ไม่ว่าการนำรั้วเหล็กไปตีวงโดยรอบจุดที่ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ถูกสังหาร ไม่ว่าการนำรั้วเหล็กไปกั้นจุดที่ป้ายแยกราชประสงค์ตั้ง ล้วนมีเป้าหมายแจ่มชัด

นั่นก็คือ ไม่ต้องการให้มีการชุมนุม ไม่ต้องการให้มีการเคลื่อนไหว

แต่ผลจากการตัดสินใจเช่นนั้นประสบตามเป้าหมายที่กำหนดและจัดวางไว้หรือไม่ น่าสงสัยอย่างยิ่ง

แน่นอน ไม่มีการเคลื่อนไหวอย่างอึกทึก ครึกโครม

แต่หากสำรวจจากที่เป็นข่าวในวันรุ่งขึ้น ไม่ว่าจะจากการเคลื่อนไหวของ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ไม่ว่าจะจากการเคลื่อนไหวของ นางพเยาว์ อัคฮาด

ผลกลับเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับเป้าหมายและความต้องการ

ไม่เพียงแต่จะปรากฏภาพและข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์วันรุ่งขึ้น หากแต่ตามสื่อออนไลน์กลับคึกคักด้วยภาพเคลื่อนไหวและคอมเมนต์ตามมา

ที่คิดจะ “ปิด” กลับมี “การเปิด”

หากเริ่มต้นจากความจำเป็นต้องกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็จะต้องมองสภาพอันเกิดขึ้นด้วยความเข้าใจ

เพราะว่าทุกอย่างเป็นไปตาม “นโยบาย”

หากไม่มีนโยบายไฉน พ.อ.วินธัย สุวารี จึงจะสามารถออกมาแถลงแสดงเหตุผลที่จำเป็นต้องปราม น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล

หากไม่มีนโยบายไฉน สน.ปทุมวัน จะจัดกำลังถึง 1 กองร้อยเข้าประจำ

กระนั้น เมื่อผ่านการปฏิบัติมาตลอด 3 ปีคสช.เข้ามามีบทบาทไม่ว่าจะกรณี “ปฏิทิน” ไม่ว่าจะกรณี “ขันแดง” ก็เด่นชัดยิ่งว่าผลกลับกลายเป็นตรงกันข้าม

นั่นก็คือ เป็นเรื่อง “ยิ่งห้าม” กลายเป็น “ยิ่งกระจาย”

ประเด็นมิได้อยู่ที่ว่า คสช.สามารถห้ามการเคลื่อนไหวของคนเหล่านั้นได้หรือไม่ หากแต่อยู่ที่ว่าการห้ามของคสช.กลับกลายเป็นหัวข้อใหม่ของการสนทนา

เพราะการห้ามนั้นเองที่กลายเป็น “ข่าว”

ทั้งหมดนี้ยืนยันว่า คสช.สามารถสยบทุกก้าวของการเคลื่อนไหวลงได้ แต่ไม่สามารถปิดพื้นที่ของข่าวที่ปรากฏบนหน้าสื่อ

เพราะที่ห้ามนั้นเองคือประเด็นของ “ข่าว”

การรายงานทั้งภาพและข่าวการแสดงออกที่บริเวณแยกราชประสงค์ และการแสดงละครใบ้ที่วัดปทุมวนารามจึงมีการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง

เป็นการเผยแพร่บนมาตรการ “ห้าม” ของคสช.

จากผลสะเทือนเช่นนี้จึงน่าเป็นห่วงต่อแต่ละ “มาตรการ” ของคสช.เป็นอย่างยิ่งในประเด็นทางการเมือง

เป็นไปได้ยากอย่างยิ่งที่คสช.จะตามไปห้าม “สื่อ” มิให้รายงาน ไม่ว่าจะเป็นสื่อหนังสือพิมพ์และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อออนไลน์

เพราะ “สื่อ” จำเป็นต้องทำหน้าที่ของตนอย่างซื่อสัตย์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน