คอลัมน์ ข่าวสดพระเครื่อง : พุทธรูป-เจดีย์ศิลปะพม่า วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่

วัดพระธาตุช่อแฮ – ผู้ที่เข้ากราบสักการะที่วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง วัดคู่บ้านคู่เมือง ของ จ.แพร่ และวัดประจำปีเกิดปีขาล อาจแปลกใจว่า เหตุใดถึงพบเห็นพระพุทธรูป เจดีย์ ศิลปะพม่าปะปนอยู่ กับพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนและศิลปะรัตนโกสินทร์ รวมไปถึงเจดีย์ศิลปะล้านนา

พระโกศัยเจติยารักษ์ รองเจ้าคณะ จังหวัดแพร่ และเจ้าอาวาสวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง กล่าวว่า หากพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวมาที่วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวงแห่งนี้ จะพบสิ่งก่อสร้างศิลปะพม่าอยู่ 6 อย่าง เป็นที่น่าแปลกใจว่า มาได้อย่างไร?

อย่างที่ 1 พระเจ้านอน ทางบันไดนาคก่อนที่ขึ้นสู่องค์พระธาตุช่อแฮ จะพบศาลาพระเจ้านอน และพระเจ้านอน พระพุทธรูปปางไสยาสน์

ปูนปั้น ลงรักปิดทอง ศิลปะพม่า สกุลช่างมัณฑะเลย์

พระวรกายทอดยาวใน ท่าปางไสยาสน์ ประทับบนแท่นสูง (เตียง) ที่ประดับด้วยไม้ลายฉลุ ลวดลายพันธุ์พฤกษา พระพักตร์กลม พระหัตถ์ขวายกขึ้นรับ พระเศียร พระหัตถ์ซ้ายทอดยาวไปตาม พระวรกาย ครองจีวรห่มเฉียง เป็นริ้วซ้อนทับกันแบบอย่างพระพุทธรูปศิลปะพม่า สร้างโดยพ่อจองปัน จิต๊ะแค และแม่ออน ปรางสุวรรณ ในปี พ.ศ.2459 ซึ่งในสมัยก่อนผู้ที่ขึ้นสักการะองค์พระธาตุ ต้องเข้าไปกราบพระเจ้านอนก่อน

อย่างที่ 2 พระพุทธรูปพม่า 2 องค์ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ศิลปะพม่า ประดิษฐานอยู่ด้านซ้ายหลวงพ่อช่อแฮ พระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธธูปที่งดงาม สะดุดตาอย่างยิ่ง ที่ส่งให้พระประธานในพระอุโบสถโดดเด่นยิ่งขึ้น สันนิษฐานว่าก่อสร้างเมื่อสร้างหลวงพ่อช่อแฮ แล้วเสร็จ

อย่างที่ 3 ซุ้มมณฑปพระเจ้าทันใจ เป็นเจดีย์ทรงปราสาทแบบพม่า อยู่ด้านหลังเจดีย์พระธาตุช่อแฮ ในส่วนตอนล่างของเจดีย์ จะเป็นช่องคูหา ทะลุสามด้าน ภายในประดิษฐานพระเจ้าทันใจ ปางสมาธิ เสาซุ้มพระเจดีย์ตกแต่งด้วยปูนปั้นประดับกระจก ส่วนหน้าบันเป็นรูปปูนปั้นทอง ลายพันธุ์พฤกษา แบบพม่า มุมด้านบนมณฑป ประดับด้วยหม้อดอกไม้ปูรณฆฏะ

อย่างที่ 4 พระเจ้าทันใจหรือหลวงพ่อทันใจ ปางสมาธิ ลงรักปิดทอง ศิลปะเชียงแสน สร้าง พ.ศ.2464 ผู้สร้างส่างคำปัน เป็นชาวไทยใหญ่ (เงี้ยว) แม้จะเป็นศิลปะเชียงแสน แต่ผู้สร้างเป็นชาวพม่า จึงทำให้พระเจ้าทันใจที่วัดแห่งนี้ ผสมผสานระหว่างศิลปะพม่ากับสมัยเชียงแสน

อย่างที่ 5 ซุ้มปราสาทประตูทางเข้าพระธาตุ ทั้ง 4 ทิศ สร้าง พ.ศ.2460 และบูรณะขึ้นใหม่ลงรักปิดทอง

อย่างที่ 6 เจดีย์ “เฮคแมน” บรรจุกระดูกคหบดีค้าไม้ชาวพม่า อยู่ด้านทิศตะวันออกใกล้กับซุ้มมณฑปพระเจ้าทันใจ ลักษณะเจดีย์เป็นรูปทรงกลม ลวดลายศิลปะพม่าอย่างเห็นได้ชัดเจน

ทำไมวัดพระธาตุช่อแฮ วัดคู่บ้านคู่เมืองจ.แพร่ จึงมีศิลปะพม่าปะปนอยู่

พระโกศัยเจติยารักษ์ รองเจ้าคณะจังหวัดแพร่ เจ้าอาวาสวัด พระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง กล่าวต่อว่า จากการสันนิษฐาน ในปี พ.ศ.2426 รัฐบาลสยาม อนุญาตให้บริษัทต่างชาติเข้ามาสัมปทานป่าไม้ในเมืองแพร่

ซึ่งมีบริษัท บอมเบย์ เบอร์มา ของอังกฤษ บริษัทดังกล่าวมีความชำนาญในการทำป่าไม้จากพม่า เนื่องจาก ป่าไม้ยังอุดมสมบูรณ์ และค่าสัมปทานถูกกว่าในพม่า จึงได้นำคนงานชาวเงี้ยวหรือไทใหญ่ กะเหรี่ยง พม่า เพื่อช่วยทำไม้ และจากคำบอกเล่ากล่าวอีกนัยหนึ่งว่า

ชาวพม่าที่เข้ามาค้าขายอยู่เมืองแพร่สมัยนั้น ประกอบกับคนประเทศพม่าเป็นคนที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างเหนียวแน่น จะสร้างวัดเพื่อเป็นสถานที่ทำบุญ และอุทิศส่วนกุศลให้กับตนเองในภายภาคหน้าและบรรพบุรุษตามความเชื่อ จะสังเกตเห็นวัดพม่าในจ.แพร่ มี 3 วัดที่เห็นได้ ชัดเจน ได้แก่ วัดสระบ่อแก้ว วัดต้นธง และวัดจอมสวรรค์

ส่วนวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง มีศิลปะพม่าปะปนอยู่เห็นชัดเจนที่สุด 6 อย่าง ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ในขณะที่อาคาร บอมเบย์เบอร์มา อาคารแห่งประวัติศาสตร์นี้ สร้างในปี พ.ศ.2432 แต่ถูกรื้อถอนไปแล้ว

แต่ที่วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง ยังมีศิลปะพม่าให้เข้ามาชื่นชม ศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวพม่าที่เข้ามาอาศัยอยู่เมืองแพร่

จึงอาจเป็นสิ่งที่แปลก ด้วยวัดแห่งนี้ ไม่ใช่วัดพม่าในประเทศไทย แต่มีสิ่งก่อสร้างศิลปะพม่าปะปนอยู่

โดย…สมฤทธิ์ ชัยพลังฤทธิ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน