“บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด”

การเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 4/2560 ตามราคาพลังงานและผลจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 11 เดือนแรกอยู่ที่ 0.66% โดยในเดือนพ.ย. 2560 เงินเฟ้อทั่วไปขยับขึ้นมาอยู่ที่ 0.99% YoY เร่งตัวขึ้นหลังจากเดือนต.ค. ที่อยู่ที่ 0.86% YoY จึงปรับประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2560 ลงมาอยู่ที่ 0.7% (จากเดิมที่ 0.8%)

ส่วนทิศทางเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปี 2561 คาดว่าจะ เร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 1.1% (กรอบประมาณการที่ 0.6-1.5%) ตามทิศทางราคาพลังงานและต้นทุนแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้น

ราคาพลังงานในประเทศน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบ ดูไบเฉลี่ยในปี 2561 จะอยู่ที่ 55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (กรอบประมาณการที่ 52-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่คาดว่าจะอยู่ที่เฉลี่ย 52.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากกำลังการผลิตน้ำมันดิบของประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันยังถูกตรึงไว้จนถึงสิ้นปี 2561 ในขณะที่เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีต่อเนื่องช่วยสนับสนุนความต้องการใช้พลังงานให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ราคาพลังงานในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในปี 2561 อาจจะส่งผลต่อราคาสินค้าที่อาศัยพลังงาน เชื้อเพลิงเป็นสัดส่วนที่สูงในการผลิตหรือดำเนินการอย่างการขนส่งสาธารณะให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ต้นทุนแรงงานไม่มีฝีมือที่ปรับตัวสูงขึ้นจากแนวโน้ม การปรับขึ้นของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2561 ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ยังมีผลของปัจจัยฐานจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตในช่วงปลายปี 2560 ที่ยังสะท้อนเข้ามาในดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคในช่วงปี 2561

อย่างไรก็ตาม ทิศทางเงินเฟ้อในปี 2561 เร่งตัวขึ้น ส่วนใหญ่จะมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของฝั่งต้นทุนทั้งพลังงานและแรงงาน มากกว่าจะเป็นผลจากความต้องการใช้จ่ายของ ผู้บริโภค

เนื่องด้วยกำลังซื้อของผู้บริโภคในภาพรวมที่ยังถูกกดดันด้วยหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ในขณะที่รายได้ ของครัวเรือนยังไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน