คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จากระดับ 0.75-1.00% สู่ระดับ 1.00-1.25% ในการประชุมรอบ 4 ของปี 2560 ในวันที่ 13-14 มิ.ย. 2560 หลังพัฒนาการเศรษฐกิจสหรัฐ โดยเฉพาะตลาดแรงงานในภาพรวมยังคงแข็งแกร่ง

อย่างไรก็ดี จังหวะในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ ในรอบการประชุมที่เหลือของปีนี้ อาจจะมีความไม่แน่นอนมากขึ้น โดยขึ้นกับตัวแปรที่เฟดจะมีการส่งสัญญาณต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย มีดังนี้

มุมมองต่ออัตราเงินเฟ้อของเฟด หากพิจารณาถึงพัฒนาการของเงินเฟ้อสหรัฐในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาที่มีทิศทางปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเงินเฟ้อพื้นฐานสหรัฐ ชะลอลงจากระดับ 1.7% ในช่วง ต้นปี มาอยู่ที่ 1.5% ในเดือนพ.ค. ขณะที่ คาดการณ์เงินเฟ้อในช่วง 5 ปีข้างหน้า ปรับลดลงจากระดับ 2.0% เหลือ 1.8% ส่วนหนึ่งมาจากราคาน้ำมันที่เริ่มมีทิศทางปรับลดลง

ทั้งนี้ หากพัฒนาการของเงินเฟ้อยังคงทรงตัวในระดับปัจจุบัน อาจจะส่งผลให้เฟดสามารถปรับเปลี่ยนจังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงต่อไป โดยอาจจะเว้นระยะในการปรับขึ้นดอกเบี้ยในจังหวะที่ยาวนานขึ้นได้

มุมมองพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐ จากความเสี่ยงปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง การเจรจา Brexit ของสหราชอาณาจักรที่คงเผชิญกับความไม่แน่นอนมากขึ้น รวมทั้ง ปัจจัยการเมืองในประเทศสหรัฐที่อาจจะกระทบต่อการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายใต้นโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ อาจจะเป็นประเด็นที่ส่งผลให้เฟด มีมุมมองต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ลดลง

มุมมองอัตราดอกเบี้ย Dot-Plot รอบเดือนมิ.ย.นี้ ที่อาจจะยังไม่ได้ให้ภาพที่แตกต่างจากเดิมที่เฟดส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้

มองว่า ยังมีโอกาสที่เฟดจะคงคาดการณ์การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 3 ครั้งในปีนี้อยู่ แม้ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงทั้งในและนอกประเทศมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เฟดส่งสัญญาณ ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไปในเชิงระมัดระวังมากขึ้น อาจจะ ส่งผลต่อกระแสเงินทุนไหลเข้าภูมิภาค เกิดใหม่รวมถึงไทยอย่างต่อเนื่อง และอาจจะเป็นปัจจัยกดดันให้ค่าเงินประเทศเหล่านั้นปรับแข็งค่าขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน