คอลัมน์ หลากหลาย : ยาเสพติดลดหรือเพิ่ม? ช่วงโรคโควิด-19ระบาด

แม้จะเป็นช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด แต่ภัยต่อสุขภาพและสังคมระดับชาติที่เป็นอมตะอย่าง ‘ยาเสพติด’ ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องสำรวจติดตามอย่างใกล้ชิด

สำนักงานกองทุนสนับ สนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) ภายใต้การสนับสนุนของ สสส.จัดงานแถลงข่าว “สถานการณ์ยาเสพติดในช่วงระบาดของโควิด-19 ลดน้อยลงหรือโดด เพิ่มขึ้น”

เชิญ ดร.สุริยัน บุญแท้ ผู้จัดการ SAB รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้จัดการ ศศก. และ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วย ผู้จัดการกองทุน สสส. ร่วมพูดคุย

ดร.สุริยัน ผู้จัดการ SAB เริ่มแถลงว่า ตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19 เราพบว่าการพบเห็นยาเสพติดมีน้อยลง แต่ยังคงมีผู้เสพอยู่แม้จะน้อยลง เนื่องจากผู้เสพกังวลถึงสุขภาพตัวเองว่า การรับสารเสพติดเข้าไปในตอนนี้อาจจะทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายแย่ลง ประกอบกับมีการกำหนดเวลาเคอร์ฟิวทำให้การเข้าถึงยาเสพติดยากขึ้น

การสำรวจการรับรู้ความเสี่ยงและพฤติกรรมการใช้สาร เสพติดในช่วงการระบาดของโควิด-19 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 15 ปีขึ้นไป 1,825 ราย ในหลายจังหวัด สำรวจเมื่อวันที่ 20-24 พ.ค. ที่ผ่านมา พบกลุ่มตัวอย่างเกินครึ่ง คือร้อยละ 61.2 รู้ว่าการใช้สารเสพติดเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ขณะที่ ร้อยละ 79.3 รู้ว่าสารเสพติดทำลายภูมิต้านทานของร่างกาย ติดเชื้อง่าย

ที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 12.8 พบเห็น/รับรู้ว่ามีการใช้สารเสพติดในชุมชน โดยบุคคลที่ใช้สารเสพติดส่วนใหญ่เป็นเพื่อนบ้าน รองลงมาคือ คนในชุมชน นอกจากนี้ ร้อยละ 7.6 ยังพบเห็น/รับรู้ว่ามีการซื้อขายสารเสพติดในชุมชน โดยผู้ขายครึ่งหนึ่งเป็นคนในชุมชน

ดร.สุริยันกล่าวต่อว่า การสำรวจยังถามถึงการใช้สารเสพติดในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา โดยกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 4.6 มีการใช้สารเพสติด อาทิ กัญชา ใบกระท่อม รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ แต่ในช่วงการระบาดโควิด-19 มีแนวโน้มใช้สารเสพติดน้อยลง ร้อยละ 29.8 หรือบางรายไม่ใช้เลย จึงนำเหตุผลของคนที่ไม่ใช้ยาเสพติดในช่วงนี้มาต่อยอดได้

ด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า ประเทศไทยรับมือกับการระบาดของ โควิด-19 ได้เป็นอย่างดี จากผลสำรวจของ SAB ในช่วงการระบาดของโควิด-19 มีผู้ใช้สารเสพติดรวมถึงแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลงอย่างมาก ในกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่ใช้สาร เสพติดร้อยละ 4.6 เป็นผู้ใช้สารเสพติดประเภทใบกระท่อมลดลงถึง 1 ใน 3 หรือ ร้อยละ 39 ดื่มแอลกอฮอล์ลดลง ร้อยละ 56.4 สูบบุหรี่ลดลง ร้อยละ 28.1

“แต่ขณะนี้ปัญหายาเสพติดในเด็กและเยาวชนไทยยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กอายุ 12-19 ปี ที่ใช้สารเสพติดมากถึง 3.72 ในปี 2562 โดยครึ่งหนึ่งกำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ครอบครัวต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับเด็ก เมื่อมีความเข้าใจกันในครอบครัวเด็กจะเปิดใจและรับข้อมูลที่ถูกต้องนี้ไปและหันไปหาสารเสพติดน้อยลง

กลุ่มสารเสพติดที่ใช้เพิ่มขึ้น คือ กัญชา พืชกระท่อม และเฮโรอีน และมีแนวโน้มการใช้สารเสพติดผิดกฎหมายมากกว่าหนึ่งชนิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สสส. และภาคีเครือข่าย ดูแลปัญหาด้านสุขภาพของคนไทยเรามีข้อมูลตรงนี้เยอะ และจะเกื้อกูลการดูแลสุขภาพคนไทยต่อไป พร้อมทั้งส่งต่อนโยบายต่างๆ ให้ภาครัฐต่อไป” ดร.นพ.ไพโรจน์กล่าว

ขณะที่ รศ.พญ.รัศมน เสริมว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนวินเชสเตอร์คอลเลจ ประเทศอังกฤษ สำรวจร่วมกัน เรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคมในช่วงการระบาดโรคโควิด-19 กับผลทางสุขภาพจิตในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาในอังกฤษและไทย

ผลศึกษาเบื้องต้นพบเยาวชนมีภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลสูงร้อยละ 42-62 และใช้สารเสพติดในช่วงโควิด-19 ระบาด เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ กัญชา ใช้เพื่อการสันทนาการ

รศ.พญ.รัศมนกล่าวต่อว่า กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มผู้ใช้สารเสพติดประเภทสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ที่เสพโดยการสูดควันเข้าสู่ร่างกาย เช่น ไอซ์ ยาบ้า กัญชาแบบสูบ ซึ่งเป็นอันตรายต่อปอดโดยตรง หากติดโควิด-19 จะมีอาการที่แย่ลงกว่าคนปกติ เนื่องจากเชื้อไวรัสเข้าไปทำลายปอด

รวมถึงสารที่มีฤทธิ์ระงับอาการปวดกลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) เช่น ฝิ่น เฮโรอีน หรือยาแก้ปวด จะส่งผลให้ผู้ติดเชื้อ มีอาการทรุดลง เพราะออกฤทธิ์กดประสาททำให้หายใจช้าลง และระดับออกซิเจนในเลือดลดลงตาม

“หากโควิด-19 ระบาดในไทยรอบ 2 แพทย์ต้องเตรียมรับมืออาการของโรคที่เกิดจากผลข้างเคียงในผู้ใช้สารเสพติด ทั้งนี้ ผู้เสพยาเสพติดถือเป็นกลุ่มที่เปราะบาง ในช่วงที่มีผู้ใช้สารเสพติดลดลง รัฐควรออกมาตรการต่อเนื่องหรือเพิ่มเติม

เพื่อให้สารเสพติดเข้าถึงประชาชนได้ยากขึ้น รวมถึงสร้างความเข้าใจกับประชาชน ไม่รังเกียจหรือกีดกันผู้ติดยาเสพติด เพื่อให้คนในกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงแพทย์ได้อย่างเต็มที่เมื่อติดเชื้อโควิด-19 ข้อมูลการใช้ยาเสพติดที่ลดลงใน สถานการณ์โควิดเป็นเรื่องที่คาดการณ์ไว้ได้อยู่แล้ว

เนื่องจากมีการรวมกลุ่มลดลงประกอบกับมาตรการต่างๆ ที่ออกมาด้วย เมื่อลดลงแล้วก็ต้องรณรงค์ต่อเนื่องด้วย” รศ.พญ.รัศมนกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน