คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

ลาออกไม่ยาก ยากตรงตัดใจ – เสียงร้องตะโกนขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกฯ

ดังกึกก้องทุกครั้งในการชุมนุมของเยาวชน นักศึกษา และประชาชนเรือนหมื่นเรือนแสน

ภายใต้ข้อเรียกร้องนายกฯ ลาออก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายเนติ บริกร ชี้แจงลำดับขั้นตอนไว้ในที่ประชุมรัฐสภาวันก่อน

ว่าหากพล.อ.ประยุทธ์ลาออก ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 มีเงื่อนไข

นายกฯ คนใหม่ต้องมาจากบัญชี ชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไว้ตั้งแต่ครั้งเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562

ขณะนี้มี 5 คน จากเดิม 7 คน โดย ตัดนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้า พรรคอนาคตใหม่ กับพล.อ.ประยุทธ์ ออกไป

คนจะเป็นนายกฯ ต้องได้คะแนน เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภาที่มีอยู่ขณะนี้

คือ 366 เสียงจากสมาชิกที่มีสิทธิ์ออกเสียงได้ในปัจจุบันทั้งสิ้น 732 คน

ตามตัวเลขดังกล่าวต่อให้ส.ว.งดออกเสียง ทั้งหมด ส.ส.ก็ต้องหากันมาให้ได้ 366 เสียง หากไม่ได้ ก็จะเป็นข้อกฎหมายว่า ถึงทางตัน แล้วจะทำอย่างไร

หลายคนเสนอให้พรรคพลังประชารัฐ เทเสียงให้พรรคฝ่ายค้านยกใครขึ้นมาเป็นนายกฯ สามารถทำได้

แต่ต้องคำนึงเรื่องสิทธิของแต่ละฝ่ายด้วย เพราะนายกฯ ก็ได้รับเสียงเรียกร้องเหมือนกันว่าอย่าออก ก็ต้องพิจารณาว่า จะอย่างไรต่อไป

ส่วนข้อเสนอทำประชามติสอบถามประชาชนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยที่จะให้นายกฯ ลาออก

ปัญหามีอยู่ว่าจะตั้งคำถามอย่างไร เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 166 ห้ามทำ ประชามติออกเสียงเรื่องตัวบุคคล แต่หากหาช่องทางที่แยบคายและ แนบเนียน ก็น่าจะพิจารณาได้

นายวิษณุชี้แจงให้เห็นภาพลำดับความยุ่งยากพอสมควร

แต่สังคมก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่าทำไมตอนตัดสินใจทำรัฐประหาร ยึดอำนาจตอนปี 2557 ไม่เห็นคิด มากมายขนาดนี้ เพราะถ้าคิดมากหน่อยก็คงไม่ทำ

หรือแม้กระทั่งการจัดตั้งรัฐบาล คสช. ตั้งแม่น้ำ 5 สาย เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ให้ตัวเองได้เปรียบ ออกกฎกติกาเลือกตั้งให้ตัวเองเป็นฝ่ายชนะ เฟ้นหา 250 ส.ว.เข้ามาโหวตให้ตัวเองกลับมาสืบทอดอำนาจเป็นนายกฯ อีกสมัย

กระบวนการขั้นตอนสลับซับซ้อนยุ่งยากกว่าเยอะ ก็ยังทำได้มิใช่หรือ

แต่ทำไมเวลาจะสละอำนาจ ถึงได้ยุ่งยากนัก

 

มันฯ มือเสือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน