คอลัมน์ ข่าวสดพระเครื่อง : พิธีบวงสรวง‘พญาลิไทย’ รำลึก633ปีพระบรมธาตุเจดีย์

พระราชวชิรเมธี (วีระ วรปัญโญ) รองเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร และเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง จัดให้มีพิธีบวงสรวงเนื่องในวันรำลึกพญาลิไทย สถาปนาพระบรมธาตุเจดีย์ ครบ 633 ปี

โดยมีพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดกำแพงเพชร เข้าร่วมพิธีพอสมควร เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ลาน พญาลิไทย วัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง หมู่ที่ 3 บ้านปากคลองใต้ ต.นครชุม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร (เนื่องจากในปี พ.ศ.2563 เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 แต่จนบัดนี้จังหวัดกำแพงเพชร ไม่พบผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสดังกล่าว)

พระบรมราชานุสาวรีย์พญาลิไทยของ วัดพระบรมธาตุ จัดสร้างขึ้นในปี 2558 ซึ่ง.. “พญาลิไทย” กษัตริย์ของชนชาติไทยในอดีต ทรงมีคุณูปการเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาของเมืองกำแพงเพชร

พญาลิไทย หรือ พระยาลิไท หรือ พระศรีสุริยพงศ์รามมหาราชาธิราช หรือพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ครองราชย์ พ.ศ.1897-1919) พระมหากษัตริย์อาณาจักรสุโขทัยราชวงศ์พระร่วงลำดับที่ 5 พระโอรสพญาเลอไท และพระราชนัดดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

พญาลิไทย เป็นกษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งกรุงสุโขทัย ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระยางัวนำถม จากหลักฐานในศิลาจารึกวัดพระมหาธาตุ พ.ศ.1935 หลักที่ 8 ข. ค้นพบเมื่อ พ.ศ.2499 ได้กล่าวว่า เมื่อพระยาเลอไทสวรรคตใน พ.ศ.1884

พระยางัวนำถมได้ขึ้นครองราชย์ ต่อมาพระยาลิไทยกทัพมาแย่งชิงราชสมบัติได้ และขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ.1890 ทรงพระนามว่า พระเจ้าศรีสุริยพงสรามมหาธรรมราชาธิราช ในศิลาจารึกมักเรียกพระนามเดิมว่า พระยาลิไท หรือเรียกย่อว่า พระมหาธรรมราชาที่ 1

พญาลิไทย ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ทรงผนวชในพระพุทธศาสนาเมื่อ พ.ศ.1905 ที่วัดป่ามะม่วง นอกเมืองสุโขทัยทางทิศตะวันตก ทรงอาราธนาพระสามิสังฆราชจากลังกา เข้ามาเป็นสังฆราชในกรุงสุโขทัย เผยแพร่เพิ่มความเจริญให้แก่พระศาสนามากยิ่งขึ้น

ทรงสร้างและบูรณะวัดมากมายหลายแห่ง รวมทั้งการสร้างพระพุทธรูปเป็นจำนวนมาก เช่น พระพุทธชินสีห์ พระพุทธรูปองค์สำคัญองค์หนึ่งของประเทศ ปัจจุบัน ประดิษฐานอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร พระพุทธชินราช

พญาลิไทย ทรงปราดเปรื่องในความรู้ในพระพุทธศาสนา ทรงมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก พระองค์ได้ทรงแบ่งพระสงฆ์ออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายคามวาสี และฝ่ายอรัญวาสี โดยให้ฝ่ายคามวาสี เน้นหนักการ สั่งสอนราษฎรในเมืองและเน้นการศึกษา พระไตรปิฎก

ส่วนฝ่ายอรัญวาสีเน้นหนักด้านการวิปัสสนาและประจำอยู่ตามป่าหรือชนบท ด้วยทรงเป็นองค์อุปถัมภ์พระศาสนาตลอดพระชนม์ชีพ ราษฎรจึงถวายพระนามว่า “พระมหาธรรมราชา”

นอกจากศาสนาพุทธแล้ว พญาลิไทยยังทรงอุปถัมภ์ศาสนาพราหมณ์ด้วย โดยทรงสร้างเทวรูปขนาดใหญ่หลายองค์ ซึ่งยังเหลือปรากฏให้ศึกษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในกรุงเทพมหานครและที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดพิษณุโลก

ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญหลายประการ เช่น สร้างถนนพระร่วงตั้งแต่เมืองศรีสัชนาลัย ผ่านกรุงสุโขทัยไปถึงเมืองนครชุม (กำแพงเพชร) บูรณะเมืองนครชุม สร้างเมืองสองแคว (พิษณุโลก) เป็นเมืองลูกหลวง

ด้านอักษรศาสตร์ ทรงพระปรีชาสามารถนิพนธ์หนังสือไตรภูมิพระร่วง ที่นับเป็น งานนิพนธ์ที่เก่าแก่ที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งเรื่องราวของท่านยังมีเกี่ยวพันกับกำแพงเพชรบ้านเราอีกหลายวาระ ตามที่นักค้นคว้าประวัติศาสตร์ท่านได้บันทึกไว้

กล่าวสำหรับ วัดพระบรมธาตุ นครชุม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย โดยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) เสด็จมาสถาปนา และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จากประเทศ ศรีลังกา ไว้ในองค์พระเจดีย์ พร้อมทั้งทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ อันเป็นปฐมเหตุแห่งตำนานประเพณีนบพระ-เล่นเพลง หนึ่งเดียวของจังหวัดกำแพงเพชร

เชื่อกันว่าใครที่ได้นมัสการพระบรมธาตุ และพระศรีมหาโพธิ จะเป็นผู้มีบุญ ดังเช่นความในศิลาจารึกนครชุม หลักที่ 3 ว่า “…ฝิผู้ใดได้ไหว้นบกระทำบูชาพระศรีรัตนมหาธาตุ และพระศรีมหาโพธิ์นี้ว่าไซร้ มีผลอานิสงส์ พร่ำเสมอ ดังได้นบพระผู้เป็นเจ้า…”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน