บุ๊กสโตร์

ผู้สื่อข่าวหรรษา

…วาระพิเศษ ก้าวสู่ปีที่ 42 ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2563 ชวนติดตาม “การใช้เวลาแบบใหม่” เครื่องมือหนึ่ง เมื่อรัชกาลที่ 5 โปรดให้ยกเลิกระบบราชการแบบจัตุสดมภ์ เปลี่ยนมาใช้ระบบราชการแบบใหม่

ระบบเวลาที่ว่า เริ่มใช้ในปี 2432 โดยใช้ “ปฏิทินสุริยคติระบบเกรกอเรียน” แทนปฏิทินจันทรคติในระบบราชการ ใช้ชื่อวันเดือนอย่างใหม่ตามราศีของเดือนนั้น ใช้วันที่ 1 เมษายนของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่ ใช้ศักราชใหม่ที่เรียกว่า “รัตนโกสินทรศก” ใช้ “นาฬิกากล” มากำกับการทำงานด้วย ใช้ “วันอาทิตย์” เป็นวันหยุดแทน “วันพระ” ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดสร้างความเปลี่ยนแปลงผลกระทบกับการปฏิรูประบบราชการอย่างไรติดตามสืบค้นไปด้วยกัน

พร้อมบทความน่าสนใจอื่นๆ อาทิ แผนแม่บทรถไฟญี่ปุ่น สายเอเชีย จีน-ไทย สมัยสงครามโลก ที่สาบสูญ, นักเรียนนายร้อย 2474 กับการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475, ข้างสำรับลาว: ชาวบ้านกับชาววังก็คือกัน! และยืนยันอีกครั้ง “เศียรใหญ่” คือ “พระศรีสรรเพชญ์” ฯลฯ

…มาสู่ผู้อ่านแล้ว หลังฉบับพิมพ์ครั้งแรกหมดในเวลา รวดเร็ว บัดนี้สิ้นสุดการรอคอย “ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษ สู่โลกใหม่” โดย คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร กลับมาในฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ที่หาไม่ได้ จากหนังสือประวัติศาสตร์อยุธยาเล่มอื่นๆ คือการเขียนประวัติศาสตร์ตามลูกศรของ เวลามุ่งสู่อดีตไปหาปัจจุบันฉายภาพของประวัติศาสตร์สังคม-สามัญชน จนกระทั่งเป็นรัฐ-อาณาจักร การสงคราม การค้า ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการดำรงความยิ่งใหญ่ของอยุธยา ความสัมพันธ์กับจีน เพื่อนบ้าน และชาติตะวันตก การล่มสลาย และการกำเนิดกรุงเทพฯ รวมระยะเวลา 500 ปี ใช้หลักฐานที่มีความหลากหลายทั้งจากเอกสารของไทย เอเชีย และตะวันตก

การเขียนประวัติศาสตร์เช่นนี้จะไม่ได้กล่าวถึงแต่เพียงเรื่องราวของกษัตริย์เฉกเช่นที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ชาตินิยมที่ไม่ให้พื้นที่ใดๆ กับสิ่งแปลกปลอมที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรากเหง้าความเป็นชาติ

ทั้งหมดนี้ จะทำให้ผู้อ่านจะได้เห็นภาพทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึกของอาณาจักรอยุธยาได้สมบูรณ์แบบและครบถ้วนที่สุด เพราะหนังสือเล่มนี้ กล่าวถึงพัฒนาการของมนุษย์ทุกชีวิตใน กรุงศรีอยุธยาแบบที่ไม่เคยมีหนังสือประวัติศาสตร์อยุธยาฉบับไหนเคยทำ มาก่อน

“เราไม่สันนิษฐานว่าสิ่งใดปรากฏอยู่ในอดีตจนกว่าจะได้เห็นหลักฐาน”

“ประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์” (385 บาท, สนพ.ยิปซี) ผลงาน ศุภวิทย์ ถาวรบุตรที่ชวนร่วมทบทวนอดีตของมนุษย์ผ่านหลักฐานทางความคิดและภูมิปัญญาอันหลากหลายกับประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์

“หากเรียนวิทยาศาสตร์แล้วไม่ชอบหรือเรียนไม่ไหว ให้ไปเรียนสายมนุษยศาสตร์” มายาคตินี้ยังครอบงำวิธีคิดของผู้คนอยู่มาก และประวัติศาสตร์นับเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่กลายเป็นทางเลือกตรงข้ามของการเรียนวิทยาศาสตร์ไปด้วย หนังสือเล่มนี้จะฉายชัดว่า หากประวัติศาสตร์กล่าวอ้างว่าเป็นศาสตร์ที่ต้องการเข้าใจสังคมมนุษย์นับตั้งแต่อดีต นั่นเป็นไปไม่ได้เลยที่ประวัติศาสตร์จะบรรลุเป้าหมายการเข้าใจสังคมมนุษย์โดยเลือกที่จะทิ้งวิทยาศาสตร์เอาไว้เบื้องหลัง

“สินในน้ำ สมบัติสลัด ฉลอมเร่ ศึกฉลอม” (350 บาท, สนพ.ศรีปัญญา) รวมนิยายสั้นของ ไม้ เมืองเดิม

ไม่เพียง “ขวัญ-เรียม” แห่งท้องทุ่งบางกะปิเท่านั้นที่ “ไม้ เมืองเดิม” หรือ ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา ฝากไว้คู่วงวรรณกรรมไทยจากนิยาย แผลเก่า ยังมีเรื่องราวจากท้องทะเลอันลือลั่น ซึ่งแม้จะจากไปด้วยวัยเพียง 37 ปี แต่นักเขียนสำคัญคนนี้ก็ได้สร้างผลงานที่คนไทยจดจำไม่มีลืม ทั้งสำนวนเฉพาะตัวและเนื้อหาที่ให้ภาพของความเป็นลูกทุ่งวิถีไทยชัดเจน

นิยายสั้น 4 เรื่อง สินในน้ำ สมบัติสลัด ฉลอมเร่ และศึกฉลอม คือวรรณกรรมลูกทุ่งว่าด้วยภาพชีวิตชาวประมงที่สนุกสนานและกลายเป็นอีกผลงานที่นักอ่านจดจำ

“CRISIS WISDOM | ปัญญา วิกฤติ” (450 บาท, สนพ. openbooks) ผลงานล่าสุดของ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ผู้เขียนเผยไว้ “ไม่ว่าท่านจะมีอุดมการณ์อย่างไร มีจุดยืนการเมืองอยู่ฝ่ายไหน หรืออยู่ในช่วงวัยและชั้นชนใด ปฏิเสธไม่ได้ว่า ขณะนี้ประเทศไทยของเรากำลังเดินหน้าเข้าสู่วิกฤติอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน อย่างน้อยก็ในช่วงชีวิตของพวกเรา เป็นวิกฤติเศรษฐกิจซึ่งถูกซ้อนทับด้วยวิกฤติการเมืองและวิกฤติศรัทธา เป็นวิกฤติที่แบ่งนคราออกเป็นสองฝ่าย อันนำมาสู่คำถามที่ท้าทายว่า เราจะนำพาชาติของเราฝ่าวิกฤติใหญ่นี้ไปได้อย่างไร

ผมบอกกล่าวเล่าเรื่องอดีตที่จะช่วย ให้ท่านอ่านสถานการณ์ในปัจจุบันได้ อย่างแจ่มชัด ว่าท่านอยู่ ณ จุดตัดใดในประวัติศาสตร์ และหวังว่าบทเรียนที่เขียนด้วยเลือดเนื้อ หยาดน้ำตา และชีวิตของผู้คนในอดีตที่ผ่านมา จะช่วยให้ท่านเกิดปัญญาในการขบคิด เพื่อตัดสินใจได้อย่างแม่นยำในวิกฤตที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่”

พบกันใหม่อาทิตย์หน้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน