การบังคับหาย

การบังคับหาย คืออะไรครับ

เกียรติ

ตอบ เกียรติ

มีคำอธิบายถึง “การบังคับบุคคลให้สูญหาย” หรือเรียกกันทั่วไปว่า การอุ้มหาย โดย ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่บนเว็บไซต์ the101.world ว่า อนุสัญญาคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้สูญหาย ค.ศ. 2006 ได้ให้ความหมายของการบังคับบุคคลให้สูญหาย หมายถึง

“การจับกุม การคุมขัง การลักพาตัว หรือการลิดรอนเสรีภาพรูปแบบอื่นที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่กระทำการภายใต้อำนาจหรือการสนับสนุนหรือการยอมรับจากรัฐ ตามด้วยการปฏิเสธไม่รับรู้การลิดรอนเสรีภาพ ดังกล่าว หรือโดยการปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของผู้สูญหาย ทำให้ผู้สูญหายอยู่นอกการคุ้มกันของกฎหมาย”

จากความหมายดังกล่าว แยกองค์ประกอบของการบังคับบุคคลให้สูญหายได้เป็น 3 ข้อ ดังนี้ การจับตัว คุมขัง โดยปราศจากความยินยอม, เป็นการกระทำของรัฐ หรือได้รับการยอมรับจากรัฐ, ปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำ และปกปิดชะตากรรม

หากเจ้าหน้าที่ของรัฐจับกุมตัวประชาชนไปขังไว้ในสถานที่ไม่เปิดเผย และยอมรับว่าเอาตัวไปจริง แต่ปกปิดชะตากรรมไม่บอกที่อยู่หรือความเป็นไปของผู้ถูกเอาตัวไป ก็เป็นการบังคับบุคคลให้สูญหายตามอนุสัญญาฯ เช่นเดียวกัน เพราะเป็นลักษณะของ “การปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่”

การบังคับบุคคลให้สูญหายคือการนำตัวไปโดยผู้ถูกเอาตัวไปไม่ยินยอม ดังนั้น การพาตัวไปโดยความยินยอมของผู้ถูกเอาตัวไปและอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมาย ไม่ถือว่าเป็นการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยความยินยอมนี้ต้องเป็นความยินยอมที่บริสุทธิ์ ความยินยอมเพราะถูกบังคับ ขู่เข็ญ แม้จะมีลายเซ็นของผู้ถูกเชิญตัวว่ายินยอมไปกับเจ้าหน้าที่เอง ก็ไม่อาจถือว่าเป็นความยินยอมที่บริสุทธิ์

การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐอุ้มประชาชนหายไป ย่อมเป็นการบังคับบุคคลให้สูญหายอย่างแน่นอน แต่ถ้าหาก นาย ก. ซึ่งเป็นประชาชนคนหนึ่ง อุ้ม นาย ข. ประชาชนอีกคนหนึ่งไปขังไว้ด้วยเรื่องส่วนตัวของนาย ก. เช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นการบังคับบุคคลให้สูญหายตามความหมายของอนุสัญญาฯ แต่หากการกระทำของนาย ก. เกิดจากการสั่งการของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการยอมรับโดยรัฐ ย่อมเป็นการบังคับบุคคลให้สูญหายได้เช่นกัน

ทั้งนี้ การจับกุมคุมขังตามหมายศาลหรือตามกฎหมาย ก็อาจเป็นการบังคับบุคคลให้สูญหายได้ หากเริ่มต้นจากการจับกุมโดยชอบด้วยกฎหมาย แล้วต่อมาเจ้าหน้าที่ของรัฐปกปิดชะตากรรมของผู้ถูกคุมขัง ทรมาน หรือฆ่าผู้ถูกคุมขัง ย่อมถือว่าเป็นการบังคับบุคคลให้สูญหายด้วยอีกการกระทำหนึ่งทันที

เจ้าหน้าที่ของรัฐอุ้มประชาชนหายไป เป็นความผิดฐานบังคับบุคคลให้สูญหายตามความหมายของอนุสัญญาฯ ซึ่งใช้กลไกศาลภายในประเทศเป็นผู้พิจารณาพิพากษา แต่หากการบังคับบุคคลให้สูญหายเกิดจากการสั่งการโดยนโยบายจากรัฐบาล ทำกับประชาชนอย่างเป็นระบบ หรืออย่างกว้างขวาง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำดังกล่าวจะมีความผิดฐานอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เมื่อเป็นอาชญากรรมต่อ มวลมนุษยชาติแล้วทำให้อาชญากรรมดังกล่าวไม่มีอายุความ เป็นอาชญากรรมสากลที่ทั่วโลกร่วมมือกันปราบปราม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน