อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเกือบถูกรื้อ (ตอนแรก)

นั่งอยู่หน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฉุกคิดสงสัยว่าสถาปัตยกรรมยุคคณะราษฎรอย่างอนุสาวรีย์นี้ เคยจะถูกทุบทิ้งไหมคะ

ตรีทิพย์

ตอบ ตรีทิพย์

คำตอบนำมาจากบทความ “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เกือบถูกรื้อ เพื่อสร้างอนุสาวรีย์ให้รัชกาลที่ 7” โดย เมฆา วิรุฬหก

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถูกสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. 2475 โดยกลุ่มคณะราษฎร แต่ เมื่อกลุ่มคณะราษฎรแตกสลายและกลุ่มอำนาจเก่าเริ่มกลับมามีบทบาทมากขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อนุสาวรีย์แห่งนี้ก็เกือบสิ้นชื่อ เมื่อรัฐบาลในยุคนั้นเสนอให้มีการ “รื้อ” อนุสาวรีย์แห่งนี้ทิ้งเพื่อสร้างอนุสาวรีย์ของรัชกาลที่ 7 ขึ้นมาแทนที่

ข้อมูลดังกล่าวปรากฏในบทความ “การเมืองว่าด้วยอนุสาวรีย์พระปกเกล้าฯ กับแนวคิดกษัตริย์นักประชาธิปไตยหลัง การรัฐประหาร พ.ศ. 2494” โดย ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ในศิลปวัฒนธรรมฉบับธันวาคม 2556

ระบุว่า กรมประชาสัมพันธ์ประกาศในเดือนกรกฎาคม 2495 ว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติจัดสร้างอนุสาวรีย์ให้กับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่สี่แยกถนนราชดำเนินตัดกับถนนดินสอ ซึ่งก็ต้องรื้อถอนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยออก เพื่อก่อสร้างอนุสาวรีย์ใหม่ขึ้นแทนที่

คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง พล.ต.บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา รมว.มหาดไทย พระยาราชภักดี ปลัดกระทรวงมหาดไทย พ.ท.หลวงบุรกรรมโกวิท อธิบดีกรมโยธาเทศบาล หม่อมทวีวงศ์ ถวัลย์ศักดิ์ ม.จ สมัยเฉลิม กฤดากร ม.จ.ยาใจ จิตรพงศ์ ม.ร.ว.เทวธิราช ป. มาลากุล ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นกรรมการ และ ม.ล.ปุ่ม มาลากุล เป็นทั้งกรรมการและเลขานุการในการดำเนินการสร้างอนุสาวรีย์ดังกล่าว

ที่น่าแปลกใจก็คือ คณะรัฐมนตรีที่เสนอให้ก่อสร้างอนุสาวรีย์ของรัชกาลที่ 7 เป็นคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เพิ่งก่อรัฐประหารในปี พ.ศ. 2494 เพื่อลดบทบาทของกลุ่มอำนาจเก่าที่มีอิทธิพลมากขึ้นด้วยผลของรัฐธรรมนูญฉบับกษัตริย์นิยม พ.ศ. 2492 ซึ่งศรัญญูกล่าวว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ “เปิดโอกาสให้ฝ่ายนิยมเจ้าเข้ามามีบทบาทในวุฒิสภาและขัดขวางการทำงานของรัฐบาลอย่างสม่ำเสมอ”

การก่อรัฐประหารในปี พ.ศ. 2494 คณะผู้ก่อการได้ประกาศให้นำรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 มาใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับกษัตริย์นิยม โดยอ้างถึงความสำคัญทางแบบพิธีในฐานะที่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 เป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 7 และในบทบัญญัติก็ได้วางแนวทางการแก้ไขไว้แล้ว

ส่วนแนวคิดอันเป็นที่มาของการสร้างอนุสาวรีย์ของพระปกเกล้าฯ ศรัญญูอธิบายว่า “เพื่อลดกระแสต่อต้านจากราชสำนัก หลังจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2494 ที่นำรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 กลับมาใช้ แทน” พร้อมกับสดุดีพระปกเกล้าฯ ในฐานะผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว

แรกทีเดียวแผนโครงการต้องการให้สร้างอนุสาวรีย์ของพระปกเกล้าฯ บริเวณสนามหญ้าด้านหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมมุขตะวันออก แต่คณะกรรมการฯ มองว่า พื้นที่ดังกล่าวคับแคบไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะเข้าไปสักการะ พล.ต.บัญญัติ ประธานคณะกรรมการฯ จึงเสนอว่า

“ควรจะสร้างตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยปัจจุบันนี้ เพราะเท่าที่เป็นอยู่ขณะนี้เป็น อนุสาวรีย์ซึ่งเป็นของสิ่งหนึ่งคือรัฐธรรมนูญที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน มิใช่พระองค์ท่าน เป็นเพียงวัตถุสิ่งของเท่านั้น ฉะนั้นเหตุใดจึงไม่เอาพระบรมรูปของพระองค์ท่านตั้งแทน”

ฉบับพรุ่งนี้ (17 พ.ย.) พบคำตอบเหตุที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยังคงอยู่รอดมาได้ถึงปัจจุบัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน