พระร่วงเปิดโลกซุ้มประตู

คอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง

พระร่วงเปิดโลกซุ้มประตู – สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้เรามาคุยกันถึงพระเครื่องรุ่นเก่าๆ ซึ่งในปัจจุบันไม่ค่อยได้พบเห็นกัน นับวันแทบจะไม่ได้มีใครพูดถึง แต่พระเครื่องที่เป็นพระกรุพระเก่านั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ทำให้เรารู้ถึงประวัติความเป็นมาในอดีต พระเครื่องที่ผมจะพูดถึงในวันนี้คือพระร่วงยืนเปิดโลกซุ้มประตู วัดมหาธาตุ เพชรบูรณ์ครับ

วัดมหาธาตุ เป็นวัดคู่เมืองเพชรบูรณ์ ตั้งอยู่ ต.ในเมือง ห่างที่ว่าการอำเภอเมืองประมาณ 200 เมตร มีพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์อยู่ด้านหลังพระอุโบสถ ส่วนยอดพระเจดีย์หักพังไปแล้ว สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย

ก่อนปีพ.ศ.2483 วัดมหาธาตุมีสภาพเกือบเป็นวัดร้าง เสนาสนะมีเพียงกุฏิสงฆ์ 1 หลัง กับศาลาการเปรียญเก่าที่ใช้การเกือบไม่ได้ 1 หลัง พระอุโบสถก็เหลือแต่ฝาผนังอิฐเท่านั้น จนต้นปีพ.ศ.2483 พระเพชรบูรณ์คณาวสัย (แพ) สมัยพระครูวินัยธรได้มาเป็นเจ้าอาวาส ได้จัดการก่อสร้างกุฏิสงฆ์เพิ่มเติม

สร้างศาลาการเปรียญ 1 หลัง พระอุโบสถ 1 หลัง และตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมสอนทั้งแผนกธรรมและบาลี ส่วนเขตวิสุงคามสีมาของวัดนั้นเดิมคงจะมีอยู่ตามแนวเขต ใบเสมาสลักด้วยหินทรายโบราณซึ่งยังมีอยู่ทั้ง 8 ใบ จนถึงปีพ.ศ.2496 จึงได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาใหม่ และได้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาเมื่อพ.ศ.2497

พระร่วงเปิดโลกซุ้มประตู

ต่อมาในปีพ.ศ.2510 กรมศิลปากรได้ซ่อมแซมบูรณะพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หลังพระอุโบสถ ได้ขุดพบกรุ ซึ่งมีเสาศิลาแลงขนาดกว้างประมาณ 70 ซ.ม. สูง 60 ซ.ม. ซ้อนกันอยู่ 2 ก้อน และมีไหแบบสุโขทัย ขนาดเล็กและใหญ่ตั้งอยู่ล้อมรอบเสาศิลาแลงหลายใบ

ภายในไหบรรจุทั้งพระพุทธรูป และพระเครื่องเนื้อชินเงินเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบเครื่องถ้วยชามจีนสมัยราชวงศ์เหม็ง และรูปปั้นคน รูปสัตว์ต่างๆ มีโถสังคโลก ตลับทองคำจำนวนหนึ่ง ที่สำคัญได้พบลานทองจารึกอักษรไทยโบราณม้วนอยู่ในท้องหมูสัมฤทธิ์ 1 แผ่น และอยู่ในไหอีก 2 แผ่น รวมเป็น 3 แผ่น

จากการสำรวจพระที่ขุดพบ ปรากฏว่าได้พระพุทธรูป 900 องค์ เป็นพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยอยุธยา แต่ล้อแบบศิลปะสกุลช่างสมัยต่างๆ ก่อนหน้าเป็นส่วนมาก ในส่วนที่เป็นพระเครื่องส่วนมากเป็นพระเนื้อชินเงิน ที่เป็นเนื้อดินเผาก็มีบ้างแต่ไม่มากนัก

เมื่อคัดแยกประเภทแล้ว ได้พระเครื่องแบบต่างๆ กว่า 30 แบบ เช่น พระร่วงเปิดโลกซุ้มประตู พระร่มโพธิ์ พระว่านหน้าทอง พระว่านหน้าเงิน พระซุ้มอรัญญิก พระซุ้มเรือนแก้ว พระท่ามะปราง พระฝักดาบ พระนางพญาเพชรบูรณ์ และพระนาคปรกพิมพ์ต่างๆ เป็นต้น

พระเครื่องที่พบทั้งหมดกรมศิลปากรได้นำมาออกให้ประชาชนเช่าบูชา โดยกำหนดราคาแตกต่างกันไป ปรากฏว่าพระร่วงเปิดโลกซุ้มประตูเป็นพิมพ์ที่กรมกำหนด ราคาเช่าไว้สูงกว่าพระพิมพ์อื่นๆ

พระร่วงพิมพ์นี้นับว่าสวยงาม พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปยืนพระหัตถ์ทอดลงมาข้างลำพระองค์ พระบาทแยกออกหันพระปราษณี (ส้นเท้า) เข้าหากัน ประทับอยู่ในซุ้มประตู ต้นเสาลายก้างปลา ด้านบนซุ้มประดับลายกระหนกเครือนาคคู่ มีลายกระจังตาอ้อยอยู่ยอดบนสุด

นับว่าเป็นศิลปะสกุลช่าง อยุธยาที่สละสลวยงดงามมาก สังเกตดูจากสถาปัตยกรรมขององค์พระเจดีย์เป็นแบบทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมสมัยกรุงสุโขทัย สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยกรุงสุโขทัยยุคปลาย แต่พระพุทธรูปและพระเครื่องที่พบนั้นกลับพบเป็นศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยายุคต้น จึงทำให้สันนิษฐานต่อได้ว่าคงมีการบูรณปฏิสังขรณ์ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา

พระร่วงเปิดโลกซุ้มประตู เนื้อพระเป็นเนื้อชินเงิน บางองค์มีสนิมขุมและรอยระเบิดบางแห่ง คราบดินกรุฝังตัวอยู่ตามผิวทั่วๆ ไป ทางด้านพุทธคุณมีพร้อม ทั้งส่งเสริมอำนาจบารมี ความเจริญก้าวหน้า เมตตามหานิยม และแคล้วคลาดครับ

ในวันนี้ผมได้นำรูปองค์พระเจดีย์ และรูปพระร่วงเปิดโลกซุ้มประตู มาให้ชมกันครับ

ด้วยความจริงใจ

แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน