พื้นที่ภัยพิบัติ-8อำเภอ
5หมื่นครัวเรือนสาหัส

ปัตตานีอ่วมน้ำท่วมเกือบทั้งเมือง แถมฝนยังตกกระหน่ำซ้ำน้ำทะเลหนุน มวลน้ำไหลหลากเข้าท่วมเขตเทศบาลเมือง จนต้องปิดเส้นทางจราจรทำเอารถติดไปทั้งเมือง ล่าสุดถึงขั้นประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติถึง 8 อำเภอ และยังต้องเฝ้าระวังทั้ง 12 อำเภอด้วย พบมีผู้สูญหายไปแล้ว 1 ปภ.เผยเหตุทำไมถึงท่วมหนัก เพราะเป็นพื้นที่รับน้ำจากหลายสาย ก่อนจะมาไหลลงสู่ทะเลที่อ่าวปัตตานี ส่วนที่จ.นราธิวาส สถานการณ์เริ่มเข้าสู่สภาวะปกติหลังฝนหยุดตก ด้านนายกฯก็ห่วงสถานการณ์ ขอให้ผ่านสถานการณ์ไปได้โดยเร็ว พร้อมสั่งเร่งทุกภาคส่วน ให้ออกไปช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่

เมื่อวันที่ 10 ม.ค. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิด เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นห่วงประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย กองทัพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือประชาชน ทั้งขนย้าย อพยพ เร่งระบายน้ำ มอบสิ่งของเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบสถานการณ์อุทกภัยอย่างต่อเนื่อง

“นายกฯ ให้กำลังใจประชาชนที่กำลังเผชิญกับอุทกภัยในขณะนี้ และขอให้ผ่านสถานการณ์ไปได้โดยเร็ว ยืนยันรัฐบาล จะดูแลประชาชนอย่างดีที่สุด พร้อมขอบคุณ เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน ฝ่ายปกครอง กองทัพ อาสาสมัคร ที่ช่วยกันแก้ไขปัญหาความ เดือดร้อนของประชาชนอย่างเข้มแข็ง โดย ขอให้ทุกคนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัด ระวัง เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและตนเอง” น.ส.ไตรศุลีกล่าว

น.ส.ไตรศุลีกล่าวอีกว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่า อุทกภัยครั้งนี้กระทบประชาชนใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย สงขลา ยะลา นราธิวาส และปัตตานี รวม 31 อำเภอ 171 ตำบล 908 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 51,078 ครัวเรือน ทางนายกรัฐมนตรีกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปให้การช่วยเหลือ ซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชน เตรียมความพร้อมสำรวจความ เสียหาย เพื่อฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบตามเกณฑ์ที่กระทรวงการคลัง กำหนด

วันเดียวกันที่จ.ปัตตานี ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดว่า ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานียังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากปริมาณน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับยังมีฝนตกลงมาต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่เขตเทศบาลเมืองปัตตานี รวมไปถึงย่านเศรษฐกิจหลัก จากเดิมน้ำท่วมมา 2 วันแล้ว ปรากฏว่าทำให้ระดับน้ำยิ่งเพิ่มขึ้นเกือบทั้งเมืองจมอยู่ใต้น้ำหมดแล้วถึง 80% ถนนหลักหลายสายในเขตเทศบาลเมือง มีระดับน้ำสูง 20-30 ซ.ม. บางสายก็ต้องปิดการจราจร เพราะไม่สามารถใช้ได้ ประชาชนที่มีร้านค้าริมถนน หรือห้างร้านก็ต้องนำอิฐบล็อกหรือกระสอบทรายมากั้นน้ำ บางร้านก็ปิดตัวลงก่อน โดยเฉพาะพื้นที่บางแห่งติดแม่น้ำปัตตานีที่ต. จะบังติกอ เข้าขั้นหนักสุดเนื่อง จากในพื้นที่ลุ่มต่ำระดับน้ำสูงเกือบ 1 ถึง 1 เมตรครึ่ง

ขณะที่เส้นทางเข้าเมือง หรือประตูเมือง บริเวณถนนหนองจิก ต.รูสะมิแล ถือเป็นสายหลักย่านเศรษฐกิจปรากฏว่าน้ำได้ท่วมสูง เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องปิดเส้นทางขาออกเพราะระดับน้ำสูงกว่า 30-40 ซ.ม. เปิดให้รถใช้สัญจรเส้นทางขาเข้าเพียงทางเดียว การจารจรติดขัดเนื่องจากมีรถเป็นจำนวนมากเข้าออก ซึ่งจุดนี้มีมวลน้ำจำนวนมากที่ไหลแรงข้ามฟากฝั่งมาจากต.ปะกาฮารัง จนเป็นจุดที่อันตรายสำหรับรถจักรยานยนต์และรถยนต์ ที่ต้องผ่านเข้าออกตัวเมือง บางคันถึงขั้น เครื่องดับ เจ้าหน้าที่เทศบาลและกู้ภัยต้อง เข้ามาอำนวยความสะดวก

นายพิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงเช้านี้ปริมาณน้ำได้เอ่อล้นเข้ามามากขึ้น เนื่องจากเขื่อนบางลางที่ปล่อยน้ำออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อประชาชนในเมืองปัตตานี ตอนนี้นอกจากน้ำที่ไหลเข้ามาทางแม่น้ำปัตตานีที่เอ่อล้นอยู่แล้ว ก็ยังมีอีกทางหนึ่งคือจากทางพื้นที่ตำบลปะกาฮะรัง ไหลผ่านท่อลอดทางถนนเส้น 418 ไหลมาสมทบเข้ามาในเมืองอีก 2 ทาง จนทำให้ปริมาณน้ำเข้าท่วมมามากขึ้นและขยายกว้างขึ้น ทำให้ในตัวเมืองปัตตานีขณะนี้ท่วมอยู่เกือบหมดเมืองแล้ว คาดว่าวันนี้น้ำจะยังเพิ่มอยู่ต่อเนื่อง

นายพิทักษ์กล่าวอีกว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดปัตตานีรุนแรงยิ่งกว่าเดิม เพราะเมื่อคืนที่ผ่านมาเกิดมีฝนตกหนักในพื้นที่ ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูงขึ้นมาอีก ทำให้ปริมาณน้ำที่สูงอยู่เดิมแล้วก็สูงขึ้นไปอีก ล่าสุดเมื่อเวลา 06.30 น.ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ระดับน้ำขึ้นสูงสุด ปรากฏว่าถนนสายขาเข้าตัวเมืองปัตตานีน้ำได้ท่วมแล้วตลอดเส้นทาง นอกจากนี้ยังพบว่าระดับน้ำตามคูคลองต่างๆ ยังคงเอ่อล้นไหลลงสู่ถนนภายในเขตเทศบาลเมืองปัตตานีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ถนนสายต่างๆ ตรอก ซอก ซอย ระดับน้ำสูงขึ้นไปอีก จนบางแห่งรถไม่สามารถผ่านไปได้แล้ว ส่วนพื้นที่ที่อยู่ติดริมแม่น้ำปัตตานี สถานการณ์น้ำก็ยังย่ำแย่ลงไปอีก โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.ปะกาฮะรัง ต.บาราเฮาะ ต.ตะลุโบ๊ะ และอ.เมือง ชาวบ้านต้องเร่งนำรถยนต์ รถจักรยาน ยนต์ นำไปจอดไว้บนสะพานสูงบนถนนสายหลักจนเป็นทางยาว และยังพบว่าชาวบ้านต้องนำเต็นท์มากางไว้บนถนนสายหลักเพื่อทำเป็นที่พักชั่วคราว เนื่องระดับน้ำในหมู่บ้านขณะนี้ระดับน้ำสูง 1-2 เมตรแล้ว บางหมู่บ้านถูกตัดขาดจากภายนอก มีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนกว่า 500 ครัวเรือน

ล่าสุดทางจังหวัดได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ เป็น 8 อำเภอแล้ว ประกอบด้วย อ.เมือง อ.หนองจิก อ.ยะรัง อ.แม่ลาน อ.สายบุรี อ.ไม้แก่น อ.กะพ้อ และ อ.ทุ่งยางแดง และประกาศเป็นพื้นที่เฝ้าระวังทั้ง 12 อำเภอ เนื่องจากว่า มวลน้ำที่ไหลลงมาสู่แม่น้ำทั้ง 2 สาย ทั้งแม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำปัตตานี มีปริมาณมากไม่มีทีท่าว่าจะลดลง โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเทศบาลเมือง มวลน้ำยังคงขยายเข้าท่วมถนนสายต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต้องประกาศปิดเส้นทางการจราจรไปแล้ว 2 เส้นทางเนื่องจากมีน้ำท่วมสูงได้แก่ ถนนพิพิธ และถนนปรีดา ห้ามไม่ให้รถทุกชนิดผ่านแล้ว ส่วนถนนทางเข้าเมืองและถนนสายต่างๆ ระดับน้ำก็สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ขณะเดียวกันมีรายงานการค้นหาชาวบ้านที่พลัดตกลงในแม่น้ำปัตตานี เหตุเกิดเมื่อ วันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา บริเวณเชิงสะพานเฉลิมพระเกียรติ จะบังติกอ ถ.โรงอ่าง ต.สะบารัง จำนวน 3 ราย สามารถช่วยเหลือไว้ได้ 2 ราย ยังสูญหายอีก 1 ราย ทราบชื่อคือ นายอิรฟาน ยะโก๊ะ อายุ 18 ปี วันนี้นาย สมนึก พรหมเขียว รองผวจ.ปัตตานี พร้อมเจ้าหน้าที่ปภ.ปัตตานี ได้นั่งเรือตรวจการณ์ของสำนักงานเจ้าท่าออกเร่งค้นหาร่างของ นายอิรฟาน โดยออกตรวจตั้งแต่ท่าเรือหน้าศาลหลักเมือง จนกระทั่งถึงปากอ่าวปัตตานี เป็นระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร แต่ยังไม่พบร่างของนายอิรฟานแต่อย่างใด

ด้านนายกาส เส็นโต๊ะเย็บ หัวหน้าสำนักงานปภ.ปัตตานี เปิดเผยว่า สาเหตุที่ทำให้ปัตตานีถึงเกิดน้ำท่วมสูงในหลายจุด เพราะไทม์ไลน์เส้นทางการเดินทางของมวลน้ำจากที่ต่างๆ ในพื้นที่ปัตตานีแบ่งแม่น้ำออกเป็น 2 สาย คือแม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำสายบุรี โดยแม่น้ำปัตตานีนั้นจะรับน้ำจากเขื่อนบางลางที่จังหวัดยะลา ไหล่ลงมาสู่แม่น้ำปัตตานีในพื้นที่ของอ.ยะรัง ผ่านอ.แม่ลาน อ.หนองจิก และจุดสุดท้ายก็จะไหล่ลงมาสู่พื้นที่อ.เมือง จึงทำให้เป็นพื้นที่สุดท้ายรับน้ำทั้งหมดก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเล ทำให้ได้รับผลกระทบหนักกว่าที่อื่น

นายกาสกล่าวต่อว่า ส่วนแม่น้ำสายบุรีนั้นจะรับน้ำจาก 2 จังหวัด ได้แก่ อ.รามัน จ.ยะลา และอ.สุคิริน อ.รือเสาะ และอ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำสายบุรี และขยายไปสู่อ.ไม้แก่น อ.ทุ่งยางแดง อ.สายบุรี และอ.กะพ้อ แต่สถานการณ์น้ำในแม่น้ำสายบุรีจะไม่หนักเท่าแม่น้ำปัตตานี เพราะมวลน้ำจากที่ต่างๆ ที่จะไหล่ลงสู่ปากอ่าวปัตตานี ต้องผ่านเขตพื้นที่ของอ.เมืองปัตตานี ทำให้เป็นพื้นที่รับน้ำทั้งหมด ทำให้สถาน การณ์น้ำในพื้นที่หนักกว่าที่อื่น ประกอบกับมีน้ำทะเลหนุนเลยทำให้คูคลองต่างๆ เอ่อล้นเข้าท่วมถนนสายต่างๆ แต่ขณะนี้ถึงเขื่อนบางลางยังคงปล่อยน้ำออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปริมาณก็ลดลงจนเหลือระดับน้ำของเขื่อนเพียง 1 เมตรจาก 2 เมตร และจะทยอยลดลงมาเรื่อยๆ ซึ่งมวลน้ำจากเขื่อนบางลางจะไหลผ่านมาสู่พื้นที่ของจังหวัดปัตตานี น่าจะใช้เวลาประมาณ 48 ชั่วโมง ดังนั้นมวลน้ำที่ค้างอยู่ก่อนหน้านี้ก็ยังคงค้างอยู่ ดังนั้นสถานการณ์น้ำท่วมยังคงอยู่อีกหลายวัน ตอนนี้ทางจังหวัดได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว 8 อำเภอ แต่ก็ประกาศให้มีการเฝ้าระวังทั้ง 12 อำเภอด้วย เพื่อป้องกันหากมีฝนตกหนักในพื้นที่และขยายวงกว้างของมวลน้ำด้วย ส่วนความเสียหายในขณะนี้มีทั้งสิ้น 8 อำเภอ 35 ตำบล 131 หมู่บ้าน 9 ชุมชน 10,508 ครัวเรือน ที่ได้รับผลกระทบในขณะนี้

ที่จ.นราธิวาส นายกิตติพนธ์ วุฒิวงศ์ หัวหน้าสำนักงานปภ.นราธิวาส กล่าวว่า ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดนราธิวาส ได้สรุปรายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จากเหตุฝนตกหนักต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 2-8 ม.ค. ที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำฝนสะสม 7 วัน สูงสุด 5 อันดับ ในพื้นที่ของอ.สุคิริน 625.20 มิลลิ เมตร อ.ศรีสาคร 572.80 มิลลิเมตร อ.แว้ง 507.40 มิลลิเมตร อ.เจาะไอร้อง 444.60 มิลลิ เมตร และอ.รือเสาะ 434.60 มิลลิเมตร เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ได้รับผลกระทบ 13 อำเภอ 70 ตำบล 37 ชุมชน 450 หมู่บ้าน 25,211 ครัวเรือน 91,099 คน สถานศึกษา วัด ที่พักสงฆ์ และมัสยิด ได้รับผลกระทบรวม 47 แห่ง มีผู้อพยพ 122 ครัวเรือน 392 คน

ทางจังหวัดนราธิวาส องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอ หน่วยทหาร และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ต่างเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยอย่างเต็มที่ ล่าสุดธนาคารออมสินร่วมกับกองทัพเรือยังได้มอบถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภคโดยมอบผ่านนายไพโรจน์ จริตงาม รองผวจ.นราธิวาส เพื่อส่งมอบให้กับผู้ประสบภัยต่อไป

ล่าสุด แนวโน้มสถานการณ์ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำสายหลักของจังหวัดนราธิวาส ลุ่มน้ำสายบุรีระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ ลุ่มน้ำบางนราและลุ่มน้ำโก-ลกยังอยู่ในเกณฑ์ล้นตลิ่ง อย่างไรก็ตามขณะนี้ในพื้นที่ฝนได้หยุดตกทิ้งช่วง ต่อเนื่อง คาดว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะทรงตัวและค่อยๆ คลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติต่อไป

จมปัตตานี – จนท.เทศบาลเมืองปัตตานี เร่งจัดการจราจรและช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ หลังมีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูงจนระดับน้ำล้นแม่น้ำปัตตานี ทะลักเข้าท่วมย่านเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 10 ม.ค.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน