สยามสู้โรคระบาด แพทย์แผนตะวันตก

จากสมัย ร.2 ที่เอาทางพระเข้าข่มรับมือโรคระบาด ถึงสมัยใดที่ไทยใช้ความรู้จากฝรั่ง

จารุพร

ตอบ จารุพร

คำตอบนำมาจากบทความ “การรับมือโรคระบาดสมัย ร.5 รัฐสยามยุคใหม่ เลิกไล่ผีเปลี่ยนมาจัดการ ด้วยการแพทย์ตะวันตก” โดย ดร.ชาติชาย มุกสง

สมัยโบราณโรคระบาดรวดเร็วรุนแรงที่ส่งผลให้คนตายมากๆ คนไทยเรียกว่า โรคห่า แต่เดิมหมายถึง 3 โรคคือ ทรพิษเก่าแก่สุด ต่อมาใช้เรียกอหิวาตกโรค และกาฬโรคที่ระบาดหนักช่วงเปลี่ยนผ่านสยามเป็นรัฐสมัยใหม่ ตรงกับยุคสมัยอาณานิคม

ยุคต้นรัตนโกสินทร์เมื่ออหิวาตกโรคระบาดครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2363 ที่ถูกเรียกว่าโรคห่าเช่นกันนั้น พงศาวดารรัชกาลที่ 2 แต่งโดยเจ้าพระยาทิพกรวงศ์ในต้นรัชกาลที่ 5 เชื่อว่าสาเหตุมาจากผีโกรธ รัฐราชสำนักได้จัดการแก้ไขโดย

“จะรักษาพยาบาลแก้ไขด้วย คุณยาเหนจะไม่หาย จึ่งให้ตั้งพระราชพิธีอาฏานาฏิยสตร…ยิงปืนใหญ่รอบพระนครคืนหนึ่งยันรุ่ง แล้วเชิญพระแก้วมรกฏแลพระบรมธาตุทั้งพระราชาคณะออกแห่โปรยทรายประน้ำปริตรทั้งทางบก ทางเรือ สมเดจพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงศีล…”

ต่อมาในพระราชนิพนธ์พระราชพิธี 12 เดือนของรัชกาลที่ 5 พบทรงมีพระราชดำริว่า การตั้งพระราชพิธีดังกล่าวเพื่อปราบปรามภูตผีปีศาจไม่ให้ทำร้ายมนุษย์ “เป็นแต่ตั้งชื่อว่าอาพาธพินาศตามความต้องการ” มิใช่พิธีที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนไว้ให้ทำแก้ไขโรคภัย “โรคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยผี เกิดขึ้นด้วยดินฟ้าอากาศและความประพฤติที่อยู่ที่กินของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีวิญญาณจะขับไล่ได้ การพระราชพิธีไม่ได้มีประโยชน์อันใด”

พระบรมวินิจฉัยการเลิกใช้พิธีไล่ผีจึงแสดงให้เห็นถึงสมุหฐานของการเกิดโรคที่เปลี่ยนจากผีเป็นสิ่งแวดล้อมที่สกปรก หรือเรียก อายพิศม์ ทำให้เกิดโรค ซึ่งหมอบรัดเลย์นำเข้ามาเผยแพร่ในสยาม ทรงให้ยกเลิกพิธีกรรมทางศาสนาในการปราบโรคระบาด หันมาใช้การแพทย์สมัยใหม่ที่ใช้การแจกยารักษาโรคแก่ราษฎรและใช้วิธีการด้านสาธารณสุขในการทำลายและป้องกันแหล่งแพร่โรค

โดยในคราวโรคอหิวาต์ระบาดครั้งแรกในสมัยของพระองค์ เมื่อพ.ศ. 2416 ได้เกิดจุดพลิกผันสำคัญคือ การเปลี่ยนมารักษาด้วยยาแบบการแพทย์สมัยใหม่แทนการทำพิธีทางศาสนาเช่นแต่ก่อนมา ทรงให้พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ อธิบดีกรมหมอซึ่งสำเร็จการแพทย์ตะวันตก ปรุงยาแล้วนำไปแจกจ่ายให้กับราษฎร

หลังการระบาดของอหิวาตกโรคครั้งนี้ยุติลง 4 ปี รัฐสยามได้เดินหน้าตั้งสถาบันทางการแพทย์เพื่อสร้างบทบาทใหม่ของรัฐในการดูแลสุขภาพของประชาชนไปพร้อมๆ กับการกำเนิดขึ้นของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยจัดตั้งโรงศิริราชพยาบาลใน พ.ศ.2431 และใน พ.ศ.2461 ก็ได้ตั้งกรมสาธารณสุข ให้มีอำนาจใช้วิธีการป้องกันและควบคุมโรคทั่วราชอาณาจักร

การใช้วิธีการทางการสาธารณสุขที่รัฐจัดให้เพื่อป้องกันและควบคุมโรระบาดนั้นถือว่าได้ผล หลังจากมีความก้าวหน้าของการแพทย์จนทำให้ทราบว่าเชื้อโรคชนิดต่างกันทำให้เกิดโรคเฉพาะเจาะจงตามเชื้อโรคอันเป็นชื่อเฉพาะของโรค อันทำให้ชาวสยามในทศวรรษ 2440 เป็นต้นมา เลิกการเรียกว่าโรคห่าแทนโรคระบาด มาเรียกด้วยชื่อเฉพาะที่เกิดจากเชื้อโรคนั้นๆ เป็นทรพิษ อหิวาตกโรคกาฬโรค แทน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน