พระราชมงคลวชิราคม สมณศักดิ์‘หลวงปู่แผ้ว’เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ พระแผ้ว ปวโร เป็นพระราชมงคลวชิราคม อุดมธรรมสุนทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นราช สถิต ณ วัดประชาราษฎร์บำรุง จังหวัดนครปฐม มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 4 รูป

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค. 2565 ประกาศ ณ วันที่ 6 พ.ค. 2565 เป็นปีที่ 7 ในรัชกาลปัจจุบัน

เมืองนครปฐมมีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังหลายรูป หนึ่งในจำนวนนั้นคือ “หลวงปู่แผ้ว ปวโร” พระเกจิชื่อดังแห่งวัดประชาราษฎร์บำรุง (วัดรางหมัน) อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ได้รับการขนานนามว่า เทพเจ้าแห่งเมืองกำแพงแสน พระเถระผู้เปี่ยมด้วยเมตตา มากด้วยบารมี เป็นที่เลื่อมใสศรัทธา

ปัจจุบัน หลวงปู่แผ้ว สิริอายุ 99 ปี พรรษา 79

มีนามเดิมว่า แผ้ว บุญวัฒน์ เกิดเมื่อวันพุธที่ 7 พ.ย. 2466 ที่หมู่บ้านหลักเมตร ต.ทุ่งขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม บิดา-มารดาชื่อ นายพานและนางจุ้ย บุญวัฒน์ ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา

อายุ 2 ขวบ ครอบครัวย้ายไปอยู่ ต.ทุ่งขวาง อ.กำแพงแสน จากนั้นจบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 3 จากโรงเรียนวัดหนองม่วง ต.เตาอิฐ อ.บางแพ จ.ราชบุรี

อายุ 8 ขวบ พ่อพาไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อหงส์ วัดหนองม่วง ต.เตาอิฐ อ.บางแพ จ.ราชบุรี เพื่อเรียนหนังสือ และศึกษาพระปริยัติธรรม

ครั้นอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบท ที่วัดหนองปลาไหล อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2486 มีพระครูสุกิจ ธรรมสรณ์ (หลวงพ่อหว่าง ธัมมสโร) วัดกำแพงแสน เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อปาน อารักโข วัดหนองปลาไหล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์สนั่น วัดหนองปลาไหล เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ตั้งใจศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างจริงจัง หมั่นพิจารณาคำสอนอย่างถ่องแท้ ได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะอุทิศกายถวายชีวิตอยู่ในบวรพระพุทธศาสนาตลอดไป

ช่วงแรกบวช จำพรรษาอยู่ที่วัดหนองปลาไหล เป็นเวลา 1 เดือน จากนั้นจาริกไปจำพรรษาที่วัด หนองม่วง 8 พรรษา รับหน้าที่สอนนักธรรมแก่พระภิกษุสงฆ์สามเณรภายในวัด

ต่อมาในปี พ.ศ.2494 เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม จำพรรษาอยู่ที่วัดปลักลายไม้ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ในปี พ.ศ.2497 ย้ายไปสอนพระปริยัติธรรม และจำพรรษาที่วัดสว่างชาติประชาบำรุง ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม

พ.ศ.2502 สนใจศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนา กัมมัฏฐานอย่างจริงจัง จึงย้ายไปอยู่จำพรรษาที่วัดกำแพงแสน ต.ห้วยหมอนทอง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ศึกษาปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานและวิทยาคมกับหลวงพ่อหว่างอย่างมุ่งมั่นจริงจัง จนแตกฉาน

เมื่อปี 2524 หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ พระกัมมัฏฐานสายพระอาจารย์มั่น เดินทางมาพักอยู่จำพรรษา ที่วัดกำแพงแสน ทำให้มีโอกาสสนทนาธรรมด้วย และได้รับถ่ายทอดแนวทางการปฏิบัติกัมมัฏฐานให้

สร้างคุณูปการสืบสานจรรโลงพระพุทธศาสนาอย่างรอบด้าน อาทิ ปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ ทั้งในเขตอำเภอกำแพงแสนและพื้นที่ใกล้เคียง จะอุดหนุนด้วยการสร้างวัตถุมงคลที่ระลึก เพื่อสมทบทุนปัจจัยนำไปใช้เพื่อการสาธารณประโยชน์

แม้วัยล่วงเลยถึงเกือบร้อยปี แต่ยังคงรับกิจนิมนต์นั่งปรกปลุกเสกวัตถุมงคลอยู่

ส่วนวิทยาคมที่ใช้นั่งบริกรรมระหว่างนั่งปรกปลุกเสกวัตถุมงคล ล้วนแต่สืบทอดมาจากหลวงพ่อหว่าง อดีตเจ้าอาวาสวัดกำแพงแสน ซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก อีกทอดหนึ่ง

ในช่วงที่หลวงพ่อหว่างดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกำแพงแสน มีความเชี่ยวชาญเรื่องยาสมุนไพรและแพทย์แผนโบราณ วัตถุมงคลก็เข้มขลังเป็นที่นิยม

ทั้งนี้ หลวงปู่แผ้วได้ศึกษาอยู่ด้วยจนกระทั่งมรณภาพ เมื่อได้รับกิจนิมนต์นั่งปรกจึงนำวิชาของหลวงพ่อหว่างใช้ร่วมกับวิชาวิปัสสนากัมมัฏฐานที่ได้เรียนวัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์ มาใช้บริกรรม

ย้ายมาจำพรรษาที่วัดประชาราษฎร์บำรุง (วัดรางหมัน) อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม สร้างโบสถ์ วิหาร ถาวรวัตถุ และพัฒนาวัดรางหมัน ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 2551 จนถึงปัจจุบัน

ล่าสุด พ.ศ. 2565 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ พระราชมงคลวชิราคม

ทุกวันนี้ พระราชมงคลวชิราคม (แผ้ว ปวโร) ยังคงดำเนินชีวิตดุจเดิมด้วยความมักน้อยสันโดษ ไม่ยินดียินร้ายในลาภสักการะ เคร่งครัดในศีลาจารวัตร

เป็นที่เคารพนับถือของศิษยานุศิษย์ ตลอดจนพุทธศาสนิกชนทั่วไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน