ทิ้งหมัดเข้ามุม

มันฯ มือเสือ

ไม่ว่าพรรคการเมืองจากการร่วมกันจัดตั้งโดยพรรคพวกของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะใช้ชื่ออะไร ใช่ “พรรคพลังประชารัฐ” หรือไม่

ก็ถูกเรียกแบบเหมารวมว่า “พรรค คสช.”

เป้าหมายเด็ดขาด คือ ผลักดัน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ให้จงได้

มีการประเมินเส้นทางการกลับมาเป็นผู้นำรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์หลังการเลือกตั้ง ว่ามีอยู่ 2 วิธีด้วยกัน คือ

เส้นทาง “คนนอก” และเส้นทาง “คนใน”

ทั้ง 2 วิธียากง่ายต่างกัน

เส้นทางคนนอกนั้น รัฐสภาต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 500 เสียง จากสมาชิกทั้งหมด 750 เสียงในการยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี จากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้

ด้วยวิธีนี้ ถึงแม้ผู้มีอำนาจปัจจุบัน จะมี 250 ส.ว.อยู่ในมือ ก็ยังต้องพึ่งเสียงสนับสนุนจากส.ส.อีก 250 คน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

โดยเฉพาะภายหลังจาก 2 พรรคใหญ่แสดงจุดยืนชัดเจนแล้วว่าไม่เอา “คนนอก”

เส้นทางนี้จึงน่าจะไปต่อลำบาก

ดังนั้น การให้พรรคการเมืองที่จัดเตรียมไว้เสนอชื่อ จึงน่าจะเป็นเส้นทางที่ง่ายกว่า

เพราะในการลงมติถ้าได้ 375 เสียง ก็เป็นนายกฯได้ทันที เมื่อมี 250 ส.ว.แล้วก็ต้องการส.ส.อีก 125 คน

แต่ช่องทางนี้มีความยากอยู่ตรงเงื่อนไขว่า พรรคที่เสนอชื่อจะกระทำได้เพียงพรรคเดียวและต้องเป็นพรรคที่มี ส.ส.อย่างน้อย 25 คน

เป็นส.ส. 25 คนที่เป็นกุญแจสำคัญดอกแรก ในการไขไปสู่ความสำเร็จของแผนการซึ่งวางไว้อย่างเป็นระบบตลอดช่วงเวลาเกือบ 5 ปีก่อนเลือกตั้ง

จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ หากว่าจากนี้เป็นต้นไปจะได้เห็นพรรคคสช. เดินหน้า

โชว์ “พลังดูด” อดีตส.ส.จากพรรคการเมืองเดิม

กรณี นายสกลธี ภัททิยกุล จากพรรคประชาธิปัตย์ กรณี นายสนธยา และ นายอิทธิพล คุณปลื้ม จากพรรคพลังชล

เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน