คอลัมน์ มงคลข่าวสด

พระราชพัชรมานิต สืบสายธรรมหลวงปู่ชา เมื่อวันที่ 29 มี.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ พระอธิการอัครเดช ถิรจิตโต เป็น พระราชพัชรมานิต พิสิฐภาวนาธุราทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ สถิต ณ วัดบุญญาวาส จ.ชลบุรี มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 4 รูป

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค.2564 ประกาศ ณ วันที่ 29 มี.ค.2564 เป็นปีที่ 6 ในรัชกาลปัจจุบัน

เป็นพระเถระอีกรูปหนึ่งที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนเมืองชลบุรี

ปัจจุบัน สิริอายุ 66 ปี พรรษา 43 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบุญญาวาส ต.บ่อทอง อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี

เกิดเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2498 ที่บ้านเลขที่ 506 โรงงานท่าหลวง ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา บิดา-มารดา ชื่อ นายเทียบ และนางจำเนียรพันธ์ ถิรวัฒน์ เป็นบุตรคนที่ 3 ทั้งหมดรวม 5 คน

ในวัยเด็ก มารดาหลังคลอดบุตรคนที่ 5 ป่วยเป็นไข้มาลาเรีย รักษาตัวที่ ร.พ.ศิริราช และเสียชีวิต

อายุ 4 ขวบ บิดาพามาเรียนอนุบาลที่โรงเรียนแสงโกสิทธิ์นุสรณ์ ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา

ครั้นเรียนจบอนุบาล บิดาตัดสินใจพาไปอยู่ประจำที่โรงเรียนอำนวยวิทยา บางกระบือ เขตดุสิต กรุงเทพฯ

พ.ศ.2504 ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเซนต์จอห์น ลาดพร้าว จบพาณิชยการรุ่นแรกของโรงเรียน และสำเร็จการศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

หลังเรียนจบตั้งใจไว้ว่าอีก 5 ปีจะบวชเรียน กระทั่งวันหนึ่งมีโอกาสหยิบหนังสือธรรมะ เปิดอ่านพบประโยคปัจฉิมโอวาทขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความ เสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอทั้งหลาย พึงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”

หลังจากอ่านประโยคนี้ รู้สึกเห็นจริงตามคิดว่า การที่ตั้งใจไว้ว่าอีก 5 ปีจะบวชนั้น ทำไมต้องรอ ถ้าตายก่อนก็คงไม่ได้บวชแน่

เมื่อตัดสินใจบวช ท่านดำริจะบวชอยู่ที่ป่า อยู่ที่ชนบท ตามเขา ตามถ้ำ มีโอกาสคุยกับอุบาสิกาท่านหนึ่ง ถามว่า “จะบวชวัดไหน” ท่านตอบว่า “จะบวชวัดป่า จะไม่อยู่ในเมือง แต่เราไม่รู้จักพระ ไม่รู้จักครูบาอาจารย์ แต่เราตั้งความหวังไว้ว่าเราจะบวชตลอดชีวิต”

อุบาสิกาท่านนั้น แนะนำครูบาอาจารย์ให้ 2 รูป คือ หลวงปู่ชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพง กับหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จึงสอบอุบาสิกาท่านนั้น ว่า “วัดหลวงปู่ชากับหลวงตามหาบัวเป็นวัดป่า หรือเปล่า?”

อุบาสิกาตอบว่า “เป็นวัดป่า บวชแบบ เรียบง่าย”

แต่เหตุที่เลือกหลวงปู่ชา เพราะบิดาเป็นชาว อุบลฯ จึงตัดสินใจไปพบหลวงปู่ชา

เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2521 ที่อุโบสถวัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี มีพระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภัทโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา ถิรจิตโต มีความหมายว่า “ผู้มีจิตอันตั้งมั่น มั่นคงดีแล้ว”

พระราชพัชรมานิต บอกเล่าความรู้สึกภายหลังอุปสมบทว่า “เมื่อเข้ามาอยู่วัดหนองป่าพง รู้สึกเหมือนอยู่อีกโลกหนึ่ง มีแต่ความสบายที่ได้รับจากความสงบจากธรรมชาติ คราวนี้ เป็นโอกาสดีแล้ว รู้สึกว่าภาระความรับผิดชอบทางโลกหมดไป เมื่อเข้ามาวัด มีแต่คิดว่า เป็นโอกาสดีแล้วที่เราจะทำให้ถึงที่สุดแห่งความพ้นทุกข์ เราจะปฏิบัติจนกว่าเราจะพ้นทุกข์ ถ้าไม่พ้นทุกข์ในชาตินี้ เกิดมาชาติหน้า เราจะทำต่ออีก เราจะทำจนกว่าเราจะตายไป ถึงจะหยุดทำ”

พรรษาแรก หลวงปู่ชาส่งไปจำพรรษาที่วัดบึงเขาหลวงกับหลวงพ่อจันทร์ ออกพรรษากลับมาอยู่วัดหนองป่าพง

พรรษาที่ 2 ไปอยู่ที่วัดป่าเมืองสวรรค์ อ.น้ำยืน กับพระอาจารย์หนูแดง

พรรษาที่ 3 จำพรรษาที่สำนักปฏิบัติธรรม ต.พุ่มพุด อ.บ้านหมี่ จากนั้นเดินทางไปตั้งสำนักสงฆ์มาบจันทร์ (วัดมาบจันทร์ในปัจจุบัน) กับพระอาจารย์อนันท์ อกิญจโน

พ.ศ.2533 ออกไปวิเวกที่ป่าเขาใหญ่ 2 เดือนครึ่ง

วันที่ 20 พ.ค.2533 เดินทางเข้ามาอยู่ที่วัดบุญญาวาส พัฒนาสร้างความเจริญให้กับวัดแห่งนี้

ปี พ.ศ.2546-2547 มีชาวบ้านถวายที่ดินเพิ่มให้กับวัดกว่า 260 ไร่

เป็นพระที่เคร่งครัดในธรรมวินัย วัตรปฏิบัติดี เสมอต้นเสมอปลาย ทำให้ชื่อเสียงของท่านเป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชน

ถึงแม้ท่านจะเริ่มอายุมาก แต่ท่านก็ไม่เคยย่อท้อยังคงปฏิบัติศาสนกิจอย่างสม่ำเสมอ

จึงถือเป็นทายาททางธรรม ที่เดินตามรอยปฏิปทาของหลวงปู่ชา อย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน