เบื้องหลัง ครม. กรณีม็อบจะนะ
คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
กรณีม็อบจะนะ – ชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เดินทางกลับภูมิลำเนา จ.สงขลา เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.
หลังยกขบวนมาปักหลักชุมนุมค้างคืนหน้าทำเนียบรัฐบาลนาน 6 วัน 5 คืน คัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ
ชาวบ้านพอใจผลประชุมครม. ที่มีมติตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบจากโครงการ ดึงกลุ่มหนุน-กลุ่มต้านเข้ามาร่วมหารือแนวทางแก้ปัญหา พร้อมสั่งชะลอการประชุมผังเมืองใหม่ ส่งผลให้ตัวโครงการต้องชะลอตามไปด้วย
เรื่องเหมือนจะจบด้วยดี หากแต่มีเบื้องหลังน่าสนใจ
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ ผู้สนับสนุนชาวบ้านกลุ่มคัดค้านโพสต์เฟซบุ๊กว่า
หลังชาวจะนะบรรลุข้อตกลงเอ็มโอยูกับรัฐมนตรีธรรมนัส และนำเข้าที่ประชุมครม.รับทราบ ส่งผลให้เกิดการชะลอโครงการและตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาทิศทางการพัฒนาจะนะที่ควรจะเป็น
ถือเป็นชัยชนะของชาวบ้าน แต่ก็มีรายการเช็กบิลตามมา
หมอสุภัทรระบุ ทราบว่าในที่ประชุมครม. 15 ธ.ค. รัฐมนตรีช่วยจากพรรคสีฟ้าที่เป็นนายหน้ารวบรวมที่ดินโกรธมาก ถึงขั้นบอกนายกฯ ให้ย้ายหมอสุภัทรออกนอกพื้นที่
วันรุ่งขึ้นฝ่ายต้องการสร้างนิคมยังส่งชาวจะนะ 10 คนมาที่กระทรวงสาธารณสุข ยื่นหนังสือขอให้สอบจริยธรรมข้าราชการของหมอสุภัทร
“ผมมีโอกาสพูดคุยกับผู้ใหญ่ในกระทรวงแล้วถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น และครม.ได้แต่งตั้งผมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการศึกษาด้วย เพื่อให้มีโอกาสพูดคุยด้วยเหตุด้วยผลบนโต๊ะเจรจา ซึ่งเป็นทางออกที่ดีที่สุดเข้าใจว่าผู้ใหญ่ในกระทรวงเข้าใจบทบาทของผมในเรื่องนี้ จึงน่าจะยังไม่โดนย้าย” หมอสุภัทรระบุ
สื่อรายงานด้วยว่า ในครม. พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวเตือนธรรมนัส ว่าการไปลงนามในเอ็มโอยูเท่ากับยินยอมทำตามนั้นทั้งหมด จึงควรแก้ไขไม่ให้ผูกมัดครม.เกินไป
หากไม่แก้ไขและทำตามข้อเรียกร้องไม่ได้ คนเสนอต้องรับผิดชอบ
รมช.จากพรรคสีฟ้าคือใคร? ทำไม รมว.มหาดไทยไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาเอ็มโอยู?
เป็นคำถามน่าสนใจอย่างยิ่ง