กลายเป็นหัวข้อทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ภายในเวลาสั้นๆ

สำหรับนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล เติม 10,000 บาทให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปใช้จับจ่ายสินค้าในรัศมี 4 ก.ม.จากที่อยู่ในบัตรประชาชน ต้องใช้ให้หมดใน 6 เดือน มีครั้งเดียว ไม่ผูกพันต่อเนื่อง

นโยบายดังกล่าวของพรรคเพื่อไทย ทำให้กระแสความนิยมของพรรคช่วงเลือกตั้งจากเดิมสูงอยู่แล้วดีดตัวขึ้นไปอีก

ทำให้ชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค เป็นที่จดจำของประชาชนกว้างขวางมากขึ้น

ขณะเดียวกันก็ยังส่งแรงสั่นสะเทือนไปถึงพรรคคู่แข่งในสนามเลือกตั้งไม่น้อย

อาจกล่าวได้ว่ากระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ออกมากลบกระแสบางพรรคที่เคยเสนอเติมเงินบัตรสวัสดิการ 700 บาทกับ 1,000 บาท ให้ดับสนิท

ประเด็นโจมตีของพรรคฝ่ายตรงข้าม นอกจากการหมิ่นแคลนว่าเป็นแค่ประชานิยมหวังผลทางการเมือง ไม่สามารถทำได้จริง เพราะต้องใช้เงินงบประมาณมหาศาลหลายแสนล้าน

บางพรรคเรียกร้องให้ กกต.รีบยื่นมือเข้ามาตรวจสอบว่านโยบายหาเสียงดังกล่าวผิดกฎหมายเลือกตั้ง เข้าข่ายสัญญาว่าจะให้หรือไม่

เบื้องต้น นายแสวง บุญมี เลขาฯ กกต.ชี้แจงว่า

ตามกฎหมาย การกำหนดนโยบายที่มีการใช้จ่ายเงินต้องมี 3 เงื่อนไขคือ 1.วงเงินที่ต้องใช้ ที่มาของเงิน 2.ความคุ้มค่า ประโยชน์ในนโยบาย และ 3.ผลกระทบ ความเสี่ยง

เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนพิจารณาตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคนั้นหรือไม่

“นโยบายแบบนี้ถือว่าไม่ใช่การสัญญาว่าจะให้ แต่ถ้าไม่มีข้อมูล 3 เงื่อนไขดังกล่าว อาจผิดฐานเข้าข่ายหลอกลวงตามกฎหมายเลือกตั้งได้” เลขาฯ กกต.ระบุ

และเมื่อคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยออกชี้แจงเพิ่มเติมใน 10 ประเด็น

ทุกอย่างก็ชัดเจน กระเป๋าเงินดิจิทัลไม่ใช่คริปโตเคอร์เรนซี ไม่ใช่เงินสกุลใหม่ ไม่เกี่ยวกับบริษัทเอกชน ไม่สามารถนำไปเก็งกำไร ทั้งยังมีความปลอดภัย โปร่งใสสูงสุด

สิ่งที่พรรคเพื่อไทยชี้แจง รวมถึงสิ่งที่นายเศรษฐา ทวีสิน ปราศรัยและให้สัมภาษณ์ในรายละเอียด จะถูกรวบรวมส่งต่อไปยังกกต.เพื่อตอบคำถาม 3 เงื่อนไข

จากนั้นก็ขึ้นอยู่กับพรรคฝ่ายตรงข้ามจะเข้าใจหรือไม่ หรือแกล้งทำเป็นไม่เข้าใจ ว่านโยบายบางอย่างที่พรรคของตนเองคิดไม่ได้ ทำไม่เป็น แล้วบอกว่าเป็นไปไม่ได้

แต่หากพรรคอื่นเขาคิดได้ คิดเก่ง และทำเป็น

ก็สมควรให้ประชาชนพิจารณาตัดสินชี้ขาดผ่านบัตรเลือกตั้งว่าจะเลือกพรรคแบบใด ให้เข้ามาทำงานบริหารประเทศในอีกตลอด 4 ปีข้างหน้า

มันฯ มือเสือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน