เหมือนกับการปรากฏเป็น “ข่าว” จาก นายชวน หลีกภัย จะเป็นเรื่องปกติอย่างธรรมดายิ่งสำหรับ “นักการเมือง” โดยทั่วไป

ไม่ใช่หรอก

เพราะหากมองผ่านสถานะของ นายชวน หลีกภัย ไม่ว่าที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีถึง 2 รอบ ไม่ว่าที่เคยเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

แทบไม่มีความจำเป็นอะไรเลย

หรือเพราะว่าที่จังหวัดตรังอันเป็นฐานใหญ่ทางการเมืองของ นายชวน หลีกภัย อยู่ในสภาพ “ช้างเหยียบนา พญาเหยียบเมือง” เพราะมีบุคคลระดับนายกรัฐมนตรีเดินทางไปเยือน

ก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้อง “เป็นข่าว”

ย้อนกลับไปสำรวจต่อฐานที่มาแห่งข่าวก็จะต้องยอมรับว่า สารที่ นายชวน หลีกภัย นำมาแถลงเป็นเรื่องเก่าตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน มาแล้ว

นั่นก็คือ หนังสือที่ทำถึง “นายกรัฐมนตรี”

ทั้งๆ ที่เป้าหมายสำคัญนอกจากนายกรัฐมนตรีแล้วยังเป็น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แต่ นายชวน หลีกภัย ก็ส่งผ่านรองนายกรัฐมนตรีอีกท่านหนึ่ง คือ นายวิษณุ เครืองาม

หัวข้อเรื่องที่เน้น คือ รายได้ต่อครัวเรือนประชาชนภาคใต้ลดลง

แม้จะอ้างตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ แต่ นายชวน หลีกภัย เน้นไปยัง 14 จังหวัดภาคใต้ และเจาะเฉพาะลงไปยังจังหวัดตรัง

เห็นไหมละว่าความผูกพันยังอยู่ “บ้านเกิด”

หากมองจากพื้นฐานของ นายชวน หลีกภัย ที่เป็นนักการเมืองและมาจากการเลือกตั้ง นายชวน หลีกภัย สันทัดเรื่องการเมือง แต่ไม่สันทัดในเรื่องเศรษฐกิจ

การเน้นเรื่องเศรษฐกิจจึงนับว่า “แหลมคม”

ประเด็นก็คือ เป็นการตั้งข้อสงสัยต่อคำประกาศของรัฐบาลที่ว่าเศรษฐกิจดี และต่อคำประกาศของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ว่าอีกไม่นานจะไม่มี “คนจน” เหลืออยู่

ปมเงื่อนอยู่ตรงที่ นายชวน หลีกภัย ไม่เชื่อ

ทั้งยังเป็นความเชื่อบนพื้นฐานที่ นายชวน หลีกภัย ตระหนักว่ารายได้ของประชาชนลดลง และคนมิได้มีสถานะกระเตื้องขึ้นแต่อย่างใด

ตรงนี้นับว่าแย้งโดยตรง

มองลงไปในรากฐานอันก่อรูปขึ้นในทางการเมืองของ นายชวน หลีกภัย มองลงไปในบทบาทและการเคลื่อนไหวในกาลอดีต

จังหวะก้าวของ นายชวน หลีกภัย ถือว่าคมแหลม

คมแหลมตรงที่ย้ำเตือนให้ตระหนักในบทบาทการเป็น ส.ส. การเป็นผู้แทนราษฎร ที่ต้องสนใจต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

ไม่ว่าจะมี “สภา” หรือไม่มี “สภา” ก็ตาม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน