หลวงพ่อโหน่ง อินทสุวัณโณ วัดคลองมะดัน จ.สุพรรณบุรี

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

คอลัมน์อริยะโลกที่ 6 – วันพุธที่ 25 ธ.ค. 2562 น้อมรำลึกครบรอบ 85 ปี แห่งการละสังขาร “หลวงพ่อโหน่ง อินทสุวัณโณ” วัดคลองมะดัน (วัดอัมพวัน) อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี อดีตพระเกจิชื่อดังแห่งเมืองสุพรรณบุรี

เป็นชาวสุพรรณบุรีโดยกำเนิด เกิดใน สกุลโตงาม ที่หมู่บ้านท้ายบ้าน ต.ต้นตาล อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เมื่อปี พ.ศ.2408 เป็นบุตรของนายโตและนางจ้อย โตงาม ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา มีความประพฤติดี ชอบช่วยเหลือผู้อื่น มักน้อย และรักสันโดษมาโดยตลอด

อายุ 24 ปี ในปีพ.ศ.2433 เข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดสองพี่น้อง มี พระอธิการจันทร์ เจ้าอาวาสวัดทุ่งคอก เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์ดิษฐ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการสุต เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับฉายา “อินทสุวัณโณ” ซึ่งแปลว่า ผู้มีผิวกายดุจพระอินทร์

เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปหาพระน้าชาย ซึ่งมีสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณเปรียญ 9 ประโยค เพื่อศึกษาธรรมวินัย หลวงพ่อโหน่ง สังเกตเห็นเจ้าคุณมีความเป็นอยู่อุดมสมบูรณ์ จึงเอ่ยปากถามว่า “ท่านละกิเลสหมดแล้วหรือ”

ท่านเจ้าคุณบอกให้หลวงพ่อโหน่ง เข้าไปดูในกุฏิว่ามีอะไรบ้าง หลวงพ่อโหน่งไปเห็นโต๊ะหมู่บูชาทำด้วยมุก โต๊ะหมู่ทอง งาช้าง และสิ่งของมีค่าอีกมากมาย เมื่อออกมาจากกุฏิ จึงกราบลาท่านเจ้าคุณน้าชาย กลับมาจำพรรษายังวัดสองพี่น้องตามเดิม ตั้งใจมุ่งมั่นจะสืบสานพระพุทธศาสนาต่อไป

จากนั้นออกเดินทางไปยังวัดทุ่งคอก เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์พระอธิการจันทร์ พระอุปัชฌาย์ ผู้มีชื่อเสียงและกิตติศัพท์ด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานและวิทยาคมแขนงต่างๆ

ศึกษาอยู่ 2 พรรษา จึงลาพระอาจารย์เดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์ หลวงพ่อเนียม วัดน้อย อ.บางปลาม้า อีก 2 พรรษา แล้วจึงกลับมาจำพรรษาที่วัดสองพี่น้องตามเดิม ในช่วงศึกษาที่วัดน้อยนั้นท่านได้รู้จักกับหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้เดินทางมาฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อเนียมเช่นกัน โดยท่านนับเป็นศิษย์รุ่นพี่

หลวงพ่อเนียมยังได้เคยปรารภกับหลวงพ่อปานว่า “ถ้าข้าตายแล้วสงสัยธรรมข้อใดให้ไปถามท่านโหน่งเขานะ เขาพอแทนข้าได้”

เมื่อกลับมาจำพรรษาที่วัดสองพี่น้อง ยังมีความเกี่ยวพันกับพระเกจิชั้นผู้ใหญ่ 2 รูป ซึ่งเป็นคนบ้านสอง พี่น้องเช่นเดียวกัน เมื่อครั้งอุปสมบทที่วัดสองพี่น้อง คือ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ของสมเด็จพระสังฆราชป๋า (ปุ่น ปุณณสิริ) วัดโพธิ์ สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 17 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

อีกทั้ง มีหลักฐานปรากฏว่า เมื่อปี พ.ศ.2449 หลวงพ่อโหน่ง อายุ 41 ปี จำพรรษาอยู่ที่วัดสองพี่น้อง พระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) วัดปากนํ้าภาษีเจริญ เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดสองพี่น้อง และพระสงฆ์ที่มีส่วนร่วมในการอุปสมบทในครั้งนั้น คือ หลวงพ่อโหน่ง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และต่อมาหลวงพ่อสด ได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อโหน่งเช่นกัน

นอกจากหลวงพ่อสดแล้ว ศิษย์ของท่านยังมีหลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี, หลวงพ่อแดง วัดทุ่งคอก ฯลฯ

เป็นพระผู้มีปฏิปทาและจริยวัตรงดงาม เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั่วหน้า ชื่อเสียงและเกียรติคุณของท่านเริ่มขจรขจาย ทั้งด้านวิปัสสนา กัมมัฏฐานและวิทยาคมต่างๆ

หลวงพ่อแสงเจ้าอาวาสวัดคลองมะดัน หรือวัดอัมพวัน อ.สองพี่น้อง ผู้เก่งกล้าในวิทยาคม ทราบถึงกิตติศัพท์ จึงเดินทางมาพบและสนทนาธรรมอยู่เป็นเนืองนิจ จนมีความสนิทสนมกันมาก และชักชวนหลวงพ่อโหน่งให้มาอยู่ด้วยกันที่วัดคลองมะดัน ซึ่งหลวงพ่อโหน่งตอบตกลงด้วยความเต็มใจ เนื่องจากต้องการศึกษาความรู้เพิ่มเติมจากหลวงพ่อแสงเช่นกัน

หลวงพ่อแสง ชราภาพลงมาก ญาติโยมอาราธนาให้กลับไปอยู่ภูมิลำเนาเดิมที่มหาชัย จ.สมุทรสาคร ด้วยความไว้วางใจ จึงมอบหมายให้หลวงพ่อโหน่งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสแทน

บูรณปฏิสังขรณ์วัดและเสนาสนะต่างๆ สร้างกุฏิ ศาลาการเปรียญ พระวิหาร ฯลฯ จนวัดคลองมะดันเจริญรุ่งเรือง หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ศิษย์รุ่นน้อง ยังเดินทางมาสนทนาธรรมและแลกเปลี่ยนความรู้กับท่าน ที่วัดคลองมะดัน อย่างสม่ำเสมอ

ด้วยสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2477

สิริอายุ 69 ปี พรรษา 46

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน