ข้าวสารวังเวง
งดสาดทั่วปท.

ข้าวสารสุดเหงา งดจัดสงกรานต์ ยอดคดีเมาขับ 2 วัน พุ่ง 529 คดี คุมประพฤติประเดิมติดกำไลอีเอ็มรายแรก ห้ามออกบ้าน 15 วัน ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตรวม 2 วัน 56 ราย เจ็บ 729 คน ศปถ.ประสานจว.คุมเข้มเส้นทางสายรอง

เมืองร้าง – บรรยากาศย่านถนนข้าวสาร บางลำพู ช่วงสงกรานต์ปีนี้เป็นไปอย่างเงียบเหงา ร้านรวงปิดตาย นักท่องเที่ยวหดหาย แทบจะกลายเป็นเมืองร้าง เพราะการกลับมาระบาดอีกของโควิด-19 โดยมีชาวต่างชาติบางกลุ่ม ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก เมื่อวันที่ 12 เม.ย.

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 12 เม.ย. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ฐานะประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2564 ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 11 เม.ย. ซึ่งเป็นวันที่สอง ของการรณรงค์ “สงกรานต์สุขใจ ขับขี่ปลอดภัย ห่างไกลโควิด”

พบเกิดอุบัติเหตุ 357 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 30 ราย ผู้บาดเจ็บ 374 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 34.45 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 24.37 ยานพาหนะที่ เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 87.12 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 58.26 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 39.94 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 41.18 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 26.89 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 31.93 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,916 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 59,518 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 330,653 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 61,702 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 15,661 ราย ไม่มีใบขับขี่ 17,025 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช ร้อยเอ็ด (จังหวัดละ 16 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ตรัง สมุทรปราการ (จังหวัดละ 3 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (20 คน)

นายอรรษิษฐ์กล่าวต่อว่า สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 2 วันของการรณรงค์ (10-11 เม.ย.) เกิดอุบัติเหตุรวม 705 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 56 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 729 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 40 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ นครศรีธรรม ราช (27 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ (จังหวัดละ 4 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี (จังหวัดละ 31 คน)

ด้านนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ฐานะเลขานุการศูนย์ กล่าวว่า แม้วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางถึงจุดหมายแล้ว แต่ยังคงมีการใช้รถใช้ถนนบนเส้นทางสายรอง เส้นทางเชื่อมต่อระหว่างจังหวัด ถนน อบต.และหมู่บ้าน รวมถึงอยู่ในช่วงของการสังสรรค์และเฉลิมฉลอง ศปถ.จึงได้ประสานจังหวัดคุมเข้มปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนบน เส้นทางสายรอง เส้นทางเชื่อมต่อระหว่างจังหวัด ถนน อบต.และหมู่บ้าน โดยปรับแผนการจัดตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ และด่านชุมชนให้สอดคล้องกับสถานการณ์อุบัติเหตุ พร้อมเพิ่มความเข้มข้นในการเรียกตรวจความพร้อมทั้งคนและรถ โดยเฉพาะผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงดื่มแล้วขับ และตรวจความพร้อมของผู้ขับขี่ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป

เมาแล้วขับ – กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม สอบสวนคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติ ในวันที่สองของการควบคุมเข้มงวด เป็นคดีขับรถในขณะเมาสุราถึง 527 คดี จาก 529 คดี เมื่อวันที่ 12 เม.ย.

ทางด้านนายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยสถิติคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติ ในวันที่สอง ของการควบคุมเข้มงวด (11 เมษายน 2564) เป็นคดีขับรถในขณะเมาสุรา จำนวน 18 คดี จึงทำให้มียอดสะสมสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมประพฤติระหว่างวันที่ 10-11 เมษายน 2564 จำนวนทั้งสิ้น 529 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 527 คดี คิดเป็นร้อยละ 99.62 คดีขับเสพ จำนวน 2 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.38 จังหวัดที่มีสถิติคดีขับรถในขณะเมาสุราสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ 1. จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 58 คดี 2.จังหวัดนนทบุรีและจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 56 คดี และ 3.จังหวัดสระบุรี จำนวน 50 คดี

นอกจากนี้ ในส่วนของการติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือกำไล EM กับผู้กระทำผิดเมาแล้วขับยังไม่มีเพิ่มเติม ยังคงตัวเลขสะสม 2 วันอยู่ที่จำนวน 1 ราย โดยมีเงื่อนไขห้ามออกจากที่พักอาศัยในช่วงเวลาตั้งแต่ 22.00-04.00 น. เป็นระยะเวลา 15 วัน ทั้งนี้ สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศเฝ้าติดตามและควบคุมดูแลผู้กระทำผิดตลอด 24 ชั่วโมงผ่านศูนย์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring Control Center – EMCC) พร้อมประสานเครือข่ายภาคประชาชน อาสาสมัครคุมประพฤติ เตรียมพร้อมลงพื้นที่หากมีการผิดเงื่อนไขคุมความประพฤติ

อธิบดีกรมคุมประพฤติยังฝากความห่วงใยถึงพี่น้องประชาชนที่เตรียมเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2564 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยเฉพาะการสังสรรค์ ควรเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หยุดอยู่บ้าน ดื่มไม่ขับ ขับไม่ดื่ม เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ทั้งนี้ กรมคุมประพฤติ โดยสำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ ร่วมกับอาสาสมัครคุมประพฤติ ภาคีเครือข่าย ประชาชนและผู้ถูกคุมความประพฤติ ยังคงเข้าสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่บริเวณจุดบริการประชาชน ด่านชุมชน และด่านตรวจค้น จำนวน 72 จุด โดยมีผู้ร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 467 คน ทั้งยังมีเจ้าหน้าที่คอยอยู่เวรปฏิบัติงานที่สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ เพื่อให้คำแนะนำในด้านต่างๆ แก่ประชาชนที่มาติดต่อราชการกับสำนักงานคุมประพฤติ

วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า “ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ผมขอให้พี่น้องคนไทยทุกคนพักผ่อนกับครอบครัวอย่างมีความสุขและด้วยความระมัดระวังนะครับ ท่านที่กลับภูมิลำเนาหรือไปท่องเที่ยว ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพครับ และขอให้ร่วมกันดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุ อย่าลืมว่าเราทุกคนยังต้องยกการ์ดให้สูง สวมหน้ากากอนามัยกันตลอดเวลานะครับ เพื่อดูแลทั้งตัวเราเองและคนที่เรารัก สวัสดีปีใหม่ไทยทุกท่านล่วงหน้าครับ”

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศวันหยุดสงกรานต์วันแรก ในพื้นที่ถนนข้าวสาร ที่ปีนี้ต้องงดจัดงานเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทั้งถนนดูเงียบเหงา ร้านต่างๆ ปิดทำการ มีเพียงนักท่องเที่ยวที่มาถ่ายรูปที่ระลึกในวันที่ข้าวสารเงียบเหงา นอกจากนี้ยังพบนักข่าวจากสำนักข่าวญี่ปุ่น ที่เตรียมมารายงานบรรยากาศสงกรานต์ ถนนข้าวสาร โดยนำปืนฉีดน้ำมาเป็นอุปกรณ์ประกอบด้วย

ส่วนบรรยากาศสงกรานต์จังหวัดพิจิตร วัดอารามหลวงจังหวัดพิจิตร จัดงานไหล เรือไฟ ตั้งแต่วันที่ 5-15 เม.ย. ปรากฏว่า หลังจากจังหวัดพิจิตรมีผู้ติดเชื้อโควิดจำนวน 3 ราย ทำให้ภายในงานเงียบเหงา พ่อค้าแม่ค้าขายของต่างบ่นกันเป็นเสียงเดียวว่าขายกัน ไม่ได้ เนื่องจากประชาชนที่มาเที่ยวงานน้อยจนผิดหูผิดตา หลังรู้ข่าวพากันผวาหวาดกลัวเกรงว่าจะติดเชื้อโควิดต่างจากทุกปีจะมีประชาชนนักท่องเที่ยวมาเที่ยวจนแน่นวัด

ทางด้านแม่ค้า-พ่อค้าซึ่งมาจากจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ตนเองมาขายของภายในงานไหลเรือไฟ ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. แต่ปรากฏว่า 3 คืนแรก ถึงแม้ว่าจะมีฝนตกแต่ก็ขายของได้ดี แต่หลังจากที่จังหวัดพิจิตรประกาศว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 3 ราย ทำให้ประชาชนหรือนักท่องเที่ยวไม่ออกมาจับจ่ายใช้สอย ไม่ออกมาเที่ยว ทำให้คนที่มาเที่ยวบางตาแทบไม่ค่อยมีคนมาเดิน มีแต่แม่ค้าพ่อค้านั่งมองตากันว่าจะขายของได้หรือไม่ได้ พอจ่ายค่าเช่าที่หรือไม่ เนื่องจากค่าเช่าที่ขายภายในงานล็อกละ 25,000 บาท ค่าไฟอีกหน่วยละ 18 บาท ยังไม่มีเงินจ่าย ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายค่าเช่าที่เลยขายของขาดทุนย่อยยับ ซึ่งตอนนี้ได้รับผลกระทบอย่างมาก

ส่วนบรรยากาศรอบคูเมืองเชียงใหม่เป็นไปอย่างเงียบเหงา หลังจังหวัดสั่งงดการ เล่นสาดน้ำสงกรานต์และประแป้งรวมทั้งกิจกรรมเกือบทั้งหมด ทั้งการทำบุญตักบาตร,การจัดพิธีสมโภชและขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์,การประกวดแม่ญิงขี่รถถีบกางจ้อง เป็นต้น คงเหลือไว้เพียงบางกิจกรรมเพื่อสืบสานประเพณีเท่านั้น และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันเฝ้าระวังการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัดทั้งการสวมใส่หน้ากาก,การเว้นระยะห่าง,การคัดกรอง และจำกัดจำนวนคนเข้าร่วม

ส่งผลทำให้บรรยากาศงานสงกรานต์หรือประเพณีปีใหม่เมืองเชียงใหม่ประจำปี 2564 เหมือนไม่มีการจัดงานไปโดยปริยาย โดยเฉพาะประตูท่าแพเงียบเหงาอย่างมาก ด้านเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ผู้บริหารสั่งยกเลิกการจัดกิจกรรมสงกรานต์ในไนท์ฯ และแจ้งนักศึกษาฝึกงานในไนท์ฯ หยุดก่อนทั้งหมด ส่วนสวนสัตว์เชียงใหม่หลังพบนักศึกษาฝึกงานติดโควิด-19 สั่งปิดสวนสัตว์เชียงใหม่ 14 วัน และพ่นยาฆ่าเชื้อบริเวณจุดสำคัญในสวนสัตว์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน