คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ฝ่าวิกฤตรอบใหม่ – พลันที่โควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ มติเอกฉันท์ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. คือให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจใดๆ

เพราะตามที่กนง.อธิบาย ตอนนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง แม้เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่อเนื่อง

จึงยังต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การมองภาพรวมทางเศรษฐกิจของ กนง.ค่อนไปเชิงบวก ด้วยความเชื่อว่าภาครัฐจะบริหารจัดการควบคุมเชื้อได้

การระบาดน่าจะอยู่ในวงจำกัด และกินระยะเวลาไม่นานเพียง 1-2 เดือน

การมองทิศทางบวกดังกล่าว ทำให้กนง.ปรับคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจ หรือจีดีพีของไทย ปี 2563 ติดลบน้อยลงที่ร้อยละ -6.6 จากตัวเลขเดิม -7.8

ส่วนทิศทางเศรษฐกิจปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.2 ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 เพราะภาคการท่องเที่ยวต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่

กนง.คำนวณจากสมมติฐานเรื่องนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงเหลือ 5.5 ล้านคน จากเดิม 9 ล้านคน

ดังนั้นต้องลุ้นสถานการณ์การระบาดทั้งในต่างประเทศที่เริ่มฉีดวัคซีนแล้ว และทั้งในประเทศที่เชื้อหวนกลับมา ระบาดหลายจังหวัด

แม้ในแง่สาธารณสุข การคาดหวังที่จะควบคุมเชื้อได้รวดเร็วยังมีความเป็นไปได้ แต่สำหรับเศรษฐกิจของชาวบ้าน หมายถึงความยากลำบากที่หวนกลับมาน่าวิตกอีกครั้ง

ช่วงเวลาเฉพาะหน้านี้หมายถึงการยกเลิกกิจกรรมส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่อย่างกว้างขวาง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ส่งผลสะเทือนต่อการหารายได้โดยรวมของประชาชน

ข่าวที่รัฐบาลออกมาขณะนี้คือการตั้งงบประมาณประจำปี 2565 วงเงินงบประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท เป็นงบขาดดุล 7 แสนล้านบาท เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ร้อยละ 3.5 โดยมีงบใช้เยียวยาผลกระทบโควิด-19 จากพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท

แต่นโยบายหรือวิสัยทัศน์ของรัฐที่ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นหรือมั่นใจขณะนี้จะอาศัยด้านหนึ่งด้านใดไม่ได้ ต้องพร้อมทั้งด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และการเมืองที่ขับเคลื่อนฝ่าวิกฤตไปได้ด้วยกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน