คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ : ธุรกิจฟื้นอย่างไร?

ธุรกิจฟื้นอย่างไร? – การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน คนไม่ออกไปจับจ่ายใช้สอย ทำให้กลไกระบบเศรษฐกิจติดขัดหยุดชะงัก ส่งผลต่อรายได้ภาคธุรกิจและทำให้การจ้างงานกว่า 16 ล้านคนในภาคธุรกิจลดลง กระทบต่อกำลังซื้อของแรงงานเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ดีสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในเมืองไทยดีขึ้นตามลำดับ ทำให้ภาครัฐทยอยผ่อนคลายล็อกดาวน์ให้ภาคธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการได้อีกครั้ง

แนวโน้มการฟื้นตัวของแต่ละธุรกิจหลังปลดล็อกดาวน์ สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มการฟื้นตัว ดังนี้

1. กลุ่มธุรกิจฟื้นแบบ V-Shape (ภายใน 3 เดือน) ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค บรรจุภัณฑ์ โรงพยาบาล/คลินิกและยารักษาโรค ฟาร์มไก่ ฟาร์มหมู อาหารสัตว์ ไอทีและสื่อสาร กลุ่มนี้จะเริ่มฟื้นตัวกลับมา จากลักษณะสินค้าที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันและส่วนใหญ่พึ่งพิงตลาดในประเทศ ซึ่งทำให้ธุรกิจเหล่านี้ยังคงการจ้างงานที่มีอยู่จำนวน 4.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 29.6% ของการจ้างงานรวมของภาคธุรกิจที่จดทะเบียนธุรกิจ

2. กลุ่มธุรกิจฟื้นแบบ U-Shape (ในช่วง 3-6 เดือน) ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม เคมีภัณฑ์ พลังงานเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางบกและทางเรือ บริการธุรกิจ รับเหมาก่อสร้าง กลุ่มนี้จะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปจากการคลายล็อกดาวน์ของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ต้องอาจใช้เวลาพอสมควรกว่าการคลายล็อกดาวน์ และช่วยให้ธุรกิจเหล่านี้ทยอยจ้างงานเพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนข้าง จากการจ้างงานปกติอยู่ที่ 6.4 ล้านคนหรือมีสัดส่วน 39.5%

3. กลุ่มธุรกิจฟื้นแบบ L-Shape (มากกว่า 6 เดือน) ได้แก่ โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจการบิน ธุรกิจบันเทิงและการกีฬา ยานยนต์และชิ้นส่วน อสังหาริมทรัพย์ เฟอร์นิเจอร์ สินค้าแฟชั่น เหล็ก ยางพารา คาดว่ากลุ่มนี้อาจจะฟื้นตัวไม่ทันปีนี้ แม้ว่าปลดล็อกดาวน์แล้วแต่ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด และที่สำคัญกลุ่มนี้ยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านกำลังซื้อที่หดหายไป ฯลฯ คาดว่าในปี 2564 ธุรกิจเหล่านี้จะกลับจ้างงานได้ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 ที่จำนวน 5 ล้านคน หรือมีสัดส่วน 30.9%

ทั้งนี้ ระยะเวลาการฟื้นตัวแต่ละธุรกิจไม่เท่ากัน ดังนั้น ผู้ประกอบการมีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมพร้อมรับกับลักษณะการฟื้นตัว

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน