คณะสงฆ์ไทยและวงการสงฆ์รวมถึงประชาชนชาวจังหวัดสุรินทร์สูญเสียพระเถระนักการศึกษาไปอีกรูป
“พระพรหมวชิรโมลี” (ทองอยู่ ญาณวิสุทโธ) อดีตเจ้าอาวาสวัดศาลาลอย พระอารามหลวง อ.เมือง จ.สุรินทร์, เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 11 และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตสุรินทร์
ละสังขารแล้วอย่างสงบ เนื่องจากชราภาพ เมื่อเวลา 00.38 น. เช้าวันที่ 12 เม.ย. 2567 สิริอายุ 91 ปี พรรษา 70
หลังเข้ารับการรักษาอาการอาพาธด้วยโรคชรา ที่อาคาร 14 โรงพยาบาลสุรินทร์
พระพรหมวชิรโมลี (ทองอยู่ ญาณวิสุทโธ) พระเถระอีสานใต้ ซึ่งเป็นที่เลื่อมใสศรัทธา เคารพกราบไหว้ ชาวบ้านเรียกขานว่า หลวงพ่อพระมหาทองอยู่ พูดภาษาเขมรสำเนียงสะเร็นชัดเปรี๊ยะ
อีกทั้งได้รับการยกย่องเกียรติคุณให้เป็นยอดพระนักการศึกษา
มีบทบาทอย่างสำคัญในการพัฒนาการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีและการศึกษาระดับอุดมศึกษาของพระภิกษุสามเณรตลอดจนฆราวาสในการขยายวิทยาเขตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยลัยไปก่อตั้งที่จังหวัดสุรินทร์
มีนามเดิมว่า ทองอยู่ พิศลืม เกิดเมื่อวันอังคารที่ 25 ก.ค.2476 ที่บ้านตะตึงโถง ต.นอกเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์ บิดา-มารดา ชื่อ นายเคล็ม และ นางแคน พิศลืม
ช่วงวัยเยาว์ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนบ้านตะตึงไถง อ.เมือง จ.สุรินทร์
อายุ 16 ปี ย่างเข้าสู่วัยรุ่น เบนเข็มมุ่งสู่ร่มกาสาวพัสตร์ บรรพชาเมื่อวันที่ 17 พ.ค.2492 ที่วัดกลางสุรินทร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ โดยมี พระประภากรคณาจารย์ (เดื่อ ปภากโร) เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ เป็นพระอุปัชฌาย์
ครั้นอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2497 ที่พัทธสีมาวัดกลางสุรินทร์ โดยมีพระประภากรคณาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูวิภัชกัลยาณธรรม (จันทร์) เจ้าอาวาสวัดศาลาลอย จ.สุรินทร์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูสิทธิการโกศล (เทพ นันโท) วัดกลางสุรินทร์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
จากนั้น ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย พ.ศ.2497 สามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก จากสำนักศาสนศึกษาวัดศาลาลอย
พ.ศ.2511 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีพุทธศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพฯ พ.ศ.2513 สอบไล่ได้เปรียญธรรม 9 ประโยค สำนักศาสนศึกษาวัดบุญวาทย์วิหาร ต.ในเมือง อ. เมือง จ.ลำปาง
พ.ศ.2517 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท อักษรศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมัทราส ประเทศอินเดีย
พ.ศ.2552 สำเร็จปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา (พธ.ด.) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ
แม้จะโดดเด่นในด้านการศึกษา แต่งานด้านปกครอง หาได้ย่อหย่อน ด้วยเอาใจใส่กิจการคณะสงฆ์อย่างเต็มกำลัง
ลำดับงานปกครอง พ.ศ.2523 เป็นเจ้าอาวาสวัดศาลาลอย พ.ศ.2529 เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2535 เป็นเจ้าอาวาสวัดศาลาลอย เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ พ.ศ.2540 เป็นเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์
พ.ศ.2556 เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ พ.ศ.2558 เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 11
ส่วนงานเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้น เป็นรองประธานกลุ่มเผยแผ่พระพุทธศาสนา จ.สุรินทร์ และเป็นประธานจัดบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนเฉพาะส่วนของวัดศาลาลอย
ในแต่ละปีมีเยาวชนเข้าบรรพชาเป็นสามเณรไม่ต่ำกว่า 100 รูป และมีเยาวชนสตรีร่วมปฏิบัติธรรมไม่ต่ำกว่า 150 คน
นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมเผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำปี ในเทศกาลวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา มีการจัดปฏิบัติธรรม จัดวิธีเวียนเทียน มีคณะครูอาจารย์จากสถานศึกษาต่างๆ ร่วมกิจกรรมแต่ละปีนับพันคน
เป็นพระที่สูงสุดในด้านการศึกษา สามารถสอบได้ ป.ธ.9 อันสูงสุดทางคณะสงฆ์ไทย และปริญญาเอกอันสูงสุดในทางวิชาการนานาชาติ ทั้งยังเป็นพระมหาเถระผู้คงแก่เรียน
ขณะที่ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ แม้จะอายุมาก แต่ยังหมั่นเพียรศึกษาอยู่ตลอด นั่งรถไฟจากสุรินทร์ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุฯ กรุงเทพมหานคร ทุกสัปดาห์ ตลอดระยะเวลา 5 ปี จนสำเร็จปริญญาเอก
จนได้รับฉายาว่า “หลวงตาด๊อกเตอร์” เป็นที่ฮือฮา เพราะเป็นผู้ใฝ่ด้านปริยัติ
ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2524 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญที่ พระศรีธีรพงศ์ พ.ศ.2535 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชวิสุทธิเมธี พ.ศ.2542 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพปัญญาเมธี
พ.ศ.2548 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมโมลี
ล่าสุด วันที่ 6 มิ.ย.2564 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้น เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ ในราชทินนามที่ พระพรหมวชิรโมลี
นับเป็นประวัติศาสตร์ของพระภิกษุชาวสุรินทร์ที่ไม่ได้สังกัดในพระอารามส่วนกลางที่ได้รับสถาปนาเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองนี้
ด้วยอายุขัยที่ล่วงเลยเข้าสู่วัยชราภาพ สุขภาพไม่แข็งแรงดังเดิม กระทั่งเกิดอาพาธเป็นประจำ ต้องเข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดรับไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ. 2567
คณะแพทย์โรงพยาบาลสุรินทร์ตั้งคณะแพทย์ถวายการรักษาแต่อาการไม่กระเตื้อง
ท้ายที่สุด มรณภาพอย่างสงบ เบื้องต้นศิษยานุศิษย์ ตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่วัดศาลาลอย อ.เมือง จ.สุรินทร์