สงกรานต์น่าจะดีขึ้น : วงล้อเศรษฐกิจ

การท่องเที่ยวในประเทศช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 นี้ มองว่าบรรยากาศการท่องเที่ยวน่าจะดีขึ้น แม้ในปีนี้การฉลองเทศกาลสงกรานต์จะแตกต่างจากในปีก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากยังอยู่ในช่วงของการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทางการจึงงดการจัดกิจกรรมการสาดน้ำ การจัดปาร์ตี้โฟมและคอนเสิร์ต แต่อนุญาตให้จัดกิจกรรมสงกรานต์ตามประเพณีทางศาสนาและสามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้

ประกอบกับในวันที่ 12 เม.ย.เป็นวันหยุดราชการกรณีพิเศษ ส่งผลทำให้เทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีวันหยุดราชการติดต่อกันถึง 6 วัน ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวทำแคมเปญการตลาดเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว นับเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อตลาดท่องเที่ยวในประเทศ

จากการสำรวจความคิดเห็นการวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 ของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล สะท้อนภาพบรรยากาศการเดินทางที่ดีขึ้น แต่ในภาพรวมก็นับว่ายังต่ำกว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ก่อนเกิดการระบาดของโควิด

เนื่องจาก ณ ขณะนี้ ยังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ ความไม่แน่นอนจึงยังมีสูง แต่หากทางการสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้ และในแหล่งท่องเที่ยวไม่พบผู้ติดเชื้อจำนวนสูงจนส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวนั้น คาดว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 9 วัน ระหว่างวันที่ 10-18 เม.ย. (แม้ในวันที่ 12 เม.ย.นี้จะเป็นวันหยุดราชการไม่รวมภาคเอกชนก็ตาม แต่คนไทยบางกลุ่มจะมีการหยุดเพิ่มเติมเพื่อเดินทางท่องเที่ยว และเอกชนบางแห่งมีการปรับเปลี่ยนวันหยุดเพื่อให้พนักงานหยุดยาวติดต่อกัน เช่น โรงงานอุตสาหกรรม)

น่าจะมีคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศจำนวน 3.84 ล้านคน-ครั้ง (หดตัวประมาณ 30.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2562 ซึ่งเป็นปีปกติก่อนมีโควิด)

ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยน่าจะมีมูลค่าประมาณ 1.59 หมื่นล้านบาท (หดตัวประมาณ 37.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2562) โดยค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในเทศกาลสงกรานต์เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4,150 บาทต่อทริป ลดลงจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ปกติ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 4,900 บาทต่อทริป

อย่างไรก็ตาม หากเหตุการณ์โควิด-19 ดีขึ้น มองว่าตลาดไทยเที่ยวไทยน่าจะทยอยกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2564

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน