พระเกจิชื่อดังแห่งภาคอีสานนั้นมีมากมายหลายรูป แต่สำหรับ “หลวงปู่ดีโลด” หรือ “พระครูดีโลด” ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาอย่างสูง โดยเฉพาะชาวอุบลราชธานีและนครพนม
“หลวงปู่ดีโลด” เป็นสมญานาม “พระครูวิโรจน์รัตโนบล” หรือ “หลวงปู่รอด นันตโร” วัดทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี
เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2397 ที่บ้านดู่ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
มีนิสัยสุภาพเรียบร้อย บรรพชาตั้งแต่ยังเด็ก ศึกษาวิชาความรู้เบื้องต้นที่สำนักราชบรรเทา ทั้งอักษรลาว ไทย ขอม และวิชาการช่าง
เมื่ออายุครบบวชจึงอุปสมบท ณ วัดป่าน้อย (ปัจจุบันคือวัดมณีวนาราม) จ.อุบลราชธานี มีท่านอธิการจันลา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ดำ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ดี เป็นพระอนุสาวนาจารย์
จากนั้นย้ายมาจำพรรษาที่วัดทุ่งศรีเมือง ปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ถือสันโดษ ไม่สะสมทรัพย์สมบัติใดๆ มีเมตตาช่วยเหลือชนทุกชั้นวรรณะ จนเป็นที่เคารพรักศรัทธา
เมื่อตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมืองว่างลง จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา
มีความชำนาญเป็นเลิศทางด้านวิปัสสนาธุระและวิทยาคม รวมทั้งเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้าง เป็นพระเกจิที่เคร่งในวัตรปฏิบัติและดำรงตนตามครรลองแห่งพระธรรมวินัย รักสันโดษ มีความเมตตากรุณา ให้การอบรมและสอนสั่งธรรมะแก่ทุกผู้ทุกนาม ทำให้คนชั่วกลับตัวมาเป็นคนดีเป็นจำนวนมาก ทั้งยังพัฒนาวัดทุ่งศรีเมืองจนเจริญรุ่งเรือง
จนได้รับการขนานนามว่า “หลวงปู่ดีโลด” ซึ่งหมายความว่า ทุกอย่างของหลวงปู่ดีหมด หรืออีกนัยหนึ่ง อาจสืบเนื่องจากการที่เวลาหลวงปู่จะพูดอะไรหรือฟังใครพูด ท่านก็มักรับคำว่า “ดีๆ” แม้อุทานท่านก็เปล่งคำว่า “ดีๆ” เขาจึงเรียกขานนามว่า หลวงปู่ดีโลด ตามคำพื้นเมืองของอีสาน ซึ่งก็หมายความว่า “ดีเลย” นั่นเอง
ได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์เรื่อยมาตามลำดับ ดังนี้ เป็นเจ้าคณะแขวง อำเภอม่วงสามสิบ, เป็นที่พระครูอุดรพิทักษ์คณะเดช, เป็นพระอุปัชฌาย์ และสมณศักดิ์สุดท้าย เป็นที่พระครูวิโรจน์รัตโนบล เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี
ผลงานที่สร้างชื่อเสียง เป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนทั่วทั้งประเทศคือ การได้รับความเชื่อถือแต่งตั้งให้เป็นประธานในการบูรณะซ่อมแซม “พระธาตุพนม จ.นครพนม” ซึ่งขณะนั้นชำรุดทรุดโทรมมาก
…ในปี พ.ศ.2483 (ก่อนท่านมรณภาพเพียง 1 ปี) ทางราชการต้องการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุพนม โดยมอบหมายให้หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้ดูแล ซึ่งท่านได้ทราบเรื่องราวและผลงานของหลวงปู่รอดและมีความศรัทธาอย่างมาก จึงได้ขออนุญาตในการจัดสร้างเหรียญที่ระลึกขึ้น 2 แบบคือ “เหรียญรูปเหมือน” และ “เหรียญพระธาตุพนมช่วยชาติ” ซึ่งหลวงปู่รอดทำพิธีปลุกเสกด้วยตนเองทั้งสิ้น …
เหรียญพระธาตุพนมช่วยชาติ มอบให้ทางพระธาตุพนม เพื่อแจกเป็นที่ระลึกแก่ผู้บริจาคทรัพย์ร่วมซ่อมแซมองค์พระธาตุพนม และกว่าการบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมจะเสร็จสิ้นลงได้ ต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการ แต่ด้วยความวิริยอุตสาหะและบุญบารมีของหลวงปู่รอด การบูรณะองค์พระปฐมเจดีย์ก็สำเร็จลงในที่สุด นับเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่มาก
มรณภาพเมื่อปลายปี พ.ศ.2484 สิริอายุ 88 ปี พรรษา 68
ชาวบ้านและลูกศิษย์ลูกหาได้ร่วมกันสร้างเจดีย์เพื่อบรรจุอัฐิธาตุไว้ที่วัดทุ่งศรีเมือง และสร้างรูปเหมือนไว้ที่ฐานขององค์พระธาตุพนม พร้อมจารึกเกียรติประวัติ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งคุณงามความดีของท่าน
กล่าวสำหรับเหรียญรุ่นแรก สร้างในปี พ.ศ.2483 เป็นเหรียญปั๊มโบราณ เนื้อทองแดง เนื้อสำริด และเนื้อกะไหล่เงิน-กะไหล่ทอง เป็นเหรียญรูปไข่ หูเชื่อม ด้านหน้าเหรียญรูปเหมือนนั่งขัดสมาธิบนอาสนะ มีอักขระขอมด้านซ้าย-ขวา อ่านว่า “อะ เม อุ” และ “นะ มะ พะ ทะ”
ด้านหลังเหรียญเป็นยันต์และอักขระโบราณขอมอ่านจากบนลงล่างเป็น 4 แถวว่า “อะระหัง อะระหัง หังระอะ ยะระหา” จุดสังเกตทุกตัวลึกคมชัด
เป็นเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรกที่ปลุกเสกด้วยตัวท่านเอง ปัจจุบันหายากมาก เคยได้รับการยกย่องให้เป็นเหรียญอันดับ 1 ของภาคอีสาน
หลวงปู่รอด หรือ “ญาท่านดีโลด” เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวอีสาน ได้รับเลือกเป็นประธานซ่อมองค์พระธาตุพนมยุคโบราณจนสำเร็จเมื่อปี พ.ศ.2449
ดังนั้น ใครที่มีเหรียญรุ่นแรกไว้ในครอบครอง จึงเป็นสิริมงคลยิ่งนัก