ก่อน24มิถุนายน2475 (ตอนจบ)

ฉบับวานนี้ (15 มิ.ย.) “อติมา” ถามว่า มีบันทึกไว้ไหม คณะราษฎรคุยกันอย่างไรจึงเปลี่ยนแปลงการปกครองในที่สุด เมื่อวานตอบถึงจุดเริ่มต้นแล้ว วันนี้อ่านสาระสำคัญของการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ โดยคำตอบนำมาจากบทความ “เปิดห้องประชุมครั้งแรกของ ‘คณะราษฎร’ 7 ผู้ก่อตั้งพูดคุยเรื่องอะไรกัน?” เผยแพร่ในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม

ปรีดี พนมยงค์ เล่าไว้ว่า “การประชุมเป็นทางการครั้งแรกของคณะราษฎรมีขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1927 ที่หอพักแห่งหนึ่ง ณ ‘Rue de Sommerard’ ซึ่งเราเช่าห้องใหญ่ไว้เฉพาะการประชุมนั้น…ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ข้าพเจ้าเป็นประธานและเป็นหัวหน้าคณะราษฎรจนกว่าจะมีบุคคลที่เหมาะสมเป็นหัวหน้าคณะราษฎรในกาลต่อไป การประชุมดำเนินไปเป็นเวลาประมาณ 5 วัน”

ผู้ก่อตั้งทั้ง 7 คน (ปรีดี พนมยงค์, แปลก ขีตตะสังคะ (จอมพล ป. พิบูลสงคราม), แนบ พหลโยธิน, ประยูร ภมรมนตรี, ตั้ว ลพานุกรม, หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) และ ทัศนัย มิตรภักดี) ได้ปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ สรุปสาระสำคัญ ดังที่ ปรีดี พนมยงค์ บันทึกไว้ ดังนี้

“ก. วัตถุประสงค์ของคณะราษฎร คือ เปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีศัพท์สมัยใหม่ว่า ‘ปฏิวัติ’ หรือ ‘อภิวัฒน์’ เพื่อถ่ายทอดคำฝรั่งเศส อังกฤษ REVOLUTION ดังนั้นเราจึงใช้ศัพท์ธรรมดาว่า “เปลี่ยนการปกครองของกษัตริย์เหนือกฎหมายมาเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย” และการดำเนินเพื่อให้สยามบรรลุหลัก 6 ประการ คือ

1.รักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง, ในทางศาล, ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง 2.รักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดลงให้มาก 3.บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจโดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก 4.ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน 5.ให้ราษฎรมีเสรีภาพที่ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวแล้ว 6.ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

อีกสาระสำคัญในการประชุมครั้งนั้น ยังระบุว่า โดยคำนึงถึงสภาพของสยามที่ถูกแวดล้อมโดยอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งชาติทั้งสองนี้มีข้อตกลงกันถือเอาสยามเป็นประเทศกันชน แต่เขาอาจพร้อมกันยกกำลังทหารเข้ามายึดครองแล้วแบ่งดินแดนสยามไปเป็นเมืองขึ้น หรืออยู่ใต้อำนาจอิทธิพลของประเทศทั้งสอง จึงเห็นว่าวิธีเปลี่ยนการปกครองจะต้องกระทำโดยวิธี COUP D’ ?TAT ซึ่งเรียกกันด้วยคำไทยธรรมดาว่า การยึดอำนาจโดยฉับพลัน เพื่อป้องกันการแทรกแซงของมหาอำนาจ

นอกจากนี้ยังพูดถึงการเลือกเฟ้นสมาชิกคณะราษฎร ต้องคำนึงถึงความเสียสละเพื่อชาติอย่างแท้จริง, ความกล้าหาญ, ความสามารถในการรักษาความลับ และที่ประชุมได้พิจารณาเผื่อไว้ว่าถ้าการ กระทำของคณะราษฎรต้องถูกปราบปรามหรือพ่ายแพ้ ก็ให้มีหัวหน้าสายคนหนึ่งที่กันไว้มิให้แสดงออกนอกหน้าว่าเป็นสมาชิกคณะราษฎร บำเพ็ญตนประดุจเป็นคนอยู่ในบ้านอย่างสงบเงียบ ผู้นี้มีหน้าที่ดำเนินกิจการของคณะราษฎรที่อาจถูกปราบปรามหรือพ่ายแพ้นั้นต่อไปให้สำเร็จ พร้อมทั้งให้มีหน้าที่ดูแลช่วยเหลือครอบครัวของเพื่อนที่ถูกติดคุกหรือถึงแก่ความตาย ที่ประชุมเห็นพ้องกันมอบหน้าที่นี้ให้แก่นายแนบ พหลโยธิน ซึ่งเป็นผู้มีทรัพย์สินมาก

สาระสำคัญของการประชุมในครั้งนั้นได้กลายเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินงานเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของ ‘คณะราษฎร’ จนเป็นผลสำเร็จในการปฏิวัติ พ.ศ.2475

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน