ม็อบฮือคุกคลองเปรม
126อจ.-นักกฎหมายชี้
ต้องได้สิทธิ์ประกันตัว
ดอนโวย‘มอ.’ให้ปวิน
สอนนศ.ทางออนไลน์

เพจราษฎรออกประกาศด่วน เชิญชวนร่วมชุมนุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบ่าย 3 วันนี้ ร่วมตะโกนให้รัฐรับรู้ความทุกข์ยากของประชาชน มาร่วมส่งเสียงให้ปล่อยเพื่อนเรา และรื้อสิ่งแปลกปลอม พร้อมเอาประชาธิปไตยคืนมา ด้าน 126 อาจารย์-นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ทนายความ และเครือข่ายกฎหมาย เข้าชื่อกันออกแถลงการณ์โต้แย้งต่อคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวแกนนำราษฎร 4 คน ระบุอยากเห็นฝ่ายตุลาการปฏิบัติหน้าที่โดยเป็นไปตามหลักการและบรรทัดฐานทางกฎหมาย และคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนในฐานะที่เป็นหลักคุณค่าสำคัญในสังคมเสรีประชาธิปไตย ‘ดอน’ อ้างที่ปรึกษาประธานาธิบดีไบเดนไม่ได้พูดถึงความกังวลต่อการใช้กฎหมายมาตรา 112 ของรัฐบาลไทย

เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.การต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ โทรศัพท์พูดคุยกับพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคง แห่งชาติ (สมช.) แสดงความกังวลเกี่ยวกับการจับกุมและดำเนินคดีตามมาตรา 112 กับ ผู้ชุมนุมว่า เข้าใจว่าเป็นความเข้าใจผิดของการนำเสนอข่าว ซึ่งในการพูดคุยกันระหว่างสหรัฐกับเลขาฯสมช. ไม่ได้พูดคุยกันในเรื่องนี้ แต่อาจจะมีการคุยกันในระดับเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นท่าทีปกติที่หวังว่าจะไม่มีเหตุการณ์วุ่นวาย รุนแรง บานปลาย เพราะสหรัฐทราบดีถึงการรับมือกับผู้ชุมนุมของรัฐบาลไทยว่าเป็นอย่างไร ซึ่งยังไม่มีความรุนแรงเหมือนประเทศ อื่นๆ และที่ผ่านมาสหรัฐก็เห็นการชุมนุมในไทย เป็นการชุมนุมที่มีการรับมือ ควบคุมสถานการณ์ได้เป็นปกติ ไม่มีความรุนแรงเหมือนประเทศอื่นๆ อย่างมากก็มีการฉีดน้ำ ซึ่งในหลักสากลแล้วถือว่าไม่รุนแรง

ผู้สื่อข่าวถามถึงนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเกียวโต ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง โพสต์ทวิตเตอร์ได้รับเชิญให้สอนออนไลน์วิชาการต่างประเทศ (สหรัฐ-จีน-อาเซียน) กับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) นายดอนกล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะบางครั้งการโพสต์อาจจะมีการแฝงสีสัน แต่มองว่าเรื่องนี้ไม่ปกติ จึงต้องสอบถามทางมหาวิทยาลัยถึงข้อเท็จจริงก่อนว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไร ตนในฐานะกำกับดูแลกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ยังไม่ได้สอบถามจากรัฐมนตรี ส่วนจะส่งผลกระทบต่อการศึกษาไทยหรือไม่นั้น ต้องหาข้อเท็จจริงก่อน เนื่องจากสิ่งที่พูดออกไปหรือแสดงความคิดเห็นต่างๆ คุมไม่ได้อยู่แล้ว และไม่รู้ว่าจะออกมาในแนวใด

“กรณีนี้ ไม่อยากเชื่อว่าจะเกิดขึ้น ถ้าเกิดขึ้นแสดงว่าเป็นปัญหาของมหาวิทยาลัย ผมมองว่าคนที่มีปัญหาอยู่แล้ว และถูกเชิญให้มาสอน แสดงว่าผู้เชิญเป็นคนมีปัญหา และหากมาสอนจริง มีการถ่ายทอดสิ่งที่เป็นปัญหาสารพัดให้กับเด็กโยงกันไปหมด ซึ่งเป็นเรื่องไม่สมควร ฉะนั้นคนที่เชิญต้องมีปัญหา โดยจะสั่งการให้กระทรวงอว. ตรวจสอบเรื่องนี้เป็นกรณีเป็นพิเศษ เพราะเอาคนที่มีปัญหากับชาติ กับสถาบัน และความมั่นคง มาถ่ายทอดปัญหาสู่เยาวชน ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องกับกระบวนการศึกษาของไทย” นายดอนกล่าว

เมื่อเวลา 15.30 น. วันเดียวกัน ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี จัดกิจกรรมวันศุกร์ ปลุกความยุติธรรม “เทียนขาว” พร้อมหัวใจที่ผูกพัน เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว 4 แกนนำราษฎรที่ถูกฝากขังอยู่ในเรือนจำ

บรรยากาศทั่วไป มีนายอาเล็ก โชคร่มพฤกษ์ ศิลปินราษฎร เล่นกีตาร์ร้องเพลงระหว่างรอมวลชนทยอยเดินทางมาถึง ขณะที่ทางเรือนจำได้นำสแลนต์กันแดดสีเขียวมาคลุมบริเวณประตู และมีตำรวจควบคุมฝูงชน(คฝ.) จำนวนหนึ่ง ยืนประจำการอยู่บริเวณด้านในรั้วเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ต่อมา เวลา 16.50 น. นพ.ทศพร เสรีรักษ์ แพทย์อาสา ได้เดินทางมาร่วมกิจกรรม พร้อมเผยว่า วันนี้ตนมานั่งวาดรูปให้เพื่อนของเรา 4 คน ที่ถูกนำตัวไปคุมขัง และจะให้ประชาชนได้เขียนส่งกำลังใจให้พวกเขา ส่วนตัวตนไม่เห็นด้วยที่ไม่ให้ประกันตัว เพราะตอนนี้ผิดไม่ผิดยังไม่ทราบ ต้องให้ผู้ต้องหาได้สู้คดีก่อน นำไปขังไว้แบบนี้ 1-2 ปี หากศาลตัดสินแล้วเขาไม่ผิด จะทำอย่างไร

นพ.ทศพรกล่าวอีกว่า ผู้ต้องหาไม่มีทีท่าว่าจะหลบหนี จึงขอเรียกร้องให้ยอมให้ประกันตัว และข้อเรียกร้องสุดท้าย ในเมื่อรัฐบาลพยายามสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์ ต้องสั่งยุติทุกคดีที่ทำอยู่ แล้วจึงมาพูดคุยหาทางออกร่วมกัน ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงโควิด-19 ไม่มีใครอยากมาชุมนุม จึงขอให้รัฐหยุดสร้างเงื่อนไขให้คนออกมาชุมนุม ทั้งนี้ เราจำเป็นต้องต่อสู้ เพราะรัฐบาลไม่มีความจริงใจ ถ้าปีนี้รัฐบาลยังไม่แสดงความจริงใจเรื่องรัฐธรรมนูญ ตนไม่ทราบ ว่าจะยืดยาวไปถึงเมื่อไหร่ แต่จะต่อสู้จนกว่าจะได้ชัยชนะ ต่อสู้ด้วยศิลปะ และสันติวิธี

จากนั้น เวลา 17.00 น. พ.ต.อ.สุเมธ โภชนา ผกก.สน.ประชาชื่น ได้เดินทางมาอ่านประกาศขอให้ยุติการชุมนุม เนื่องจากผิด พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ควบคุมโรค โดยระหว่างนั้นมีแนวร่วมเข้ามาเคาะตีหม้อ และตะโกนต่อว่าด้วยความไม่พอใจ

ต่อมาเมื่อเวลา 17.55 น. เครือข่ายคนรุ่นใหม่ นนทบุรี ได้อ่านแถลงการณ์ฉบับเร่งด่วน ต่อกรณีศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวและมีการฝากขังเมื่อวันที่ 9 ก.พ.ว่า เนื่องด้วยวันที่ 9 ก.พ. ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว นายพริษฐ์ นายอานนท์ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ว่าด้วยการที่กระทำผิด รวมทั้งสิ้น 11 ข้อหา จากเหตุการณ์ชุมนุมวันที่ 19-20 ก.ย.63 ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง

เครือข่ายเชื่อมั่นว่าผู้ที่กระทำผิดนั้นยังมีความบริสุทธิ์ ประกอบทั้ง 4 ท่านนั้นไม่เคยหลบหนี มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง รายงานตัวตามนัดหมาย จึงสมควรได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ทางเครือข่ายหวังว่าทั้งสี่ท่านจะได้รับความเป็นธรรม และได้รับการปล่อยตัวโดยไว ทั้งนี้ทางเครือข่ายยังขอเรียกร้องตามมติของกลุ่มราษฎร 3 ข้อเรียกร้อง

ขอเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 และไม่นำมาใช้กับผู้เห็นต่างทางการเมืองอีก พร้อมปล่อยเพื่อนเราที่โดนฝากขังอย่างไม่เป็นธรรม สุดท้ายนี้หากยังไม่ปล่อยเพื่อนเรา เราจะกลับมาที่นี่ทุกวันศุกร์ จนกว่าเพื่อนเราจะได้ออกมา

วันเดียวกัน น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง โฆษกกลุ่มราษฎร และแกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โพสต์ เฟซบุ๊กระบุว่า ถึง ธรรมศาสตร์ นักศึกษาธรรมศาสตร์โดน 112 ไปกี่คน นักศึกษาธรรมศาสตร์อยู่ในเรือนจำก็เพราะ 112 วันนี้เพื่อนของนักศึกษาคนนั้น ซึ่งตัวเองก็โดน 112 ด้วย จะทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์คือ การผูกธงยกเลิก 112 ที่ธรรมศาสตร์ แต่ก็โดนดึงธงออก โดนกีดกันทุกทางเพราะบอกว่าปกป้องมหาวิทยาลัย นักศึกษาคนนั้นเลยจะไปพบผู้บริหาร เพื่อพูดคุยเรื่องนักศึกษาที่โดน 112 ก็โดนกีดกันจากเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยไม่ให้ไปพบ

“สรุปแล้ว ธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน แต่ธรรมศาสตร์ไม่เคยรักฉัน ไม่เคยรักนักศึกษา ไม่แม้แต่จะออกมาสนับสนุนหรือปกป้องนักศึกษา ธรรมศาสตร์กลัวเสียชื่อเสียงเพราะนักศึกษาทำหน้าที่ของประชาชน พยายามปกป้องอนาคตของประชาชนคนไทย ธรรมศาสตร์เมินเฉย ธรรมศาสตร์มุดอยู่ในรูทั้งที่ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยนี้ มาจากการต่อสู้เพื่อประชาชนของนักศึกษารุ่นก่อน น่าผิดหวังเหลือเกิน ที่ธรรมศาสตร์ลืมที่มาของตัวเอง” น.ส.ปนัสยา ระบุ

ต่อมา เพจราษฎรได้โพสต์ข้อความนับ 1 ถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน พบกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 ตั้งแต่ 15.00 น. เป็นต้นไป

อีกนานแค่ไหนม็อบจะชนะ เมื่อไหร่เศรษฐกิจจะดีกว่านี้ รัฐบาลไม่เห็นหรือว่าประชาชนกำลังอดตาย ต้องเรียกร้องอีกกี่ครั้งสถาบันกษัตริย์จะปฏิรูป เมื่อไหร่ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตย ล้วนเป็นคำถามที่เรา ต่างสงสัย แต่ยังไม่มีใครรู้ว่าจะหาคำตอบได้อย่างไร

เพราะคำตอบไม่ได้มาจากใครคนหนึ่ง แต่คำตอบอยู่ที่เราทุกคน ทุกครั้งที่รวมพลังยิ่งทำให้เราส่งเสียงได้ไกลขึ้น ดังขึ้น และเข้าใกล้ชัยชนะมากขึ้นทุกวัน มาร่วมตะโกนให้รัฐรับรู้ความทุกข์ยากของประชาชน มาร่วมส่งเสียงให้ปล่อยเพื่อนเรา มาร่วมแสดงออกให้โลกรับรู้ว่าเราไม่เอามาตรา 112 มาร่วมนับ 1 ไปด้วยกันให้ถึง 1,000,000 เพื่อล้มระบอบศักดินาเผด็จการ ทวงคืนอำนาจให้ประชาชนได้อย่างแท้จริง

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 15.00 น. มาพบกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มาช่วยกันรื้อเอาสิ่งแปลกปลอมออกไป เอาประชาธิปไตยคืนมา

#ม็อบ13กุมภา #เยียวยาถ้วนหน้า #ปล่อยเพื่อนเรา #ยกเลิก112 #ราษฎร #TheRatsadon

วันเดียวกัน คณาจารย์ด้านนิติศาสตร์ เครือข่ายนักกฎหมายและนักกฎหมายจำนวน 126 คน ได้ร่วมกันลงชื่อ ออกแถลงการณ์ข้อโต้แย้งต่อคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวแกนนำราษฎร 4 คนว่าในฐานะคณาจารย์ด้านนิติ ศาสตร์ เครือข่ายนักกฎหมาย และนักกฎหมาย มีความเห็นอันหนักแน่นว่าสิทธิในการได้รับการประกันตัวของประชาชนเป็นหลักการอันสำคัญยิ่งที่สถาบันตุลาการซึ่งมีหน้าที่ทางกฎหมาย ทางสังคม ทางมนุษยธรรม และเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน จักต้องยืนหยัดและยึดมั่นในฐานะที่เป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน แม้สถาบันตุลาการจะถูกแวดล้อมด้วยแรงกดดันทางสังคมและการเมืองมากเพียงใดก็ตาม

สำหรับเหตุผลในการโต้แย้งต่อคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวแกนนำราษฎร 4 คน ดังต่อไปนี้

ประการแรก กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น นอกจากจะเป็นกฎหมายที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐในการรักษาความสงบเรียบร้อยแลว ยังเป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ดังนั้น การกระทำของรัฐที่เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐ จะกระทำได้ต่อเมื่อกรณีมีความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น

การควบคุมตัวตามกฎหมาย มีจุดมุ่งหมายเพื่อประกันว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะแสดงตัวต่อศาล และจะไม่ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน โดยหลักแล้วผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 107 แม้ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีจักเป็นหนึ่งในข้อพิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราวตามมาตรา 108 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อาทิ ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือจะเกิดความเสียหายต่อการสอบสวน

แต่หากพิจารณาจากพฤติการณ์ของนายอานนท์ นายพริษฐ์ นายสมยศ และนาย ปฏิวัฒน์ ได้แสดงให้สังคมเห็นอย่างต่อเนื่องและหนักแน่นว่าการกระทำของพวกเขาเป็นการกระทำโดยสงบ ปราศจากความรุนแรง และเปิดเผยต่อสาธารณะ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามทำนองคลองธรรมของระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้ ความร้ายแรงของโทษในคดีที่พวกเขาถูกกล่าวหานั้น ยิ่งมีเหตุอันสมควรยิ่งที่ประชาชนทั้งสี่จะต้องมีโอกาสในการต่อสู้คดีและพิสูจน์เจตนาอันบริสุทธิ์แห่งตนด้วยพยานหลักฐานอย่างเต็มที่ โดยการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นมาตรการที่มีขึ้นเพื่อรับประกันว่าประชาชนคนไทยจะไม่ถูกกลั่นแกล้ง หรือถูกให้ร้ายในนามของกระบวนการยุติธรรม เพียงเพราะพวกเขาเป็นเห็นแตกต่างจากผู้มีอำนาจรัฐ

ประการที่สอง การที่ระบุในคำสั่งไม่ให้ประกันตัวว่า

“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูงพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง อีกทั้งการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆ ต่างกรรมต่างวาระตามข้อกล่าวหาเดิมหลายครั้งหลายครา กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวให้ยกคำร้องแจ้งคำสั่งให้ทราบ และคืนหลักประกัน”

การให้เหตุผลในลักษณะดังกล่าว เป็นการคาดหมายว่าผู้ต้องหาจะไปกระทำการซ้ำในอนาคต แต่เหตุผลดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามเหตุที่กำหนดไว้ในมาตรา 108/1

แม้จะเห็นว่าเป็นกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108 (3) แต่ศาลย่อมทราบดีว่าประเด็นการกระทำความผิดตามมาตรา 112 และมาตรา 116 ดังที่ปรากฏในคดีนั้น มีข้อกังวลจากทั้งภาคประชาชนในประเทศและองค์กรระหว่างประเทศถึงการบังคับใช้กฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออก การแสดงความคิดเห็นเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ความเสมอภาค รวมถึงการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบัน ซึ่งมิใช่เป็นการกระทำอาชญากรรม หากเป็นการใช้สิทธิในเสรีภาพที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ ทั้งยังเป็นสิทธิในเสรีภาพที่ประเทศไทยผูกพันที่จะต้องส่งเสริม เคารพและปกป้องตามพันธกรณีระหว่างประเทศในฐานะรัฐภาคี

นอกจากนี้ ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรงหรือไม่ ก็เป็นข้อกล่าวหาที่ทั้งโจทก์และจำเลยต่างจะต้องมีโอกาสอย่างเต็มที่ในการเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ด้วยพยานหลักฐาน การได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นมาตรการที่สืบเนื่องมาจากหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด อันเป็นหลักการทางกฎหมายพื้นฐานที่สำคัญในการดำเนินคดีทางอาญา ต้องไม่ตัดสินล่วงหน้าไปก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด ดังที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรค 2 ว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้” อีกทั้งยังเป็นหลักการสากลดังที่ปรากฏใน ICCPR ข้อ 14 (2) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีมีพันธกรณีในการปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศดังกล่าว

พวกเราอันประกอบด้วย คณาจารย์จากสถาบันการศึกษาด้านนิติศาสตร์ 10 แห่ง เครือข่ายนักกฎหมาย และนักกฎหมาย จำนวน 126 คน ดังปรากฏรายชื่อข้างท้าย ปรารถนาที่จะเห็นฝ่ายตุลาการปฏิบัติหน้าที่โดยเป็นไปตามหลักการและบรรทัดฐานทางกฎหมาย และคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนในฐานะ ที่เป็นหลักคุณค่าสำคัญในสังคมเสรีประชา ธิปไตย มิใช่เพียงแต่การอ้างอิงถึงความมั่นคงของรัฐอันจะนำมาซึ่งความกังขาต่อการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายตุลาการให้เกิดขึ้น ซึ่งจะไม่เป็นผลดีทั้งต่อสถาบันตุลาการและสังคมไทยโดยรวมแต่อย่างใด

ปล่อยเพื่อน – เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี ชุมนุมหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จุดเทียนเรียกร้องให้ ปล่อยตัว‘เพนกวิน’พริษฐ์, ทนายอานนท์ นำภา, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และหมอลำแบงค์ ที่ไม่ได้ประกันตัวคดีม.112 ม.116 เมื่อค่ำวันที่ 12 ก.พ.

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน