ์เป็นแบบตัวผู้คือแกะเป็นแบบองค์พระตามที่เราเห็นเลยอันเดียว

โดยอาจจะแกะจากหินละเอียดหรือจากไม้ก็ได้ จากนั้นก็จะสร้างแม่พิมพ์ที่เป็นดินเผาขึ้น โดยการนำดินเหนียวมาถอดพิมพ์จากตัวแม่ซึ่งเป็นแบบตัวผู้ ก็จะได้แม่พิมพ์ตัวเมียที่กลับด้านกัน โดยกดทำแม่พิมพ์ได้จำนวนหลายๆ ตัวเท่าความต้องการ จากนั้นก็นำแม่พิมพ์ที่ได้นั้นไปเผา เพื่อให้กลายเป็นแม่พิมพ์ดินเผา เพื่อนำมากดพิมพ์พระจริงๆ ต่อไป ซึ่งก็จะสร้างจำนวน มากๆ ได้

ดังนั้นพระที่ได้มาก็จะมีรายละเอียดของแม่พิมพ์เหมือนๆ กันหมด เนื่องจากทุกองค์เกิดมาจากแม่พิมพ์ตัวผู้อันเดียวกัน เรื่องแม่พิมพ์ดินเผาที่ผมยกตัวอย่างมานี้เขาทำเป็นแม่พิมพ์ดินเผาก็เพราะเขาจะสร้างพระเครื่องชนิดเนื้อดินเผา

ส่วนแม่พิมพ์ที่ทำพระเนื้อโลหะก็จะเป็นอีกแบบ แต่ก็จะสร้างแม่พิมพ์ตัวผู้ก่อนเช่นเดียวกัน เพียงแต่วัสดุและกรรมวิธีที่ทำเป็นแม่พิมพ์ตัวเมียก็จะแตกต่างกันและใช้โลหะพวกโลหะผสมแทน พระเครื่องหรือพระพิมพ์ตั้งแต่สมัยอยุธยาและเก่าขึ้นไปนั้นทำแม่พิมพ์แบบนี้ทั้งสิ้น

พระเครื่องที่ผลิตขึ้นมาจากแม่พิมพ์จึงมีรายละเอียดของแม่พิมพ์เหมือนกันหมด เรื่องนี้จึงเป็นสาระสำคัญอันดับแรกที่ต้องพิจารณา ส่วนเรื่องของเนื้อพระก็คือวัสดุที่นำมาสร้างเป็นองค์พระก็สำคัญ ที่ต้องพิจารณาในอันดับต่อไปจนถึงเรื่องธรรมชาติความเก่าขององค์พระ ทุกอย่างสำคัญหมดทุกข้อขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้

ถ้ามีคนสอนว่าให้ศึกษาเนื้อพระเพียงอย่างเดียวอย่างอื่นไม่ต้องศึกษา ก็ให้นึกไว้ได้เลยว่า คนผู้นั้นไม่รู้จริง หรือไม่ก็กำลังจะพาเราไปหลงทาง และจะไม่มีวันที่จะสามารถพิจารณาพระเครื่องว่าแท้หรือไม่ได้เลย มีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าศึกษาเนื้อพระเพียงอย่างเดียวก็พอ เพราะเหมือนกับเรียนทางลัดได้ เพราะดูเนื้อเป็นแล้วก็ดูพระเป็นทุกอย่าง ก็เตรียมตัวโดนหลอกหรือโดนต้มและทำใจไว้ได้เลยครับ

การศึกษาเรื่องแม่พิมพ์นั้นไม่ได้ยากเย็นแสนเข็ญนักหรอกครับ เพียงแต่มีความสนใจและตั้งใจจริงเท่านั้น ก็สามารถศึกษาได้ง่ายและไม่สับสนครับ เนื้อที่หมดพอดีเดี๋ยวจะไปรบกวนเนื้อที่เขียนของคนอื่น แล้วจะเขียนถึงวิธีศึกษาเรื่องพิมพ์ในครั้งต่อไปนะครับ

ในวันนี้ผมได้นำรูปพระคงลำพูนมาให้ดูเปรียบเทียบเล่นๆ ว่าพระแท้เขามีรายละเอียดแม่พิมพ์เหมือนกันทุกมิติหรือไม่ครับ

ด้วยความจริงใจ

แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน