หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม พระเกจิอาจารย์สายวิปัสสนากัมมัฏฐานชื่อดัง วัดป่าอรัญญวิเวก ต.บ้านข่า อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม หนึ่งในศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่ได้ติดตามพระอาจารย์บำเพ็ญกัมมัฏฐาน เผยแผ่ธรรมคำสอน ตลอดจนร่วมเดินธุดงค์ไปตามป่าเขาทั่วทุกหนทุกแห่งทั่วทั้งในภาคเหนือและภาคอีสาน

เกิดในสกุล ปลิปัตต์ เมื่อวันจันทร์ที่ 3 ก.พ.2431 เป็นชาวบ้านข่า ต.บ้านข่า อ.ศรีสงคราม บิดา-มารดา ชื่อ นายปา และนางปัตต์ ปลิปัตต์

รายงานพิเศษ

อายุ 21 ปี เข้าพิธีอุปสมบทครั้งแรกในฝ่ายมหานิกาย มีพระอุปัชฌาย์คาน อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เป็นพระอุปัชฌาย์

ด้วยนิสัยใฝ่ศึกษาเล่าเรียนและชอบค้นคว้า หลังจากออกพรรษาได้เดือนเศษ ท่านเดินเท้าระยะทาง 51 กิโลเมตร ไปศึกษาเล่าเรียนวิชาธรรมในพระพุทธศาสนา วิชาบาลีสนธิ์นามและมูลกัจจายน์ ที่วัดโพธิ์ชัย อ.ท่าอุเทน ที่มีชื่อเสียงมากขณะนั้น ใช้เวลา 4 ปีเต็ม ก่อนจบหลักสูตร

หลังกลับมาอยู่วัดได้เพียง 3 วัน ได้ชักชวนพระภิกษุรูปหนึ่ง ออกธุดงค์มุ่งหน้าไป จ.อุดรธานี แต่พระรูปดังกล่าวเปลี่ยนใจกลับวัด

รายงานพิเศษ

เดินธุดงค์เส้นทางสายบรรลุธรรม แวะพักทำกัมมัฏฐานที่พระบาทบัวบก อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ผ่าน จ.หนองคาย ไปฝั่งลาวนครเวียงจันทน์ ก่อนมุ่งหน้าไปบำเพ็ญเพียรภาวนาที่เชิงภูเขาควาย ที่เต็มไปด้วยป่าทึบและภยันตรายเป็นเวลา 4 เดือนเต็ม

จากนั้นเดินทางต่อไปยังหลวงพระบาง ผ่านเมืองแมด เมืองกาสี และเข้าสู่เขตเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า ได้เรียนคาถาอาคมในการเดินทาง เพื่อความปลอดภัยกับพระพม่า ค่ำที่ไหนนอนที่นั่น แต่ละวันเดินทางเฉลี่ย 7-10 กิโลเมตร

รายงานพิเศษ

ก่อนมุ่งหน้ากลับเข้าประเทศไทย มุ่งหน้าสู่ จ.เชียงใหม่ เนื่องจากทราบว่า ขณะนั้น พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ มาพำนักสอนและอบรมกัมมัฏฐาน

หลังไปกราบพระอาจารย์มั่น ที่วัดเจดีย์หลวง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ท่านจึงญัตติเป็นฝ่ายธรรมยุต มีพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูศรีพิศาลสารคุณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูนพีสีพิศาลคุณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ต่อมา ได้สร้างวัดป่ากัมมัฏฐานขึ้นหลายแห่ง คือ วัดป่าดาราภิรมย์ อ.แม่ริม, วัดป่าสามัคคีธรรม อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งวัดป่าที่ อ.แม่แตงแห่งนี้ เป็นวัดที่พระอาจารย์ตื้ออยู่จำพรรษานานที่สุด

ขณะธุดงค์กับพระอาจารย์มั่นไปตามสถานที่ต่างๆ จนพระอาจารย์มั่นกลับอีสานแล้ว แต่หลวงปู่ตื้อกลับเดินธุดงค์ต่อเป็นเวลานานกว่า 50 ปี

จนกระทั่งในปี พ.ศ.2514 หลังจากออกพรรษา ชาวนครพนม กราบอาราธนานิมนต์ให้กลับไปจำพรรษาที่วัดป่าอรัญญิเวก ต.บ้านข่า อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม

เมื่อกลับสู่มาตุภูมิ นำช่างมาก่อสร้างเจดีย์สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2516 และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมจัดงานฉลองสมโภช บวชชีพราหมณ์ 230 คน ตลอดจนแสดงธรรมโปรดญาติโยมไม่ว่างเว้น และอบรมพระภิกษุ-สามเณรให้รู้จักปฏิบัติกัมมัฏฐานอย่างแท้จริง

มรณภาพลงอย่างสงบ วันที่ 19 ก.ค. 2517 สิริอายุ 86 ปี พรรษา 65

ด้านวัตถุมงคล ในช่วงบั้นปลายชีวิต ญาติโยมได้นิมนต์กลับสู่มาตุภูมิที่วัดป่าอรัญญวิเวก ต.บ้านข่า อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม

ครั้นกลับมาอยู่จำพรรษาที่วัดบ้านเกิดได้ 4 ปี ก่อนละสังขารเพียง 49 วัน ปรารภกับพระครูอดุลธรรมภาณ วัดศรีวิชัย ต.สามผง ว่า ต้องการสร้างโบสถ์ไว้เพื่อบวชลูกหลาน

ต่อมา พระครูอดุลธรรมภาณ ขออนุญาตจัดสร้างวัตถุมงคล รุ่นไตรมาส หลวงปู่ตื้อ จำนวน 1 ชุด ประกอบด้วย พระกริ่งรูปเหมือนหลวงปู่ตื้อ พระผงรูปเหมือน และเหรียญรุ่นไตรมาส

เพื่อนำปัจจัยสมทบทุนสร้างอุโบสถ และวัดศรีวิชัยที่กำลังก่อสร้าง

รายงานพิเศษ

วัตถุมงคลชุดดังกล่าวจัดสร้างแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2517 ก่อนนำไปให้หลวงปู่ตื้อปลุกเสกเดี่ยว ซึ่งถือเป็นวัตถุมงคลชุดสุดท้าย ก่อนที่ท่านจะละสังขาร ในวันที่ 19 ก.ค.2517

สำหรับเหรียญรุ่นไตรมาส รูปทรงคล้ายหยดน้ำ แต่เซียนพระรุ่นใหม่ เรียกขานว่า “เหรียญมะละกอ” เนื่องจากรูปทรงเหรียญคล้ายผลมะละกอ เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง

ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนหลวงปู่ตื้อครึ่งองค์หันข้างห้อยลูกประคำ ขอบบนเขียนคำว่า “พระอาจารย์ตื้อ อจลธมฺโม” ขอบบนล่างเป็นลวดลายกนก

ด้านหลังมียันต์อักขระ ตรงกลางเป็นรูปชุดอัฐบริขาร ประกอบด้วย กาน้ำ กลด บาตร ฯลฯ ด้านล่างระบุรุ่นสร้าง “ไตรมาส ๒๕๑๗ วัดศรีวิชัยสร้าง ตอกโค้ดเป็นตัว “ร-ร” (ตัวอะ) ทุกเหรียญ

บรรดานักนิยมสะสมวัตถุมงคลพระเครื่อง บ้างก็เรียกเหรียญรุ่นนี้ ว่า “เหรียญหลังบาตร” บ้างก็เรียกขานรุ่นนี้ว่า “เหรียญมะละกอ”

เป็นเหรียญวัตถุมงคล ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน