พระกริ่งบดินทร์

คอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง

พระกริ่งบดินทร์ – สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วัดชัยชนะสงคราม กทม. หรือที่ชาวบ้านมักเรียกว่า วัดตึก วัดนี้อยู่ใกล้ๆ คลองถม เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ราวปี พ.ศ.2391 และที่วัดแห่งนี้ได้มีการสร้างพระกริ่งขึ้น เรียกว่า “พระกริ่งบดินทร์”

วัดชัยชนะสงคราม (วัดตึก) ที่ตั้งเดิมเป็นของ เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์) ต้นสกุล สิงหเสนี สมุหนายกและแม่ทัพใหญ่ในสมัยนั้น หลังจากเป็นแม่ทัพไปรบกับญวนและเขมรมีชัยกลับมาแล้ว ท่านเกิดศรัทธาแรงกล้าประสงค์ที่จะทำนุบำรุงพระศาสนาให้เจริญสถาพรสืบไป

จึงยกบ้านของท่านถวายสร้างเป็นวัด โดยสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ เพิ่มเติมจนสมบูรณ์ แล้วให้นามว่า “วัดชัยชนะสงคราม” เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการศึกครั้งนั้น วัดชัยชนะสงครามเป็นวัดราษฎร์อยู่จนถึงปี พ.ศ.2421 ก็ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ

ด้วยเหตุที่เรือนเดิมของท่านเป็นอาคารตึก ชาวบ้านทั่วไปจึงพากันเรียกจนติดปากว่า “วัดตึก” มาจนทุกวันนี้ หลังจากนั้นท่านก็ได้อุปถัมภ์บำรุงวัดนี้เรื่อยมาจนถึงอสัญกรรม และผู้สืบสกุลก็รับช่วงทำนุบำรุงต่อมาจนปัจจุบัน

ในปี พ.ศ.2503 พระครูชัยโศภณ เจ้าอาวาส เห็นว่าพระอุโบสถเดิมสร้างมา 111 ปีแล้ว วัสดุก่อสร้างเริ่มเสื่อมคุณภาพชำรุดทรุดโทรมลงเป็นลำดับ ยากแก่การจะบูรณปฏิสังขรณ์ ทั้งมีส่วนที่คับแคบไม่เหมาะแก่การประกอบสังฆกรรมและบำเพ็ญศาสนกิจ จึงได้ปรึกษา คุณหญิงเจือ นครเสนี (สิงหเสนี) และคุณหญิงมีความปีติและศรัทธาแรงกล้าที่จะทำนุบำรุงพระศาสนา และเชิดชูเกียรติประวัติแห่งท่านผู้เป็นต้นสกุล จึงได้ถวายปวารณาอุทิศเงินจำนวน 300,000 บาท สำหรับเป็นทุนประเดิมในการก่อสร้างและขยายอุโบสถใหม่

พระกริ่งบดินทร์

ในส่วนของพระประธานองค์เดิมมีขนาดเล็ก หม่อมสวัสดิวัตน์ ได้บริจาคเงิน 35,000 บาท ให้เป็นทุนร่วมกับคณะกรรมการ และพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ได้จัดการหล่อขึ้นใหม่ และประกอบพิธีหล่อขึ้นเมื่อ วันที่ 13-14 ธันวาคม พ.ศ.2502 คณะกรรมการได้ถวายพระนามว่า “พระพุทธชัยสิงห์มุนินทรธรรมบดินทร์โลกนารถเทวนรชาติอภิปูชนีย์” และได้อัญเชิญประดิษฐานไว้บนแท่น เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ปิดทองในคราวนั้นด้วย

ในคราวเททองหล่อพระประธาน ทางคณะกรรมการได้จัดสร้างวัตถุมงคลเป็นแบบพระกริ่งขึ้น เรียกว่า “พระกริ่งบดินทร์” เพื่อสมนาคุณแก่ผู้ที่บริจาคทรัพย์ทำบุญในการสร้างพระอุโบสถและหล่อพระประธาน จำนวนการสร้างประมาณ 2,000 องค์ แบ่งออกได้เป็นพิมพ์ฐานสูงและพิมพ์เตี้ย พิธีพุทธาภิเษกคราวเดียวกับการเททองพระประธาน

โดยนิมนต์พระเถระและ พระคณาจารย์ผู้ทรงวิทยาคมร่วมปลุกเสกหลายรูป เช่น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (อยู่) วัดสระเกศ พระธรรมวโรดม (ปุ่น) วัดพระ เชตุพนฯ พระเทพสิทธินายก (นาค) วัดระฆังฯ พระครูทักษินานุกิจ (เงิน) วัดดอนยายหอม พระครูวรเวทย์มุนี (เมี้ยน) วัดพระเชตุพนฯ พระครูวินัยธร (เฟื้อง) วัดสัมพันธวงศ์ พระอาจารย์ผ่อง วัดจักรวรรดิราชาวาส และพ่อท่านคล้าย วัดสวนขัน เป็นต้น

พระกริ่งบดินทร์ มีประสบการณ์มาก ชาวบ้านแถบวัดตึกทราบดี ครั้งหนึ่งเมื่อตอนที่พระกริ่งบดินทร์ออกใหม่ๆ ตำรวจจราจรตรงสี่แยกวัดตึก ถูกรถบรรทุก 6 ล้อเบรกแตกชน จนกระเด็นกลิ้งฟาดพื้นจนสลบ แต่ตำรวจท่านนั้นกลับไม่บาดเจ็บเลย เพียงเสื้อกางเกงขาด สอบถามได้ความว่าห้อยพระกริ่งบดินทร์เพียงองค์เดียว ปรากฏว่าชาวบ้านแถวนั้นเที่ยวหาพระกริ่งบดินทร์กันเป็นแถว

พระกริ่งบดินทร์ปัจจุบัน สนนราคาก็ยังไม่สูงครับ อาจจะเป็นเพราะไม่ค่อยมีผู้รู้ประวัตินักก็เป็นได้ครับ แต่ก็ใช่ว่าจะหาง่ายนะครับ ของปลอมเลียนแบบก็มีมานานแล้ว

ในวันนี้ผมได้นำรูปพระกริ่งบดินทร์ มาให้ชมกันด้วยครับ

ด้วยความจริงใจ
แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน