ผ่าปมสาวผูกคอดับ

วาดรูปบิ๊กตู่ส่งท้าย

พิษโควิด-ฆ่าตัวพุ่ง

‘คลัง’ชี้ปมการเมือง

คอลัมน์ แฟ้มคดี

ผ่าปมสาวผูกคอดับวาดรูปบิ๊กตู่ส่งท้าย- ยังคงเป็นเหตุสลดที่เกิดขึ้นถี่ยิบรายวัน

สำหรับการฆ่าตัวตายของประชาชนในช่วงวิกฤตการณ์โควิด

แน่นอนว่าการจะตัดสินใจจบชีวิตตัวเองนั้น ถือเป็นเรื่อง ซับซ้อน ที่ไม่จำเป็นจะต้องมีเพียงสาเหตุเดียว

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากโรคระบาดโควิดก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การดำรงชีวิตในโลกปัจจุบันยากลำบากยิ่งขึ้น

ทั้งการขาดงาน ขาดรายได้ ต้องพึ่งพิงระบบสังคมสงเคราะห์ที่เกิดขึ้นจากประชาชนด้วยกันเองอย่างเต็มรูปแบบขณะที่การเยียวยาดูแลจากรัฐบาลกลับถูกมองว่าล่าช้าและไม่ทั่วถึง

คนที่เดือดร้อนที่มาร้องขอ กลับถูกมองว่ามีการเมืองอยู่เบื้องหลัง รวมถึงกรณีสาวที่ผูกคอตายแล้วเขียนรูปนายกฯ ซึ่งแม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่ามีคนใกล้ชิดใช้เงินเยียวยาในรูปแบบอื่นก็ตาม

ก็ยังมีผลพวงจากเรื่องโควิด กลายเป็นคำถามต่อรัฐบาลและศบค. ว่าจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไร

ไม่ให้เกิดเหตุสลดเช่นนี้อีก

■ สาวผูกคอวาดรูปบิ๊กตู่

กลายเป็นข่าวฮือฮา ก็คือกรณีของน.ส.ปลายฝน อ่ำสาริกา รปภ.สาว อายุ 20 ปี ที่เสียชีวิตด้วยการผูกคอฆ่าตัวตาย และทำพิธีฌาปนกิจไปเมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่วัดแสนภูดาษ ต.แสนภูดาษ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 29 เม.ย. โดยก่อนที่น.ส.ปลายฝนจะฆ่าตัวตาย ได้วาดรูปพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม พร้อมโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กตัดพ้อว่ารัฐบาลใจร้าย และด้วยวิกฤตโควิดทำให้ไม่มีรายได้ ไม่มีเงินแม้กระทั่งซื้อนมให้ลูกชายวัย 8 เดือนกิน

โดยนางสุดารัตน์ อ่ำสาริกา แม่ของน.ส.ปลายฝน ระบุว่า ติดต่อกับลูกสาวล่าสุดทางไลน์ ลูกสาวบอกว่าขอเงินซื้อนมให้ลูกหน่อย แต่ตนไม่ได้ตอบไลน์ พอมาตอบตอนหลังก็ถามว่ามีนมให้ลูกหรือไม่ ลูกก็บอกว่ามี จากนั้นไม่ได้คุยกันเลย กระทั่งเกิดเหตุร้าย

อาลัยรปภ.สาว

ขณะที่ก่อนตาย น.ส.ปลายฝน ได้ทิ้งของไว้ให้ลูก โดยเขียนหน้ากล่องว่า “รักนะหมาน้อย ดวงใจของแม่” ซึ่งหลังเกิดเหตุ คุณตาของปลายฝนทิ้งกล่องไปแล้ว แต่ก็ไปรื้อหากล่องอื่นที่เป็นลายมือของหลานสาวมาเก็บไว้ให้หลานชายดูว่านี่คือลายมือของแม่

สำหรับประวัติของน.ส.ปลายฝน เคยมีสามีมาก่อน มีลูกด้วยกัน 1 คน แต่สามีเก่าเป็นคนเกเร ช่วงหลังมีปัญหาปากเสียงถึงขั้นลงไม้ลงมือ ทำให้น.ส.ปลายฝน หนีเข้ากทม. ไปอยู่ย่านเพชรเกษม จากนั้นคบหากับแฟนใหม่ที่อยู่ด้วยกันปัจจุบัน ทำงานเป็นรปภ.เหมือนกัน แต่อยู่คนละแห่ง โดยปลายฝน ทำงานเป็นรปภ.อยู่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ย่านฝั่งธนบุรี

วาดรูปนายกฯ

ทั้งนี้ปลายฝน ชอบวาดรูป มักทำเป็นอาชีพเสริม ก่อนนี้ขายรูปได้รูปละ 500-600 บาท แต่ช่วงหลังไม่มีคนมาซื้อเลยต้องทำอาชีพรปภ.เพียงอย่างเดียว

ส่วนแฟนหนุ่มคนปัจจุบัน ระบุว่า ค่ำวันที่ 27 เม.ย. ปลายฝนร้องไห้อยากมาทำงานด้วย จนยอมใจอ่อนให้มา แต่แล้วแฟนสาวก็เปลี่ยนใจ ตนเลยไปทำงานตามปกติ กระทั่งเคอร์ฟิว ก็กลับที่พักไม่ได้ ออกเวรกลับไปถึงห้องพักก็พบว่าผูกคอเสียชีวิตแล้ว

อย่างไรก็ตามเรื่องราวก็สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าน.ส.ปลายฝนเองได้รับเงินเยียวยาเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. แต่ไม่ทราบเรื่อง เนื่องจากแฟนคนใหม่นำเงินไปจ่ายค่างวดรถ โดยไม่บอกให้ปลายฝนทราบ

นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีต นายกฯ ที่ปรากฏชื่อเป็นเจ้าภาพงานสวดพระอภิธรรม จนเป็นเหตุให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เชื่อมโยงกับเรื่องการเมือง

แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธความจริงได้ว่าเป็นอีก 1 ความสูญเสียที่เชื่อมโยงกับวิกฤตโควิด

■ ผวาพิษโควิด-ฆ่าตัวรายวัน

ไม่เพียงแค่นั้น เหตุฆ่าตัวตายรายวันยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 4 พ.ค. ตำรวจสน.ท่าเรือ รับแจ้งเหตุมีคนผูกคอเสียชีวิต ภายในบ้านเลขที่ 319 ซ.วัดคลองเตยใน แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กทม.

ผูกคอดับสลด

 

ที่เกิดเหตุบ้านอาคารพาณิชย์สูง 2 ชั้น ชั้นลอยของบ้านต่อเติมเป็นห้องพัก 1 ห้อง ติดตั้งกันสาด พบศพน.ส.นิธิวดี หรือก้อย แซ่เตี้ย อายุ 50 ปี เจ้าของบ้าน อาชีพพนักงานเก็บล้าง ร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดัง ในห้างสรรพสินค้าสีลม คอมเพล็กซ์ นอนหงายสวมชุดนอนสีชมพูแบบกระโปรงมีร่องรอยกดรัดบริเวณคอหอย ใกล้กันพบกางเกงสแล็กส์ขายาว สีเทา ผูกมัดกับขื่อกันสาด

น.ส.ประไพ ยอดประดิษฐ์ อายุ 70 ปี น้าสาวของผู้สาว เปิดเผยว่า หลังจากพ่อ ผู้ตายเสียไป ตนก็เข้ามาพักอาศัยด้วยนานกว่า 20 ปี ตนพักอยู่ชั้น 2 ส่วนหลานพักอยู่ชั้นลอย

ส่วนสาเหตุเกิดการระบาดของโรค โควิด-19 ทำให้หลานต้องพักงาน เพราะร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าต้องปิด ทำให้ขาดรายได้ ต้องใช้เงินเก็บในการดำรงชีวิต อยู่ระหว่างการรอรับเงินประกันสังคม ตามมาตรา 33 ตามสิทธิกลุ่มลูกจ้าง-พนักงานเอกชน ซึ่งทำงานมา 4 ปี

แต่เมื่อไปทวงถามกลับได้รับคำตอบว่าไม่ได้ค่าชดเชยเพราะไม่ผ่านเกณฑ์ จนทำให้หลานถึงกับซึม ตนก็ปลอบว่าไม่เป็นไร เรายังมีข้าวกิน จนกระทั่งช่วงเช้าได้ยินเสียงเปิดประตู นึกว่าตื่น ตนก็ออกไปซื้อของทำกับข้าว กลับมาไม่เจอหลานพอไปตามก็พบเป็นศพผูกคอเสียชีวิต

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 พ.ค. สภ.สำโรงใต้ จ.สมุทรปราการ รับแจ้งคนผูกคอเสียชีวิตในบ้านพัก ซ.ผูกมิตร ต.สำโรงใต้ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ

ที่เกิดเหตุเป็นอาคารสูง 4 ชั้น เปิดเป็นบริษัท วิคตอรี่ ไซเคิล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตจักรยาน บริเวณบันไดระหว่างชั้น 2-3 พบศพนายเกรียง สุพรรณวัฒนชัย อายุ 55 ปี เจ้าของบริษัทใช้ผ้าพันคอสีชมพูผูกกับราวบันได คาดว่าเสียชีวิตมาแล้วประมาณ2-3 วัน

สอบสวนพยานระบุว่าผู้ตายเครียดจากโรคประจำตัว ประกอบกับการระบาดของโรคโควิด-19 จึงคิดสั้นฆ่าตัวตาย

วันเดียวกัน สภ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี รับแจ้งเหตุชายผูกคอเสียชีวิต ในบ้านพัก ต.บางรักพัฒนา อ.บางบัวทอง พบศพ นายปรีชา อำพันทอง อายุ 45 ปี

สอบสวนภรรยาทราบว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากความเครียดจากการตกงานเพราะพิษโควิด ตนที่ขายอาหารตามสั่งก็แทบไม่มีลูกค้า เพราะไม่สามารถให้กินที่ร้านได้ ทำให้รายได้ไม่พอรายจ่าย

เป็นความเครียดสะสม จนเลือกหนทางจบชีวิตตัวเอง

■ ปลัดคลังห่วงปมการเมือง

ขณะที่ความสูญเสียเกิดขึ้นรายวัน ก็เป็นที่น่าห่วงว่ารัฐบาล และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) ที่ควบคุมดูแลกำหนดมาตรการต่างๆ ได้เล็งเห็นความสำคัญถึงเรื่องดังกล่าวหรือไม่

โดยนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. ตอบผู้สื่อข่าวถึงประเด็นตัวเลขการฆ่าตัวตายที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ว่า การพยากรณ์ตัวเลขของการพยายามทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตาย เป็นพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่ได้ผิดไปจากความคาดหมาย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน

เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องดูแล คล้ายกับการควบคุมโรคติดต่อ ถึงแม้จะมากขึ้น แต่ก็ต้องศึกษาหาทางลดจำนวนความสูญเสียเรื่องการฆ่าตัวตาย บวกกับด้านเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาให้ตรงเหตุ จะช่วยลดความสูญเสีย หลายประเทศต้องมีมาตรการระดับประเทศ ไม่ใช่แค่ระดับกระทรวง

“เราเคยเจอวิกฤตเศรษฐกิจในช่วง 2540 ที่เรียกว่าต้มยำกุ้ง ตอนนั้นตัวเลข ผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย เพิ่มขึ้นไปเป็น 8.3 ต่อแสนประชากร แต่ครั้งนี้ยังไม่ถึงตอนนั้น ยังมีมาตรการที่พวกเราสามารถที่จะป้องกันให้ตัวเลขลดลงได้”

ปีนรั้วทวง 5 พัน

เป็นคำตอบที่ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางขณะที่นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุถึงกรณีที่กระทรวงการคลังถูกตั้งคำถามถึงการเยียวยาที่ล่าช้าไม่ทั่วถึง ว่า เป็นห่วงสื่อมวล ชนตกเป็นเครื่องมือให้คนที่จะมาหาเงิน ผู้ที่มาเรียกร้องบางคนมีเงินอยู่แล้ว หลายคนตรวจสอบแล้วพบว่าได้เงิน แต่ก็มาร้องเรียนอีก

บางคนต้องการขอให้โฆษณา บริจาคให้เขา ก็ใช้นักข่าวเป็นเครื่องมือ ยืนยันว่าถ้าเขาเดือดร้อนก็ยินดี เพราะเป็นหน้าที่ของเราที่จะดูแลจ่ายเงินเยียวยา เจ้าหน้าที่ทุกคนทำงานมา 2 เดือนครึ่งไม่ได้หยุดเสาร์-อาทิตย์

เงินที่แจกไม่ใช่เงินกระทรวงการคลัง แต่เป็นเงินกู้ ที่ต้องใช้หนี้ในอนาคต ซึ่งถ้าเราปกป้องเงินหลวงได้ ก็ถือว่าได้บุญ 2 ทาง

บางครั้งก็จำหน้าได้ คนที่มาลุย คนที่มาร้องไห้ จำได้ว่าเป็นพวกการเมืองอีกพรรคหนึ่ง แต่เราเป็นข้าราชการก็ต้องอดทน พยายามชี้แจงให้เข้าใจว่าเรากลัวเรื่องโรคระบาดจริงๆ

เป็นเรื่องที่ต้องปรับวิธีการ ไม่ให้เกิดเหตุสลดเช่นนี้อีก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน