กรณีหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ต ของ นายจาตุรนต์ ฉายแสง กำลังจะกลายเป็นบทเรียนทางการเมืองอันแหลมคมยิ่ง

เป็นบทเรียนในเชิงเปรียบเทียบ

เพราะคำวินิจฉัยของศาลปกครองต่อกรณี นายจาตุรนต์ ฉายแสง ปรากฏขึ้นในห้วงเวลาใกล้เคียงกันกับการดำเนินการถอดถอน นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ออกจากตำแหน่ง

ความผิดเพราะไปมอบหนังสือเดินทางให้ “ทักษิณ”

คำถามก็คือ หากการมอบหนังสือเดินทางให้กับ “ทักษิณ” ส่งผลให้ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ต้องถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

แล้วการริบหนังสือเดินทางของ นายจาตุรนต์ ฉายแสง จะลงเอยอย่างไร

บางคนอาจจะออกมาโต้แย้งในกรณีการริบหนังสือเดินทาง นายจาตุรนต์ ฉายแสง โดยคำสั่งของกระทรวงการต่างประเทศว่าดำเนินไปอย่างถูกต้อง

เนื่องจากพฤติการณ์ของ นายจาตุรนต์ ฉายแสง

เพราะนับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา นายจาตุรนต์ ฉายแสง แสดงพฤติการณ์ฝ่าฝืนและขัดคำสั่งคสช.มาอย่างต่อเนื่อง

ตกเป็นคดีทั้งในศาลยุติธรรมและศาลทหาร

กระนั้น ประเด็นหนึ่งก็คือ คำวินิจฉัยของศาลปกครองระบุให้กระทรวงการต่างประเทศต้องคืนหนังสือเดินทางที่ริบไปให้กับ นายจาตุรนต์ ฉายแสง

เท่ากับยืนยันว่าเป็น “มาตรการ” อันไม่ชอบด้วย “กฎหมาย” ปกครอง

ถามว่าหาก นายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้น เห็นว่าคำสั่งของกระทรวงการต่างประเทศทำให้เสียหาย และกระทบกระเทือนต่อการเดินทางไปต่างประเทศ

แล้วรื้อฟื้นเรื่องนี้ไปยังคดีอาญา คดีแพ่ง

โดยมีคำวินิจฉัยจากศาลปกครองเป็นฐานรองรับ นั่นหมายความว่ากระทรวงการต่างประเทศก็ต้องตอบคำถาม และความสงสัยอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

ความผิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นอย่างไร

จะดำเนินไปเหมือนกับที่ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ต้องประสบ กระทั่งที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติดำเนินการถอดถอนหรือไม่

น่าคิด น่าพิจารณา

จากนี้จึงเห็นได้อย่างเด่นชัดว่า กรณี “หนังสือเดินทาง” สะท้อนถึงความขัดแย้งอย่างลึกซึ้งทางการเมือง

เป็นการเมืองอันกระทบต่ออดีตรองนายกรัฐมนตรีอย่าง นายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นการเมืองอันกระทบต่ออดีตรองนายกรัฐมนตรีอย่าง นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล

คำถามก็คือ แล้วความถูกต้อง ความเป็นธรรมคืออะไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน