นวัตกรรมอายุ4หมื่นปี หนึ่งในสิ่งก่อสร้างเก่าแก่ที่สุดด้วยฝืมือมนุษย์

นวัตกรรมอายุ4หมื่นปี – วันที่ 29 มิ.ย. เดลีเมล์รายงานถ่ายทอดเรื่องราวของหนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่ที่สุดโดยน้ำมือของมนุษย์จากภูมิปัญญาของชนเผ่านียัมปา หนึ่งในชนเผ่าอะบอริจินที่อาศัยอยู่ในทวีปออสเตรเลีย โดยนักโบราณคดียกย่องให้เป็นนวัตกรรมอะบอริจินที่น่าเชิดชู

นวัตกรรมอายุ4หมื่นปี

นวัตกรรมดังกล่าวหากมองผ่านๆ แล้วนั้นมีรูปร่างเหมือนแนวโขดหินที่กระจัดกระจายอยู่ตามลำธาร สามารถพบเห็นได้ตามลำน้ำเมืองบรีวาร์รีนา ของรัฐนิวเซาท์เวลส์ แต่แท้จริงแล้วเป็นกับดักปลาที่ว่ายทวนน้ำขึ้นมา คาดว่าสร้างไว้ตั้งแต่เมื่อราว 40,000 ก่อน

ลักษณะของโขดหินดังกล่าวนั้นเรียงตัวเป็นแนวรูปร่างเหมือนหยดน้ำ โดยเมื่อปลาว่ายเข้ามาแล้วบรรดาชนเผ่าก็จะนำหินก้อนสุดท้ายปิดทางเข้าไว้แล้วเริ่มจับพวกมันมาปรุงอาหาร โดยชาวเผ่านียัมปา เรียกบ่อดักปลาเหล่านี้ว่า นูกุนนูฮู

นวัตกรรมอายุ4หมื่นปี

ดร.ดันแคน ไรท์ นักโบราณคดี กล่าวว่า อารยธรรมของชนเผ่าอะบอริจินเหล่านี้นั้นมีความเจริญและสลับซับซ้อนมากกว่าที่คาดไว้ ตั้งแต่ก่อนที่คนผิวขาวจะเข้ามายึดครองทวีปออสเตรเลีย โดยบ่อดักปลาดังกล่าวเป็นภูมิปัญญาที่เฉียบแหลมมาก

ดร.ไรท์ กล่าวชื่นชมว่า บ่อดักปลาเหล่านี้ไม่ขวาง หรือเปลี่ยนเส้นทางน้ำ สามารถปรับระดับได้ตามระดับน้ำแต่ละฤดู และสามารถถูกทิ้งไว้ได้อย่างถาวรไม่ต้องดูแลรักษา โดยบ่อดักปลาเหล่านี้คาดว่าเป็นบ่อเก่าแก่ ไม่เหมือนกับที่ค้นพบหลายๆ แห่งที่มีอายุเพียง 1-3,000 ปีก่อนเท่านั้น

รายงานระบุว่า บ่อดักปลาเก่าแก่แห่งนี้เริ่มถูกรื้อถอนทำลายไปในช่วงปีค.ศ. 1860-1920 หลังผู้ย้ายถิ่นฐานจากยุโรปขนย้ายโขดหินดังกล่าวไปสร้างที่อยู่อาศัยของตัวเอง ส่งผลให้บรรดาชนเผ่าอะบอริจินพยายามซ่อมแซมและรักษามรดกทางวัฒนธรรมดังกล่าวไว้

ล่าสุด สภารัฐนิวเซาท์เวลส์มีมติให้บ่อดักปลาโบราณเหล่านี้ถือเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ต้องได้รับการคุ้มครองระหว่างปีค.ศ. 1986-2009 และขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของออสเตรเลียคั้งแต่ปีค.ศ. 2005

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน