“หลวงพ่อรุ่ง ติสสโร” หรือพระไพโรจน์วุฒาจารย์ วัดท่ากระบือ ต.บางยาง อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร พระเกจิชื่อดังที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก
ถือกำเนิดในสกุลพ่วงประพันธ์ เมื่อวันเสาร์ แรม 8 ค่ำ เดือน 9 ปีระกา พ.ศ.2416 ที่ ต.หนองนกไข่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร
ในวัยเยาว์เข้าศึกษาความรู้เบื้องต้น ร่ำเรียนหนังสือไทย ขอม ตลอดจนภาษาบาลีและมูลกัจจายน์กับพระอุปัชฌาย์ทับ เจ้าอาวาสวัดน้อยนพคุณ กรุงเทพฯ
ต่อมา เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันเสาร์ที่ 5 พ.ค.2437 ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเมีย มีพระอุปัชฌาย์ทับ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการบัว วัดใหม่ทองเสน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์เคลือบ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายา ติสสโร
หลังอุปสมบทได้ 2 วัน ย้ายไปอยู่ที่วัดท่ากระบือ ซึ่งในขณะนั้นมีฐานะเป็นสำนักสงฆ์ มีพระภิกษุร่วม เป็นเจ้าสำนัก
หลังจากนั้นศึกษาทางวิทยาคมกับพระอาจารย์อีกหลายสำนัก และเดินธุดงค์ไปภาคเหนือบางครั้งเลยเข้าไปในเขตพม่า
ใฝ่ใจศึกษาวิทยาการต่างๆ ทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระ จากพระเกจิอาจารย์หลายรูป เช่น พระอาจารย์เกิด วัดกำแพง จ.สมุทรสาคร, พระอาจารย์หลำ วัดอ่างทอง จ.สมุทรสาคร เป็นต้น
กล่าวกันว่ายังเป็นสหธรรมิกกับหลวงพ่อเชย วัดท่าควาย จ.สิงห์บุรี มีการแลกเปลี่ยนวิชาความรู้ซึ่งกันและกันอีกด้วย
ต่อมาเมื่อพระภิกษุร่วมสึกออกไป หลวงพ่อรุ่งจึงได้รับตำแหน่งเจ้าสำนักสืบแทน
หลังจากนั้นต่อมา สภาพสำนักสงฆ์ได้รับการยกฐานะกลายเป็นวัดท่ากระบือขึ้นมา ท่านทุ่มเทสติปัญญา กำลังกาย กำลังใจ สร้างวัดท่ากระบือให้เจริญรุ่งเรืองเป็นวัดใหญ่โตวัดหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร
กล่าวถึงประวัติวัดท่ากระบือ แต่เดิมเป็นเพียงแค่สำนักสงฆ์ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2430 ติดกับแม่น้ำท่าจีน ต่อมาจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นวัด เดิมชื่อว่า “วัดท่าควาย” เนื่องจากเคยเป็นท่าน้ำสำหรับวัวควายลงกินน้ำและเปลี่ยนชื่อมาเป็นวัดท่ากระบือ จวบจนปัจจุบัน
ตามปกติเป็นผู้สนใจในการแสวงหาความรู้อยู่เสมอ เจริญสมถวิปัสสนาในสำนักวัดสุนทรประสิทธิ์ จนมีความรู้แตกฉานในการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญให้ท่านมีอำนาจจิตเป็นอย่างสูง สามารถสร้างเครื่องรางของขลังเป็นที่เลื่องลือ
ด้านศีลาจารวัตร เคร่งครัดพระธรรมวินัย เปี่ยมไปด้วยเมตตา มีความมักน้อย และถ่อมตน ถือเอกาฉันจังหันวันละมื้อตลอดชีวิต
พัฒนาด้านการศึกษาสำหรับพระภิกษุ-สามเณรและเด็กนักเรียนในชุมชนละแวกวัด โดยสร้างหอเรียนพระปริยัติธรรม รวมถึงโรงเรียนประชาบาลขึ้น
ด้านการเผยแผ่ธรรม แสดงพระธรรมเทศนาอบรมสั่งสอนพุทธบริษัทให้ปฏิบัติดี จัดส่งพระภิกษุไปแสดงธรรมผู้ถือศีลปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ ส่งเสริมการศึกษาปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิภาวนา
ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2474 เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2482 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูชั้นประทวน พ.ศ.2483 ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอกระทุ่มแบน
พ.ศ.2489 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามที่ พระครูไพโรจน์มันตาคม พ.ศ.2494 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
พ.ศ.2499 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระไพโรจนวุฒาจารย์
มรณภาพเมื่อวันศุกร์ที่ 27 ก.ย.2500 สิริอายุ 85 ปี พรรษา 64
วัตถุมงคลล้วนเป็นที่นิยม ไม่ว่าจะเป็นตะกรุด เสือยันต์ ผ้ายันต์ ธงยันต์ หนังหน้าผากเสือ แหวนพิรอด ลูกสะกด ฯลฯ
โดยเฉพาะ “เหรียญรุ่นแรกปี พ.ศ.2484” เนื้อนาก และเหรียญทองคำ
ทั้งสองเนื้อถือว่าสุดยอดหายาก เซียนพระนิยมเรียกขานกันว่า “เหรียญหลวงพ่อรุ่ง พิมพ์หน้าแก่”
มีผู้รู้ในวงการพระเครื่องหลายท่านวิเคราะห์ ต่างฟันธงว่าปัจจุบันน่าจะเหลือไม่เกิน 8 เหรียญ ส่วนเหรียญทองคำเหลือเพียง 1 เหรียญเท่านั้น
ทำให้มีผู้นิยมเสาะหามาครอบครอง โดยค่าเช่าหาสูงลิบ ถึงหลักแสนจนถึงเฉียดล้าน
เหรียญรุ่นแรกลักษณะคล้ายหยดน้ำ มีหูเชื่อม ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนครึ่งองค์ หันหน้าตรง จารึกข้อความ “พระ ครู รุ่ง” จากมุมซ้าย-บน และขวา ตามลำดับ ด้านใต้รูปเหมือนเขียนคำว่า “วัดท่ากระบือ”
ด้านหลังเป็นยันต์และอักขระคาถาอาคม เขียนตัวเลขไทยว่า “๒๔๘๔”
วัตถุมงคลเล่าขานกันปากต่อปากถึงประสบการณ์อันยอดเยี่ยม ครบถ้วนทั้งทางด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัย
ปัจจุบันสนนราคาเช่าหาบูชาขยับขึ้นสูงมาก