พท.ลั่น-อย่ายื้อ
จ่อถล่มรายคน
หน่อยโต้ชูป้อม
จับมือตั้งพรรค

‘สุดารัตน์’ โต้ข่าวจับมือ ‘บิ๊กป้อม’ ตั้งพรรคทหาร ลั่นยืนฝ่ายตรงข้ามเผด็จการมาตั้งแต่ยุคพฤษภาทมิฬ 35 พรรคฝ่ายค้านดีเดย์ 25 ม.ค. ยื่นญัตติซักฟอกรัฐมนตรีรายคน ขอ‘ชวน’เปิดไฟเขียวระเบิดศึก 17 ก.พ. คาดล็อกเป้าถล่ม ‘3 ป.-อนุทิน-สุชาติ’ ส.ส.ฝ่ายค้าน 145 คนเข้าชื่อยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญถอดถอน ‘สิระ’ อีกรอบ อัยการสั่งฟ้องคดี ‘ธนาธร’ ลงสมัครส.ส.ทั้งที่ขาดคุณสมบัติ จากกรณีถือหุ้นสื่อ นัดฟัง คำสั่งต่อไป 19 ก.พ.

‘เจ๊หน่อย’โต้ร่วมตั้งพรรคทหาร

เมื่อวันที่ 15 ม.ค. คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานมูลนิธิไทยพึ่งไทย อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย(พท.) โพสต์เฟซบุ๊กยืนยันไม่ได้ไปร่วมตั้งพรรคทหารซึ่งมีบิ๊กป้อม -พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ตามที่มีโซเชี่ยลเผยแพร่ข้อมูลว่า ตามที่มีความพยายามในการปล่อยข่าวโดยผู้ไม่ปรารถนาดีว่า ดิฉันจะไปร่วมตั้งพรรคกับทหาร ขอเรียนยืนยันว่าจากพฤษภาทมิฬ 35 ผ่านมาถึงวันนี้ 29 ปี ตลอดชีวิตทางการเมือง ดิฉันยืนตรงข้ามเผด็จการมาตลอด

ดิฉันยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่มีวันก้มหัวให้เผด็จการ และไม่มีวันที่จะยอมเป็นบันไดให้เผด็จการเหยียบยืนขึ้นไปเพื่อสืบอำนาจอย่างเด็ดขาด ใครที่ปล่อยข่าวว่าดิฉันจะร่วมมือกับเผด็จการ หันมาร่วมมือกัน ขับไล่เผด็จการ ดีกว่ามั้ย

ฝ่ายค้านดีเดย์ 25 ม.ค.ยื่นซักฟอก

เมื่อเวลา 10.00 น. ที่พรรคเสรีรวมไทย แกนนำ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน อาทิ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย (สร.) นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ประชุมร่วมกัน เพื่อหารือเตรียมความพร้อมเปิดอภิปรายลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี

ต่อมาเวลา 12.30 น. มีการแถลงข่าวร่วมกันหลังการประชุม โดยพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ตกลงกันแล้วว่าจะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ซึ่งจะดำเนินการให้ได้ภายในกลางเดือนก.พ.

นายประเสริฐกล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 25 ม.ค. เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา คาดว่านายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะใช้เวลาตรวจสอบญัตติไม่เกิน 7 วัน จากนั้นส่งให้รัฐบาลเพื่อตอบกลับมา ส่วนเวลาอภิปราย กี่วันนั้น ขึ้นอยู่ที่เนื้อหา และข้อมูลอภิปราย โดยการอภิปรายจะต้องจบเนื้อความ ผู้เสนอญัตติสามารถอภิปรายได้เต็มที่ เรายึดข้อบังคับข้อนี้เป็นหลัก ขณะนี้พรรคฝ่ายค้านพร้อมแล้วที่จะตรวจสอบการทำงานของฝ่ายรัฐบาล

หวังได้อภิปราย 17 ก.พ.

ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า การอภิปรายจะเริ่มเมื่อไรหรือกี่วัน ต้องเป็นไปตามญัตติ ตราบใดที่ยังอภิปรายไม่จบ ก็ถือว่าญัตตินั้นยังไม่จบ นี่คือการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ ซึ่งประธานสภา ต้องเร่งบรรจุญัตตินี้ เพราะถือเป็นญัตติ ที่สำคัญ ถ้าบรรจุวันพุธที่ 17 ก.พ.ได้ จะดีมาก เพราะจะมีเวลาอย่างน้อย 3 วันในการอภิปราย แต่ถ้าเขาจะอภิปรายยาวถึงวันเสาร์ ก็ต้องว่ากันต่อไป แล้วค่อยลงมติในวันรุ่งขึ้นอีกวัน

นายชัยธวัชกล่าวว่า เมื่อพรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นญัตติในวันที่ 25 ม.ค. ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะบรรจุญัตติเกินสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนก.พ. ไม่มีเหตุผลใดที่รัฐบาล และประธานสภา จะยืดเวลาออกไป การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้จะต้องไม่มีการอภิปรายนอกสภาอีก

ล็อกเป้าถล่ม‘3ป.-อนุทิน-สุชาติ’

ผู้สื่อข่าวถามว่าประเด็นที่ตั้งเป้าจะอภิปรายมีอะไรบ้าง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ตอบว่า เนื้อหาในส่วนนี้จะแถลงในวันที่ยื่นญัตติเลย วันนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ส่วนตัวบุคคลที่จะถูกอภิปรายนั้น ฝ่ายค้านเห็นตรงกันแล้ว เพราะจะอภิปรายเป็นรายบุคคล เมื่อถามถึงนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ อยากร่วมอภิปรายกับฝ่ายค้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าวว่า เป็นเอกสิทธิ์ของเขา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรัฐมนตรีที่อยู่ข่ายจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ อาทิ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย หรือกลุ่ม 3 ป. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เป็นต้น

ยื่น 145 ชื่อร้องถอด‘สิระ’อีกรอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยังนำรายชื่อส.ส.แต่ละพรรค มอบให้กับพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เสนอคำร้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถอดถอน นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ จากกรณีนายสิระ เคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงปทุมวันว่ากระทำความผิดอาญา ฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 อีกครั้ง

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ แถลงว่า กรณีศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ยื่นเรื่องขอให้ถอดถอนนายสิระ ก่อนหน้านี้ เนื่องจากมีสมาชิกร่วมลงชื่อไม่ถึง 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกตามที่กฎหมายกำหนด ในวันนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านได้นำรายชื่อ ของส.ส.มายื่นให้ตนอีกครั้ง ประกอบด้วยพรรคเสรีรวมไทย 10 คน พรรคเพื่อไทย 104 คน พรรคก้าวไกล 27 คน พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ พรรคพลังปวงชนไทยและพรรคไทยศรีวิไลย์ อย่างละ 1 คน รวมรายชื่อทั้งหมด 145 คน ในวันนี้ตนจะให้เจ้าหน้าที่ไปยื่นญัตติต่อสำนักเลขาธิการสภา เพื่อส่งเรื่องไปยังนายชวน และเมื่อตรวจสอบความถูกต้องแล้ว ขอให้รีบส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย อย่าใช้เวลานาน

นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในส่วนของพรรคที่ยื่นมา 27 คน เป็นคนในพื้นที่ กทม. เป็นหลัก เพราะคนที่อยู่ต่างจังหวัดติดโควิดยังไม่สามารถมาเซ็นชื่อได้ ก็รอให้มีไปรษณีย์มา ถ้าเข้ามาครบก็จะยื่นเพิ่ม โดยสมาชิกทั้ง 53 คนของเรายินดีเซ็นชื่อครบทั้งหมด

กมธ.จ่อชงแก้พ.ร.ก.ซอฟต์โลน

ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบ การใช้เงินตามพ.ร.ก. 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผล กระทบจากการระบาดของโควิด-19 สภา ผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ตนนัดประชุมกมธ.ในวันที่ 20 ม.ค. เพื่อขอมติต่อการเสนอความเห็นไปยังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้ใช้อำนาจ ออกพ.ร.ก.เพื่อแก้ไข พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 พ.ศ.2563 (ซอฟต์โลน) หลังจากพบว่าเนื้อหาไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ข้อเสนอดังกล่าวเป็นการหารือร่วมกันของตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตัวแทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ตัวแทนคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เห็นว่าการดำเนินการตามพ.ร.ก.ดังกล่าวยังมีปัญหา แม้หน่วยงานจะปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้วจึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติจะช่วยเหลือด้านการแก้ไขกฎหมาย

“หากนายกฯเห็นด้วยต่อการออกพ.ร.ก. เพื่อแก้ไข แทนที่จะใช้กระบวนการของสภาออกเป็นพ.ร.บ. จะทำให้การแก้ไขรวดเร็ว โดยภายในเดือนมี.ค.หรือเม.ย. สามารถปรับปรุงได้ แต่หากใช้ขั้นตอนของสภา อาจใช้เวลาเกือบปีถึงจะสำเร็จ และไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันได้ ส่วนกมธ.ที่ประกอบด้วยตัวแทนของทุกพรรค ยังมีความเห็นต่อการเสนอร่างพ.ร.บ.เพื่อแก้ไขพ.ร.ก.ซอฟต์โลน และเตรียมลงมติเพื่อนำเสนอให้ประธานสภา เช่นกัน เพื่อแก้ไขในรายละเอียดที่เป็นเหตุขัดข้องต่อการช่วยเหลือประชาชน” นายไพบูลย์กล่าว

กกต.ถกจัดเลือกตั้งเทศบาล

วันเดียวกัน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นประธานประชุมคณะกรรมการประจำศูนย์อำนวยการและประสานงานการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรีนัดแรก ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมทุกด้านของการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 28 มี.ค. ก่อนที่ในวันที่ 1 ก.พ. กกต.จะประกาศให้มีการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ เปิดรับสมัคร วันที่ 8-12 ก.พ. และในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมร่วมกับกกต.จังหวัด ในการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่จะลงสมัครตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะหากไม่มีคุณสมบัติแล้วลงสมัคร ตามกฎหมายกำหนดให้กกต.ต้องดำเนินคดีอาญา ฐานรู้แล้วว่าไม่มีสิทธิลงสมัคร แต่ยังลงสมัครรับเลือกตั้ง

ที่ผ่านมาผู้สมัครส่วนใหญ่จะรู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่สิทธิ แต่ก็ยังมาลงสมัคร โดยเฉพาะกรณีต้องคำพิพากษาจำคุก ซึ่งปัจจุบันการตรวจสอบเรื่องการต้องคดีเพียงประสานไปยังศาลยุติธรรมก็สามารถทำได้โดยง่ายโดยใช้เลขบัตรประจำตัว 13 หลักตรวจสอบ จึงไม่อยากให้ผู้ที่สนใจลงสมัครรับเลือกตั้งแล้วรู้ว่าตนเองไม่มีคุณสมบัติมาลงสมัคร

ส่วนกรณีผู้สมัครนายกและสมาชิกสภาเทศบาล จะนำประเด็นการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปใช้ในการหาเสียง พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวว่า หากเป็นนโยบายที่จะทำประโยชน์เพื่อท้องถิ่นก็สามารถจะทำได้ ไม่เข้าข่ายเป็นการสัญญาว่าจะให้ หรือจูงใจให้เลือก ไม่เหมือนกับประกาศว่าจะยกเงินเดือนทั้งเดือนให้ อย่างนี้ถือว่าเป็นการสัญญาว่าจะให้ ไม่สามารถทำได้

เปิดชื่อ 44 จว.-แขวนนายกอบจ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่กกต.ได้พิจารณารับรองผลการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ครบ 76 จังหวัด ล่าสุด ประกาศรับรองนายกอบจ.รวม 32 จังหวัด ยังไม่รับรอง 44 จังหวัด และสมาชิกสภาอบจ. 1,946 คน จากจำนวนสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้ง 2,316 คน ยังไม่รับรอง 370 คน

โดย 32 จังหวัดที่มีการรับรองนายกอบจ.แล้ว ประกอบด้วย กระบี่ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ชัยนาท ตราด ตาก นครนายก นครราชสีมา นครสวรรค์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พะเยา พังงา พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สมุทรสงคราม สิงห์บุรี สุโขทัย สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อุดรธานี อุทัยธานี

ส่วนนายกอบจ.ที่กกต.แขวนไว้ 44 จังหวัด ประกอบด้วย กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง นครปฐม นครพนม นครศรีธรรมราช นนทบุรี นราธิวาส น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา พัทลุง พิจิตร ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ยะลา ร้อยเอ็ด ระนอง ระยอง ลพบุรี เลย สกลนคร สงขลา สมุทรสาคร สระแก้ว สระบุรี สุพรรณบุรี สมุทรปราการ สุราษฎร์ธานี อำนาจเจริญ อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี

ในส่วนของสมาชิกสภาอบจ.ที่ประกาศรับรองครบทั้งจังหวัดมีเพียง 16 จังหวัด คือจังหวัดที่มีสมาชิก 24 คน ประกอบด้วย กระบี่ เพชรบุรี มุกดาหาร พังงา พะเยา ลำพูน สมุทรสงคราม สิงห์บุรี ,จังหวัดที่มีสมาชิก 30 คน ประกอบด้วย หนองคาย จันทบุรี ตาก ปัตตานี พัทลุง พิษณุโลก หนองบัวลำภู และร้อยเอ็ด ที่มีสมาชิก 36 คน

ทั้งกกต.มีเวลาพิจารณาเรื่องร้องเรียนอีก 30 วัน นับจากวันที่ 14 ม.ค. หากพิจารณาไม่แล้วเสร็จจะต้องประกาศรับรองผลไปก่อน

ก้าวหน้าส่งชิงทุกเทศบาล

นายชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กำลังเตรียมประกาศรับสมัครผู้สมัครในนามคณะก้าวหน้าอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะปิดรับสมัครในวันที่ 22 ม.ค. และคัดเลือกให้ทันวันรับสมัคร คือวันที่ 8 ก.พ. ใช้เกณฑ์เน้นคุณภาพ และอุดมการณ์ โดยคณะก้าวหน้าจะส่ง ผู้สมัครลงแข่งขันทุกเทศบาล เราจะนำบทเรียนจากการเลือกตั้งอบจ. มาเป็นนโยบาย หาเสียง

ผู้สื่อข่าวถามว่า การถอดบทเรียนจากการส่งชิงนายกอบจ. 42 จังหวัด แต่แพ้หมด จะนำมาสู่การปรับแผนหาเสียงทันหรือไม่ นายชำนาญกล่าวว่า เมื่อครั้ง อบจ. เราไม่ได้เข้าไปดูที่หน่วยเลือกตั้ง การเลือกตั้งเทศบาลครั้งนี้ จึงเน้นการส่งตัวแทนเข้าไปทุกหน่วยเลือกตั้ง โดยยืนยันหลักการเดิมคือ จะไม่ซื้อเสียงและจะขอสู้ทุกรูปแบบที่ไม่ผิดกฎหมาย

อัยการนัดฟังคำสั่งคดี‘ธนาธร’

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง นำตัวนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พร้อมสำนวนเห็นควรสั่งฟ้องคดี มาส่งต่อพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ในข้อหารู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครส.ส. ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมือง เสนอรายชื่อของตนเองเพื่อสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 151 สืบเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายธนาธร ถือหุ้นสื่อบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ขณะลงสมัครรับเลือกตั้ง และกกต.มีมติให้ดำเนินคดีอาญา

นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึงการส่งสำนวนในวันดังกล่าวว่า ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ และพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ได้นัดฟังคำสั่งคดีต่อไปในวันที่ 19 ก.พ. เวลา 09.00 น.

กมธ.ปลดล็อกพืชกระท่อมฉลุย

เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่…) พ.ศ…. โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานกมธ. แถลงหลังการประชุมว่า กมธ.ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ. ทั้ง 8 มาตราเสร็จแล้ว คาดว่าในวันที่ 27 ม.ค. น่าจะเข้าสู่การประชุมสภาในวาระ 2 และ 3

“ในชั้นกมธ. มีการปรับแก้มาตราเดียวคือ มาตรา 2 เกี่ยวกับระยะเวลาการบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากเดิม 180 วันเหลือ 90 วัน เพราะต้องมีระยะเวลาให้กับการออกกฎหมายรองตามมาคือ พ.ร.บ.พืชกระท่อม ที่เป็นการควบคุมและป้องกันไม่ให้เยาวชนไปยุ่งเกี่ยว และป้องกันการนำไปใช้เป็นสารเสพติด ซึ่งกมธ. ทุกคนพร้อมที่จะกลับมาร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อมอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและเป็นประโยชน์กับประชาชน มั่นใจว่าจะร่างทัน 90 วันแน่นอน” นายสมศักดิ์กล่าว

ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานกมธ. กล่าวว่า ข้อสรุปของร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ คือการนำพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 และยกเลิกบทลงโทษ ทำให้ประชาชนสามารถบริโภคได้โดยไม่มีความผิด เว้นแต่นำไปผสมสารเสพติดชนิดอื่น และช่วงระยะเวลา 90 วันหลังพ.ร.บ. ประกาศใช้ เราได้ขอความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายโดยอนุโลมและใช้ดุลพินิจพิจารณา

ที่ผ่านมามีคดีที่เกี่ยวกับพืชกระท่อมประมาณ 15,000 คดีต่อปี เมื่อกฎหมายฉบับนี้ออกมาจะทำให้เหลือ 3,981 คดี และจะช่วยชาวบ้านที่ใช้ตามวิถีชีวิต ไม่ต้องถูกจับเสียค่าปรับและติดคุก รวมถึงส่งเสริมพืชกระท่อมให้เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศด้วย ส่วนร่าง พ.ร.บ. พืชกระท่อม ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ อยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งผมจะเสนอให้พรรคประชาธิปัตย์ยกร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อมเพื่อเสนอไปพร้อมกับร่างของครม. โดยจะเชิญนายสมศักดิ์มาเป็นประธานกมธ. ชุดนี้ด้วย เพื่อให้การพิจารณารวดเร็ว

‘วิษณุ’แจงเทงบหนุนทำสื่อโควิด

เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมที่คณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ อนุมัติงบประมาณ 300 ล้านบาทให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ว่า การจัดสรรงบประมาณ 300 ล้านบาท มีความจำเป็น จะใช้เงินไม่ครบหรือไม่หมดก็ไม่เป็นไร แต่หากไม่ใช้อาจมีปัญหา เนื่องจากเป็นเงินกองทุนภาษีบาป (sin tax) หรือเป็นเงินที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดสรรมาให้ ไม่ใช่จากงบประมาณ หากไม่นำไปใช้ต้องส่งกลับคืน

โดยงบประมาณ 300 ล้านบาท ได้ถูกนำมาแบ่งเป็นโครงการต่างๆ เกี่ยวกับเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และคนพิการ หรือจะทำหนังเกี่ยวกับโควิด-19 ก็ได้ ซึ่งก็อยากให้ทำ

ผู้สื่อข่าวถามว่าในสถานการณ์ช่วงนี้ทำไมถึงต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก นายวิษณุกล่าวว่า ยิ่งในช่วงสถานการณ์แบบนี้ จำเป็นต้องผลิตสื่อมาช่วย เช่น การกินร้อน ช้อนกลางล้างมือ อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ เราอยากให้ทำหนังพวกนี้ออกมา โดยใช้เด็ก ใช้คนแก่ และคนพิการ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สังคมให้ความห่วงใย มาร่วม และตนยังได้ให้นโยบายไปว่าในช่วงที่วัคซีนโควิด-19 ที่กำลังจะเข้ามา จะมีคนกล้าฉีดกับคนไม่กล้าฉีด จึงต้องมีหนังพวกนี้ออกมาช่วยรณรงค์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทุนฯเปิดให้ผู้สนใจยื่นคำขอรับทุนในวันที่ 18 ม.ค. เป็น วันแรก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน