…• “มรรคผลนิพพานมีอยู่…แต่สิ่งเหล่านั้นเกิดจากการปฏิบัติ” สารธรรมมงคล หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี
…• “หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” บูรพาจารย์สายพระป่า สำหรับ “เหรียญพระพุทธ ร.ร.แบบ ป.มาลากุล” เป็นรุ่นเดียวที่เมตตาอธิษฐานจิตให้ ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร จัดสร้างขึ้นโดยส่วนการศึกษาจังหวัดสกลนคร ประมาณต้นปี พ.ศ.2492 เพื่อมอบให้เป็นรางวัลแก่ผู้บริจาคทรัพย์บำรุงการศึกษา สำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านธาตุนาเวง อ.เมือง จ.สกลนคร
…• ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มห้าเหลี่ยม คล้ายระฆัง มีหูห่วง ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปปางขัดสมาธิ ด้านหลังเขียนคำว่า “ที่ระลึกงานฉลอง ร.ร.แบบ ป.มาลากุล สกลนคร พ.ศ.2492” ซึ่งหลังจากนำเหรียญให้หลวงปู่มั่นแล้ว หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ยังได้ปลุกเสกเพิ่มเติมให้อีก นับเป็นเหรียญพิเศษที่หายากยิ่ง ผู้มีไว้ครอบครองต่างหวงแหนยิ่ง
…• “หลวงพ่อโอด ปัญญาธโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดจันเสน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังสี่แคว ในโอกาสที่วัดโบสถ์เทพนิมิต (โคกกระดี่) อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิตอุโบสถหลังใหม่ วันที่ 3-12 เม.ย.2530 จัดสร้างเหรียญที่ระลึกในงานนี้ เรียกชื่อว่า “เหรียญหลวงพ่อเงิน วัดโบสถ์เทพนิมิต”
…• ลักษณะคล้ายจอบ มีหูห่วง เนื้อทองเหลืองกะไหล่ทอง ด้านหน้า มีขอบรอบ ตรงกลางเป็นรูปนูนหลวงพ่อเงิน นั่งขัดสมาธิเต็มองค์อยู่บนอาสนะ ด้านหลัง มีขอบรอบ ตรงกลางเป็นยันต์นะเมตตา มีอักขระขอม จะ ภะ กะ สะ (หัวใจเศรษฐี) กำกับด้านบนใต้ขอบเหรียญ เขียนว่า “ที่ระลึกผูกพัทธสีมา วัดโบสถ์เทพนิมิต” ส่วนอักษรไทยใต้ยันต์ เขียนคำว่า “หลวงพ่อเงิน บางคลาน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ๑๒ เมษายน ๒๕๓๐” ตอกโค้ด “บ” ที่ขอบเหรียญ
…• “หลวงพ่อเพ็ชร์ สิริวัฑฒโน” อดีตเจ้าอาวาสวัดนนทรีย์ ต.พุดเลา อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา พระเกจิเมืองกรุงเก่าผู้ทรงวิทยาคม วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังล้วนมีประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ ที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ “เหรียญรูปเหมือน ปี 2489” เป็นเหรียญรุ่นแรกและเป็นรุ่นเดียวที่สร้างไว้ ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในเบญจภาคีเหรียญกรุงเก่า
…• ลักษณะเป็นรูปทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หูเชื่อม ด้านหน้ายกขอบโดยรอบ ตรงกลางเป็นรูปเหมือนห่มจีวรลดไหล่ครึ่งองค์ ด้านล่างมีอักษรไทยกำกับว่า “พระครูธรรมการ เพ็ชน์ วัดนนทรีย์” (สันนิษฐานว่า คำว่า ‘เพ็ชร์’ ช่างแกะแม่พิมพ์ผิดจาก ‘ร’ เป็น ‘น’) ด้านหลังเรียบ ตรงกลางเป็นอักขระขอม อ่านว่า “สัตถาระนุง อากัตทิตุง วิสัตเชตุง นาทาสิ สัตถาธะนุง นาทาสิ” คาถาบทนี้มีในตำนานพุทธชาดก เป็น ‘พระคาถามหาอุด’ ล่างสุดเป็นอักษรไทยว่า “ที่ระลึกครบอายุ ๘๐ ปี พ.ศ.๒๔๙๘” บรรดาเซียนพระและนักสะสมวัตถุมงคลให้ความสนใจยิ่ง
อริยะ เผดียงธรรม
[email protected]