“รุก กลางกระดาน”

กลายเป็นเรื่องราวที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

สำหรับกรณีข้อมูส่วนตัวของประชาชน ที่ประกอบด้วยบัตรประชาชนและใบขับขี่ ที่ถูกใช้เปิดเบอร์ “ทรูมูฟเอช” กว่า 11,400 เลขหมายหลุดรั่วออกมาในโลกออนไลน์

โดยทั้งหมดถูกเก็บไว้ในคลาวด์สโตร์ของอมาซอน เอส 3 ผู้ให้บริการพื้นที่จัดเก็บข้อมูลออนไลน์ระดับโลก

ส่วนสาเหตุจะเป็นอย่างไรอย่างที่นักวิจัยความปลอดภัยในระบบอินเตอร์เน็ตชาวต่างชาติ ระบุว่าเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ทรูที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลไปเปลี่ยนค่าความเป็น “ส่วนตัว” ให้กลายเป็น “สาธารณะ”

เปรียบเทียบได้กับการสร้างป้อมปราการที่แข็งแรง แต่กลับเสียบกุญแจค้างไว้ให้ใครเข้าไปได้ง่ายๆ

ส่วนจะเป็นเพราะความชุ่ย สะเพร่าขององค์กร หรือที่สงสัยกันว่าจงใจเปิดช่องเพื่อขายข้อมูลลูกค้า

ก็เป็นเรื่องที่ต้องสืบสาวราวเรื่องกันต่อไป

นอกจากนี้ ยังต้องไปตรวจสอบอีกว่าทำไมถึงทิ้งเวลาให้เนิ่นนานนับเดือน ถึงจะไปแก้ไขตั้งค่าให้ถูกต้องเรียบร้อย

หรือจะเป็นอย่างที่ทรูกล่าวอ้างว่าถูกแฮ็กข้อมูลด้วยเครื่องมือพิเศษ ก็ต้องไปพิสูจน์กันต่อไป

จะฟ้องร้องดำเนินคดีคนแจ้งเตือน หรือจะไปเรียกค่าเสียหายกับคลาวด์สโตร์ก็ให้ทำกันชัดๆ

อย่าแค่แก้เขิน หรือเป็นมวยล้มต้มคนดู

ที่แน่ๆ ทรูฯ ย่อมต้องประสบปัญหาความเชื่อมั่น และประชาชนทั่วไปที่เป็นลูกค้าต้องถูกละเมิดสิทธิ์!!?

จึงกลายเป็นคำถามว่าแล้วขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร

ทรูฯ จะแจ้งเตือนผู้เปิดเบอร์ทั้ง 11,400 เลขหมาย หรือไม่ว่าข้อมูลของพวกเขาเหล่านี้ไม่เป็นความลับอีกต่อไป

เพื่อจะได้ป้องกันให้ถูกวิธี

เพราะอย่าลืมว่าเมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็มีผู้หญิงคนหนึ่งติดคุกที่จ.ตาก เพราะทำบัตรประชาชนหาย แล้วมีคนนำไปเปิดบัญชีให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ที่สำคัญในส่วนของภาครัฐ จะต้องมีมาตรการอะไรเพื่อคุ้มครองประชาชนที่ถูกละเมิด

พร้อมรับรู้ถึงความสำคัญของข้อมูลที่หลุดรั่วออกไป

ไม่เช่นนั้น หากเอาคนตกยุค ไม่รู้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลง มาเป็นคนกำหนดยุทธศาสตร์ชาติอนาคตประเทศ 20 ปี

แค่คิดก็ขนพองสยองเกล้ำแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน