ย้อนไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2567 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศพระบรมราชโองการ ประกาศพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ พระครูไพบูลย์รัตนาภรณ์ วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ มีนามว่า “พระวชิรรัตนรังษี”
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.2567 ประกาศ ณ วันที่ 3 ก.ค.2567
พระวชิรรัตนรังษี (สมบูรณ์ รตนญาโณ) ถือเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังเมืองกรุงอีกรูป ซึ่งลูกศิษย์ลูกหาและนักสะสมวัตถุมงคลรู้จักชื่อเสียงกิตติศัพท์เป็นอย่างดี
ปัจจุบัน สิริอายุ 66 ปี พรรษา 46 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ และที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10
มีนามเดิมว่า สมบูรณ์ บุญมา เกิดเมื่อวันที่ 6 ส.ค.2501 ที่บ้านหนองหว้า ต.หนองไฮ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ ในครอบครัวชาวสวน บิดา-มารดา ชื่อ นายเลี้ยง บุญมา และนางฝ้าย วิสาเกษ เป็นบุตรชายคนเดียวของครอบครัว
พ.ศ.2512 จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ ร.ร.บ้านนาโนน
ต่อมามารดาเสียชีวิต จึงกราบลาบิดา เพื่อเข้าอุปสมบท ซึ่งเป็นกุศลเจตนาที่จะบรรพชาอุปสมบทมาตั้งแต่ยังเล็ก
เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2521 ที่พัทธสีมาวัดสระกำแพงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ มีพระอธิการเครื่อง สุภัทโท วัดสระกำแพงใหญ่ อดีตพระเกจิชื่อดัง เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงปู่สุข โกวิโท เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์สมชาย เป็นพระอนุสาวนาจารย์
อยู่อุปัฏฐากพระอุปัชฌาย์ ศึกษาวิชาทำน้ำมนต์และวิทยาคม จากนั้นย้ายมาอยู่จำพรรษาที่วัดพงพรต ศึกษาวิชากับหลวงปู่ใหญ่ลา ซึ่งในสมัยนั้นมีชื่อเสียงโด่งดังมาก ยังศึกษาภาษาขอม อักษรธรรมอีสาน อักษรไทยน้อย และอักษรลาว ภายในเวลา 1 พรรษาก็สามารถอ่านออกเขียนได้ และเล่าเรียนชั้นนวกภูมิ ตามลำดับ
พ.ศ.2523 สอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ
ในปี พ.ศ.2526 พระเทพรัตนโมลี (ชูศักดิ์ ธัมมทินโน) เจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนาราม ขณะนั้น เดินทางไปเยี่ยมบ้านเกิด ชักชวนให้ย้ายมาจำพรรษาด้วยที่กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี
เป็นผู้ทรงจำพระปาติโมกข์ได้แม่นยำ ซึ่งในสมัยนั้นผู้จะมาอยู่ในพระอารามแห่งนี้ หากพรรษา 1-4 ต้องสวดมนต์เจ็ดตำนาน สิบสองตำนานได้ แต่หาก 5 พรรษา จะเข้ามาอยู่ต้องท่อง หรือทรงจำพระปาติโมกข์ได้ จึงจะสามารถมาอยู่วัดได้
เข้ามาอยู่คณะ 4 ซึ่งเป็นคณะเดียวกับเจ้าอาวาส
พ.ศ.2530 สอบไล่ได้เปรียญธรรม 3 ประโยค พ.ศ.2543 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง
ลำดับงานปกครอง พ.ศ.2549 เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร
พ.ศ.2567 เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10
ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2528 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระใบฎีกา ฐานานุกรมในพระปริยัติมุนี
พ.ศ.2551 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นโท ในราชทินนามที่ พระครูไพบูลย์รัตนาภรณ์
พ.ศ.2559 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
ล่าสุด วันที่ 3 ก.ค.2567 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระวชิรรัตนรังษี
เล็งเห็นว่า คัมภีร์ใบลาน สมุดข่อยต่างๆ ของวัด ประมาณสมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งภายในวัดไม่มีผู้อ่านและแปลได้ ก็นำมาแปล รวบรวมเรียบเรียงและตีพิมพ์แจกในพิธีพระราชทานเพลิงพระเทพรัตนโมลีและเก็บรักษาอนุรักษ์เอาไว้
มีความประสงค์ที่จะเผยแผ่ธรรม ซึ่งผู้จะมาขอเรียนขอศึกษา ก็มิเคยหวงแต่ประการใด
ด้านวัตถุมงคลที่สร้างล้วนแล้วแต่เป็นที่เสาะแสวงหา หลายรุ่นที่อธิษฐานจิตปลุกเสกได้รับความนิยมจากนักสะสมอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเหรียญรูปเหมือนหลังหนุมาน รุ่นมหาสมบูรณ์ มหาปราบ, เครื่องรางหนุมาน-มหากัน เป็นต้น
ให้ความสำคัญทางด้านการศึกษาสงฆ์ บริจาคปัจจัยส่วนตัวให้การสนับสนุนการเรียนการสอนแก่พระภิกษุ-สามเณรมาโดยตลอด อีกทั้งเข้าร่วมกิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์ต่อสังคมมาโดยตลอด บริจาคปัจจัยช่วยเหลือสังคมพัฒนาท้องถิ่นมากมาย
ก่อสร้างเสนาสนะ ถาวรวัตถุจำนวนมาก อันเป็นรากฐานแห่งความมั่นคงของพระพุทธศาสนาไว้เป็นอเนกประการ
เป็นพระสุปฏิปันโนที่มีชื่อเสียงด้านวิทยาคมอีกรูปที่อยู่ในเมืองหลวง