สลดมีทารก-2ขวบด้วย
ยอดติดเชื้อรายวัน 14,716
นักร้อง‘ธันวา ราศีธนู’ดับ
สยามไบโอให้วัคซีนเพิ่ม

‘หมออุดม’ เผยไทยติดโควิดแฝงถึง 7 ล้านคน เฉพาะกทม. 1.5 ล้าน ยอมรับยอดป่วยไม่มีทางเป็นศูนย์ได้ในสิ้นปี ระบุหลังฉีดวัคซีน3 เดือน ภูมิตกทุกยี่ห้อ ให้กระตุ้นเข็มสามด้วยไฟเซอร์-แอสตร้าฯ เริ่มต.ค.นี้ ศบค.รายงานติดเชื้อรายวันอีก 14,176 เสียชีวิต 228 สลดเด็ก 3 รายดับจากโควิด อายุ 5 เดือน-2 ขวบ ขณะที่ทวด 100 ปีดับอีก 1 ราย อาลัยนักร้องดัง ‘ธันวา ราศีธนู’ ดับโควิด เผยได้คิวฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มแล้ว แต่ติดเชื้อต้องเข้าร.พ. 2 วันก่อนวันนัดฉีด ด้าน ‘ซิโนฟาร์ม’ ยื่นอย.ขอฉีดตั้งแต่ 3 ขวบ คาดพิจารณาเสร็จใน 30 วัน ‘บิ๊กตู่’ เร่งเยียวยาประชาชนทุกกลุ่ม ครอบคลุม รวดเร็ว สั่งทบทวน ‘บัตรสวัสดิการ แห่งรัฐ-คนละครึ่ง’

ติดเชื้ออีก 14,176-ตาย 228

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยสถานการณ์ โควิด-19 ประจำวัน ว่า ประเทศไทยติดเชื้อใหม่ 14,176 ราย ติดเชื้อสะสม 1,322,519 ราย หายป่วย 16,769 ราย สูงกว่าติดเชื้อใหม่ หายสะสม 1,166,364 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 228 ราย เสียชีวิตสะสม 13,511 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 142,644 ราย อยู่ในร.พ. 42,034 ราย ร.พ.สนามและอื่นๆ 100,610 ราย อาการหนัก 4,387 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 960 ราย

ภาพรวมผู้ติดเชื้อวันนี้มาจาก 67 จังหวัดรวมกันสูงสุด 6,613 ราย กทม.และปริมณฑล 5,946 ราย 4 จังหวัดภาคใต้ 1,095 ราย เรือนจำ 506 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศมี 16 ราย ได้แก่ แคนาดา อินโดนีเซีย ตุรกี ประเทศละ 1 ราย ฟิลิปปินส์ 2 ราย ส่วน เมียนมา 2 ราย มาเลเซีย 4 ราย ลาว 2 ราย และกัมพูชา 3 ราย เข้ามาช่องทางธรรมชาติทั้งหมดรวม 11 ราย

ผู้เสียชีวิต 228 ราย มาจาก 40 จังหวัด ได้แก่ กทม. 50 ราย, สมุทรปราการ 23 ราย, ชลบุรี 18 ราย, สมุทรสาคร 15 ราย, สระบุรี 14 ราย, ปทุมธานี 12 ราย, สมุทรสงคราม 11 ราย, สุพรรณบุรี 10 ราย, นครปฐม 7 ราย, พระนครศรีอยุธยา นราธิวาส จังหวัดละ 6 ราย, ลพบุรี ตาก เพชรบูรณ์ จังหวัดละ 5 ราย, นนทบุรี ฉะเชิงเทรา ชุมพร ภูเก็ต สงขลา จังหวัดละ 3 ราย, ปราจีนบุรี ระยอง ระนอง อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ จังหวัดละ 2 ราย และอ่างทอง นครนายก กาญจนบุรี เพชรบุรี ราชบุรี พังงา ยะลา กาฬสินธุ์ ยโสธร หนองคาย สุรินทร์ อุบลราชธานี เชียงใหม่ กำแพงเพชร เชียงราย และพิษณุโลก จังหวัดละ 1 ราย

3 เด็กเล็กเสียชีวิตโควิด

ผู้เสียชีวิตเป็นชาย 113 ราย หญิง 115 ราย อายุ 6 เดือน – 100 ปี โดยเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 165 ราย อายุต่ำกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรัง 42 ราย รวม 2 กลุ่มนี้สูง 90% อายุน้อยกว่า 60 ปีไม่มีโรคเรื้อรัง 17 ราย หญิงตั้งครรภ์ 1 ราย จ.ลพบุรี และเด็กเล็ก 3 ราย อายุ 5 เดือน-2 ขวบ จากสระบุรี มีโรคประจำตัว 2 ราย พบเสียชีวิตที่บ้าน 1 ราย ที่กทม.

ภาพรวมติดเชื้อเกิน 100 รายมี 31 จังหวัด โดย 10 จังหวัดที่ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1.กทม. 3,691 ราย สะสม 309,071 ราย 2.สมุทรปราการ 955 ราย สะสม 89,179 ราย 3.ชลบุรี 846 ราย สะสม 69,167 ราย 4.สมุทรสาคร 641 ราย สะสม 80,426 ราย 5.ราชบุรี 528 ราย สะสม 21,085 ราย 6.ระยอง 473 ราย สะสม 21,271 ราย 7.พระนครศรีอยุธยา 388 ราย สะสม 22,925 ราย 8.สงขลา 369 ราย สะสม 21,242 ราย 9.นนทบุรี 362 ราย สะสม 46,611 ราย และ 10.นราธิวาส 332 ราย สะสม 15,536 ราย

ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด 19 วันที่ 6 ก.ย. ฉีดได้ 826,013 โดส สะสม 37,461,284 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 25,954,106 ราย คิดเป็น 36% ครบ 2 เข็ม 10,900,001 ราย คิดเป็น 15.1% และเข็มสาม 607,177 ราย

ฉีดวัคซีนแล้ว 37 ล้านโดส

ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะ ฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงว่า แนวโน้มผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักระหว่างวันที่ 1-7 ก.ย.ของไทยมีทิศทางลดลง เช่นเดียวกับแนวโน้มผู้เสียชีวิตที่มีทิศทางลดลงด้วยเช่นกัน และหากนำภาพรวมของประเทศไทยต่อ 1 ล้านประชากรเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา พบว่า อัตราป่วยของไทยน้อยกว่าสหรัฐ 8 เท่า อัตราเสียชีวิต น้อยกว่าสหรัฐถึง 10 เท่า

นพ.เฉวตสรรกล่าวต่อว่า ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 ก.ย. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 826,013 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. รวมทั้งสิ้น 37,461,284 โดส ขณะนี้มีผู้ฉีดวัคซีนเข็มที่หนึ่งไปแล้ว 36% เข็มที่สอง 15.1% และถ้าดูกลุ่มที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในพื้นที่กทม. ฉีดไปแล้ว 98.4% จ.ปทุมธานีฉีดไปแล้ว 70.3%

“สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด วันที่ 8 ก.ย. ได้แก่ กทม. 3,691 ราย สมุทรปราการ 955 ราย ชลบุรี 846 ราย สมุทรสาคร 641 ราย ราชบุรี 528 ราย ระยอง 473 ราย พระนครศรีอยุธยา 388 ราย สงขลา 369 ราย นนทบุรี 362 ราย นราธิวาส 332 ราย จะเห็นว่ามีเพียงกทม.จังหวัดเดียวเท่าที่มีผู้ติดเชื้อเกินหลักพัน

ขณะที่การระบาดที่เป็นคลัสเตอร์ จากข้อมูลพบว่ายังมีคลัสเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับโรงงาน สถานประกอบ แคมป์คนงานอยู่ 318 คลัสเตอร์ทั่วประเทศ ตลาด ชุมชน ครอบครัว 131 คลัสเตอร์ ร้านอาหาร สถานบันเทิง 3 คลัสเตอร์ สำนักงาน โรงเรียน สถานศึกษา 12 คลัสเตอร์ นอกจากนี้ ยังพบการระบาดในวงสุรา วงพนัน พิธีกรรมทางศาสนา งานแต่ง งานศพ ตลอดจนในโรงพยาบาล จึงขอย้ำว่าทุกคนต้องระมัดระวังตัวเองทุกที่ทุกเวลา”

บัสวัคซีน – พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เปิดตัวรถบัสวัคซีน พร้อมทีมแพทย์ และพยาบาลเคลื่อนที่ นำมาให้บริการฉีดวัคซีนเชิงรุกถึงบ้านและในชุมชน ตามมาตรการป้องกันโควิดแพร่ระบาด ที่วัดเทพนารี เขตบางพลัด เมื่อวันที่ 8 ก.ย.

กทม.เร่งฉีดวัคซีนน.ร.

นพ.เฉวตสรรกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับ ติดตาม และประเมินผล มาตรการด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุม โรคในพื้นที่ กทม.เร่งฉีดวัคซีนให้กับนักเรียนทุกสังกัดตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ตอนปลาย และปวช. ในกทม. ที่มี 4 แสนกว่าคน ด้านสำนักงานประกันสังคมรายงานการฉีดวัคซีนในกลุ่มแคมป์คนงาน โดยฉีดไปแล้ว 606 แคมป์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 10 ก.ย. ขณะที่แคมป์คนงานที่ไม่มีการเคร่งครัด ปล่อยให้ระบาด ควรที่ลงโทษปรับ โดยให้สำนักงานควบคุมโรคเสนอ กทม.ต่อไป ส่วนการตรวจแบบ ATK ทางกทม.จะประสาน สปสช. เพื่อจะนำเครื่องตรวจ ATK 2,410,300 ชิ้นมอบให้กับกลุ่มต่างๆ

ส่วนกรณีมีการตั้งข้อสังเกตตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ลดลงขณะนี้เป็นเพราะตรวจเชิงรุกน้อยลงหรือไม่ แล้วทำไมจึงไม่นำผลตรวจ ATK มารวมกับ RT-PCR นั้น น.พ.เฉวตสรรกล่าวว่า เราสนับสนุนเปิดให้เข้าถึงการตรวจหาเชื้ออย่างเต็มที่ แต่ธรรมชาติเมื่อเกิดการระบาดจะเห็นว่าในช่วงกลางเดือนส.ค. เมื่อมีผู้ป่วยหนึ่งราย จะมีผู้สัมผัสเสี่ยงจำนวนหลายคน ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยช่วงนี้ลดลงจำนวนผู้สัมผัสเสี่ยง และไปตรวจที่โรงพยาบาลก็จะลดลงตามด้วย และยังให้ความสำคัญในการตรวจเชิงรุก

“การที่ตัวเลขน้อยลงส่วนหนึ่งเป็นเพราะธรรมชาติของการระบาดในช่วงที่เป็นขาลง จำนวนผู้ป่วยน้อยลง จำนวนผู้เสี่ยงสูงน้อยลง แต่ถ้าใครมีเกณฑ์เสี่ยงสามารถเข้ารับการ ตรวจได้ การที่ไม่นำ ATK มารวมยอด เนื่องจาก เป็นหลักการพิจารณาทางวิชาการ”

แจงปมฉีดเข็ม 1 พุ่ง 50.5%

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีมีนักวิชาการตั้งคำถาม เรื่องการรายงานตัวเลขการฉีดวัคซีนของศบค. ที่ระบุไทยฉีดวัคซีนเข็มที่หนึ่งแล้ว 50.5% นั้น นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า ขอขอบคุณนักวิชาการและประชาชนที่ให้ความสนใจ ขอเรียนว่า ในการทำงานของเรามีการติดตามหลายรูปแบบ เพื่อให้เห็นว่าเราทำงานใกล้เป้าหมายแล้วหรือยัง 50% เป็นตารางที่เราดูว่าจะฉีดให้ได้เพื่อมีภูมิคุ้มกันหมู่ 70% ของประชากร เพื่อดูว่า เราเดินทางไปถึงครึ่งทางแล้วหรือยัง ในภาพรวมคือเข็มที่หนึ่งที่ฉีดไปขณะนี้ 36% ของประชากร

“สำหรับชาวต่างชาติที่อยู่อาศัยในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายสามารถ ลงทะเบียนเข้ารับวัคซีนได้ในช่องทางคือเว็บไซต์ ของกระทรวงการต่างประเทศ และแอพพลิเคชั่น ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ซึ่งขอเชิญชวน ขอเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อนัดหมายไปรับฉีดได้ โดยไม่แออัด” นพ.เฉวตสรรกล่าว

ซิโนฟาร์มยื่นขอฉีด 3 ขวบ

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการ อาหารและยา (อย.) กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ ที่ผ่านมา บริษัทไบโอเจนเนเทคที่เป็นผู้ได้รับอนุญาตนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม มายื่นเอกสารขึ้นทะเบียนขอขยายอายุการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ในเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป โดยเป็นสูตรเดิมกับที่ผลิตก่อนหน้านี้ เพียงแต่มายื่นเพิ่มเติมขยายอายุลงมา หลังจากมีการทดลองฉีดในเด็กแล้ว ขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญทั้งในและนอกอย.อยู่ระหว่าง การพิจารณาขึ้นทะเบียน โดยพิจารณาทั้งประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัย คาดว่าไม่เกิน 30 วันนับแต่วันที่มีการยื่นเอกสาร

เมื่อถามว่า ขณะนี้ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ฯประกาศฉีดวัคซีนให้เด็กนักเรียนอายุ 10-18 ปี เริ่มวันที่ 20 ก.ย. การขึ้นทะเบียนจะทันหรือไม่ นพ.ไพศาลกล่าวว่า อย.อยู่ระหว่างการพิจารณา ให้เร็วที่สุด แต่อยู่บนมาตรฐาน

เมื่อถามว่าขณะนี้ยังไม่ได้อนุมัติการฉีด ในเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป หน่วยงานต่างๆ สามารถฉีดในลักษณะของการวิจัยได้หรือไม่ นพ.ไพศาลกล่าวว่า ในเอกสารกำกับยาจะระบุข้อกำหนดในการฉีด ส่วนวิจัยก็คือวิจัย หากทำก็ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของหน่วยงานนั้นๆ ผู้วิจัยจะเป็นคนดูอยู่แล้ว ส่วนรายละเอียดต้องสอบถามไปยังราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ฯ

“ขณะนี้วัคซีนที่อยู่ในประเทศไทย มีไฟเซอร์ และโมเดอร์นาที่ขึ้นทะเบียนฉีดในผู้มีอายุ 12 ปี ขึ้นไปแล้ว ส่วนการขึ้นทะเบียนฉีดในเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไปนั้น มีซิโนฟาร์มที่อยู่ระหว่างการยื่นเอกสาร ส่วนซิโนแวคทราบว่าองค์การเภสัชกรรม ในฐานะตัวแทนนำเข้ากำลังติดตาม และขอเอกสารจากทางซิโนแวค”

เมื่อถามถึงกรณีมีการโฆษณาวัคซีนผ่านออนไลน์ นพ.ไพศาลกล่าวว่า วัคซีนเป็นยาควบคุมพิเศษ ยาทั้งหลายเวลาโฆษณาต้องขออนุญาต ยิ่งเป็นยาควบคุมพิเศษจะต้องมีข้อความเฉพาะ ซึ่งจะสังเกตว่าให้เป็นบางที่ การโฆษณาออนไลน์นั้นเป็นไปได้ยากเลย ต้องมีการตรวจสอบอีกครั้งว่ามีการขออนุญาต โฆษณาหรือไม่ แล้วเวลาโฆษณาข้อความ ทั้งหลายนั้นเหมือนกับที่มาขออนุญาตหรือไม่

แจงศบค.ตั้งตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์กรณีมีข่าวเตรียมยุบศบค.หากมีกฎหมายอื่นมารองรับแทนการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2548 ว่า ไม่ควรใช้คำว่ายุบ และต้องอธิบายว่าศบค.เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และตั้งชื่อเรียกว่าศบค.

แต่ขณะนี้รัฐบาลกำลังขอแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขได้ โดยแยกจากพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2548 ที่ใช้รวมกับเหตุการณ์ฉุกเฉินหลายเรื่อง เริ่มแรกใช้กับการก่อการร้าย การก่อความไม่สงบ แต่สามารถนำไปใช้ในกรณีเกิดภัยพิบัติโรคระบาดได้ วันนี้อนุโลมไปใช้กับโรคระบาด แต่พอใช้ไปสักพักเห็นว่าไม่ค่อยตรง

จึงคิดว่าควรแก้กฎหมายโรคติดต่อ เพื่อรองรับเวลามีโรคระบาด เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ที่ต้องมีมาตรการต่างจากด้านอื่น อย่าไปคิดว่าเรื่องยุบศบค.เป็นเรื่องใหญ่จะต้องยุบหรือไม่ยุบ เพราะไม่ใช่ว่ายุบไปแล้วจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น อาจจะมีและใหญ่กว่าศบค.ด้วยก็เป็นได้

นายวิษณุกล่าวต่อว่า หากประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และมีผลบังคับใช้ได้ ก็ไม่ต้องใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อไม่ใช้ ศบค.ก็ไม่มีความจำเป็น แต่อาจจะเปิด “ศ” ใหม่ขึ้นมาตามกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โดยสรุปศบค.เกิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อหยุดประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ศบค.ต้องเลิก ส่วนนายกรัฐมนตรี หรือใครจะนั่งเป็นประธานก็แล้วแต่ ทั้งนี้ ศบค.ที่แปลงสภาพ ยังทำงานต่อได้เพราะในบทเฉพาะกาลเขียนว่าในระหว่างที่ยังไม่ได้ มีการเปลี่ยนแปลงอะไร คำสั่งเก่าก็ยังใช้อยู่ ไม่สะดุด ในระหว่างที่รอพ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับใหม่ออกมา

“ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่การยกเลิกพ.ร.ก. แต่ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ร.ก.คือตัวกฎหมาย ถ้าเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นให้ครม.ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ ถ้าไม่ประกาศ ตัวพ.ร.ก.ยังอยู่ วันนี้พ.ร.ก.มีมาตั้งแต่ปี 48 ประกาศทีละ 3 เดือน 2 เดือน หรือ 1 เดือน แต่เมื่อต้องการหยุดเรื่องนี้ เพื่อให้มีสถานการณ์ ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขขึ้นมา เพราะสถานการณ์ ฉุกเฉินตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 ใช้ครอบจักรวาล โดยใช้มาตราเดียวกันหมด และ ในช่วง 1 ปี เริ่มเห็นว่านำมาใช้ได้ แต่อาจจะไปต่อไม่ได้”

ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าการแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อเสนอ สภาฯ ประกาศใช้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังดูอยู่ ถ้าเสนอ เข้าสภาฯ จะเสนอเป็นกฎหมายปฏิรูปก็จะทำ ได้เลย โดยทั้ง 2 สภาฯ พิจารณาพร้อมกัน

เมื่อถามย้ำว่าจะทันปิดสมัยประชุมสภาฯ ในวันที่ 19 ก.ย.นี้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า วันที่ 1 พ.ย.สภาฯ ก็เปิดแล้ว เมื่อถามว่าจะนำเรื่องนี้หารือในการประชุมศบค.ใหญ่วันที่ 10 ก.ย.นี้เลยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มี เป็นการ ประชุมทั่วไป พิจารณาเพิ่มมาตรการให้เข้มขึ้นหรือเบาลง หรือจะผ่อนคลายอะไรบ้าง

เมื่อถามว่าจะประกาศวันหยุดเพิ่มเติมหลังผ่อนคลายมาตรการเพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องมาพูดเรื่องพวกนี้ ในเวลานี้ก็ยังทำงาน เวิร์กฟรอมโฮมกันอยู่ ส่วนในวันที่ 24 ก.ย. ที่ประกาศให้เป็นวันหยุด เวลานี้ก็ยังเป็น วันหยุดอยู่ ไม่ต้องยกเลิก ใครจะหยุดก็หยุด ไม่หยุดก็อย่าหยุด เพราะทุกวันนี้ก็หยุดกัน อยู่แล้ว และวันนี้เราก็ยังไม่ได้อยากกระตุ้น ให้คนไปเดินทางท่องเที่ยวเท่าไหร่

‘มหาชัย’ป่วยอีก 641

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 641 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากค้นหาเชิงรุก 52 ราย และผู้ติดเชื้อที่มาจากการเข้ารับการตรวจในโรงพยาบาล 299 ราย ติดเชื้อสะสม 98,315 ราย รักษาหายเพิ่ม 490 ราย รวมผู้ติดเชื้อที่กลับบ้านได้แล้ว 79,671 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 17,937 ราย เสียชีวิตรายวัน 17 ราย เสียชีวิตสะสม 707 ราย

นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าฯจ.สมุทรสาคร เปิดเผยถึงแนวทางการฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มแรงงานข้ามชาติว่า หลังจากฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชาชนคนไทยทุกกลุ่มเป้าหมายใน จ.สมุทรสาคร เสร็จเรียบร้อยตามเวลาที่กำหนดแล้ว ก็จะเริ่มฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มแรงงานข้ามชาติต่อทันที โดยจะเริ่มตั้งแต่ในวันเสาร์ที่ 11 ก.ย.นี้ โดยแรงงานข้ามชาติกลุ่มแรกที่จะนำร่องฉีดวัคซีนคือแรงงานที่อยู่ในสถานประกอบการที่มีการจัดตั้งศูนย์กักตัว ผู้ติดเชื้อในโรงงานหรือ FAI ในระยะแรก จะยังไม่เปิดให้บริการในรูปแบบวอล์กอิน เพราะคงให้แรงงานที่อยู่ในระบบดังกล่าว ข้างต้นก่อน

“เรื่องการฉีควัคซีนให้แก่ผู้ที่เคยติดเชื้อ มาแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน หรือฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วติดเชื้อ หรือฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแต่ไม่เกิน 2 สัปดาห์แล้วติดเชื้อ รวมถึงการฉีดวัคซีนเข็ม 3 บูสเตอร์โดสให้กับประชาชนทั่วไปที่เคยได้รับวัคซีนซิโนแวคมาแล้ว 2 เข็มนั้น จากการหารือเบื้องต้นของ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาครได้เตรียมความพร้อมฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่ม เหล่านี้ได้ตั้งแต่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป”

อยุธยาป่วยเพิ่ม 301-ดับ 7

นพ.พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 301 ราย รักษาตัวหาย 550 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 7 ราย เสียชีวิตสะสม 229 ราย

โดยผู้เสียชีวิต เป็นหญิงไทยอายุ 85 ปี หญิงไทย อายุ 62 ปี หญิงไทย อายุ 56 ปี หญิงไทย อายุ 49 ปี หญิงไทย อายุ 26 ปี ชายไทย อายุ 69 ปี และชายไทยอายุ 86 ปี ทั้งหมดมีโรคประจำตัว

‘ศบค.’ชี้ติดโควิดแฝงพุ่ง 7 ล้านคน

เมื่อเวลา 13.30 น. นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) กล่าวในรายการ NBT รวมใจ สู้ภัยโควิด-19 @ทำเนียบรัฐบาล ตอนหนึ่งว่า สถานการณ์ขณะนี้ถ้าดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1.4-1.5 หมื่นรายต่อวัน ขณะที่ปี 63 แค่หลักพันก็เต็มที่

แต่ปัจจุบันแนวโน้มสถานการณ์ของโลกและไทยเป็นขาขึ้นใหม่ เหตุผลมาจาก 2 ปัจจัยคือ โควิด-19 สายพันธุ์เดลตากระจายได้รวดเร็วมากและรุนแรง ตอนนี้ เชื้อไปทุกที่ ระบาดในคนใกล้ชิด ในครอบครัว และชุมชน จากการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าการระบาดปัจจุบันสอดคล้อง กับที่อู่ฮั่นระบาดว่าคนที่ไม่อาการและไม่เคยไปตรวจโควิด-19 เมื่อไปตรวจพบว่าเป็น โควิด-19 อีกประมาณ 5-6 เท่าของตัวเลข ผู้ติดเชื้อยืนยัน

“ยกตัวอย่างในปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยืนยันในกทม.ประมาณ 2.5 แสนคน เอา 6 เท่าคูณ หรืออีกราว 1.5 ล้านคน ซึ่งเรียกว่า ติดเชื้อแฝง ไม่เคยไปตรวจ ไม่มีอาการ ไม่ใช่แค่วันละ 4-5 พันคน เหมือนตัวเลขที่เห็นในปัจจุบัน ตอนนี้เลขผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมทะลุไป 1.2 ล้านคน ถ้าเอา 5-6 เท่าคูณ จะมีคนติดเชื้อประมาณ 6-7 ล้านคนที่แฝงอยู่ และสามารถแพร่เชื้อมาให้เราได้ นี่เป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้มีการติดเชื้อจากคนใกล้ชิด แม้สนิทแค่ไหนก็ไว้ใจไม่ได้”

นพ.อุดมกล่าวต่อว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่มีข้อมูลชัดเจนว่า การฉีดวัคซีนเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมการระบาด แต่ในสหรัฐอเมริกา อิสราเอล สิงคโปร์ ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 100% ครบสองเข็ม ถึง 60-70% ตอนนี้เขากลับมาติดเชื้อใหม่กันเต็มไปหมด ประชาชนจึงต้องทำความเข้าใจว่าวัคซีนขณะนี้ไม่สามารถป้องกัน การติดเชื้อ กันได้สัก 50-60% เหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ แต่จะป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง ไม่ให้เข้าโรงพยาบาล เข้าไอซียูไม่เสียชีวิต วัคซีนทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ ประมาณ 90-100% เหมือนกัน

ดังนั้น จึงขอให้ฉีดให้เร็วที่สุด อาการจะไม่ รุนแรง และยังเป็นการป้องกันระบบสาธารณสุข ไม่ให้รับภาระเกินไป เห็นได้จากประเทศอังกฤษที่มีการติดเชื้อสูง แต่ผู้เสียชีวิตน้อย เพราะเขาฉีดกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ และโรคร่วม เราจึงจะคิดแบบเดิมไม่ได้ จะมานั่งล็อกดาวน์มันก็ไม่ไหว เศรษฐกิจไม่ไหว ต้องยอมรับ ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนหนึ่งเสียหายเป็นแสนล้าน เราต้องมาปรับใจใหม่ จึงเป็นเหตุผลที่ศบค.ยอมผ่อนปรนทั้งที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเป็นหมื่น

“เราดูอยู่แล้วว่าอย่างไรก็ไม่มีทางลง ขนาดใช้ มาตรการเต็มที่ยังลงได้นิดเดียว ดังนั้น เรามาชั่ง น้ำหนัก ระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจ ถ้าเข้มเรื่องสุขภาพมากเศรษฐกิจก็เสีย ถ้าปล่อยเศรษฐกิจเสรีเลยสุขภาพก็จะแย่ คนจะตายเยอะ เราก็รับไม่ได้ เราต้องทำให้มีความสมดุล จึงผ่อนปรนโดยมีเงื่อนไขคือ ทุกคนต้องปฏิบัติ ตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด”

นพ.อุดมกล่าวต่อว่า เป้าหมายของการควบคุมโรคโควิด-19 ต้องเปลี่ยนไปจากเดิมที่ต้องทำให้ตัวเลขเป็นศูนย์ ตนบอกเลยไม่มีทางเป็นศูนย์แน่นอน ภายในเดือนธ.ค.ไม่มีทางเป็นศูนย์แน่นอน แต่เราจะให้มันน้อยลง ปรับตัว อยู่กับมันได้ ให้ดำเนินชีวิตได้ในชีวิตวิถีใหม่ ฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ได้ นายกฯระบุว่าต้องการเปิดประเทศให้ได้ โดยการให้คนไทยออกไปใช้ชีวิตได้ และต่างประเทศมาเที่ยวในบ้านของเราได้ คือ เป้าหมายใหม่ของเรา

สยามไบโอให้วัคซีนเพิ่ม

นพ.อุดมกล่าวยืนยันการได้รับวัคซีนว่า หลังจากนี้เราจะได้วัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า ที่ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ที่เดิมจะตัดยอดให้เราเดือนละ 5-6 ล้านโดส เดือนก.ย.เขาเพิ่มให้เรา 7.3 ล้านโดส เดือน ต.ค. 11 ล้านโดส พ.ย. 13 ล้านโดส ธ.ค. 13 ล้านโดส นอกจากนี้วันที่ 29 ก.ย.จะได้ไฟเซอร์ 2 ล้านโดส ต.ค.อีก 8 ล้านโดส พ.ย. 10 ล้านโดส ธ.ค. 10 ล้านโดส รวม 30 ล้านโดส ดังนั้น 3 เดือนข้างหน้าเราจะมีวัคซีนเดือนละ 20 ล้านโดส เราจึงจะเร่งฉีด ไม่ต้องกังวลศักยภาพการฉีด เราสามารถฉีดวันละ 8-9 แสนโดสสบายๆ

“ยืนยันถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงภายในเดือนธ.ค.เราจะฉีดวัคซีนสองเข็มได้ตามเป้า มากกว่า 70% ของประชากรแน่นอน และจะฉีด เข็มที่สามได้ด้วย ตอนนี้วัคซีนเพียงพอสำหรับ เข็มที่สาม เพราะหลังจากเราติดตามพบว่าวัคซีนทุกตัว ทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ เมื่อฉีดไปแล้ว 3 เดือน ภูมิมันตก ทุกตัว ถ้าภูมิตกไปมากจะสู้กับเดลตาไม่ไหว เราต้องสร้างภูมิให้มากขึ้นด้วยการฉีดเข็มที่สาม โดยตั้งแต่เดือนต.ค.เป็นต้นไปเราจะได้เข็ม ที่สาม เป็นแอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์ เราวางแผนไว้เรียบร้อย”

นักร้องดัง‘ธันวา ราศีธนู’ดับโควิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธันวา ราศีธนู นักร้องชื่อดัง เสียชีวิตจากโควิด-19 เมื่อคืนวันที่ 7 ก.ย. ในวัย 51 ปี หลังเข้ารักษาตัวใน ร.พ. มานานเกือบเดือน ท่ามกลางความเศร้าโศกของเพื่อนๆ ในวงการ คนสนิท และแฟนเพลง เข้ามาร่วมอาลัยในเฟซบุ๊กของนักร้องดังจำนวนมาก

ด้านบ่าววี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “หลับให้สบายนะพี่ ธันวา ราศีธนู ใจหายๆๆ…” โดยมีแฟนคลับเข้าไปคอมเมนต์สอบถามว่า “ธันวา เป็นอะไรเสีย” บ่าววีตอบกลับมาว่า “เป็นโควิด-19”

ขณะที่ เพชร พุ่มพวง หรือเพชร ภควรรธน์ ลูกชายราชินีลูกทุ่ง “พุ่มพวง ดวงจันทร์” โพสต์แสดงความอาลัยด้วยเช่นกันว่า “ขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของพี่ธันวา ราศีธนู ด้วยครับ” ท่ามกลางความโศกเศร้าของเพื่อนๆ คนสนิทและแฟนเพลงต่างโพสต์แสดงความอาลัยผ่านเฟซบุ๊ก “ธันวา ราศีธนู” เป็นจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 8 ก.ย. ที่วัดท่าซุงทักษิณาราม อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีพิธีฌาปนกิจธันวา ราศีธนู โดยพิธีศพเป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ท่ามกลาง บรรยากาศเศร้าโศก

เผยป่วยก่อนถึงวันนัดฉีดวัคซีน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธันวาได้จองวัคซีน ซิโนฟาร์มไว้ แต่มีอาการป่วยก่อนวันหมอ นัดฉีด 2 วัน จึงเข้ารักษาที่ร.พ.คามิลเลียน ย่านสุขุมวิท เมื่อตรวจหาเชื้อโควิด พบติดเชื้อ ต่อมาเชื้อลงปอด อาการทรุด กระทั่งเสียชีวิตดังกล่าว โดยเข้ารักษาในร.พ.นาน 20 วัน

สำหรับ ธันวา ราศีธนู เป็นเจ้าของเพลงดัง มากมาย อาทิ ไก่ตาฟาง, กบเฒ่า, กิ้งก่าทอง เป็นต้น

ขณะที่เฟซบุ๊ก ธันวา ราศีธนู โพสต์สุดท้ายว่า “ขอกราบขอบพระคุณมากๆ ครับ โดยเจ้าตัว แชร์โพสต์ขอบคุณผู้หลักผู้ใหญ่ในพื้นที่ ที่จัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มให้ทีมงานไก่ตาฟางของตัวเอง”

ตรวจ ATK เริ่มเข้มต.ค.นี้

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างการลงนามความร่วมมือโครงการพัฒนาและเชื่อมโยงแพลตฟอร์ม “หมอพร้อม” เพื่อประกอบการตรวจสอบเอกสารการเดินทาง ร่วมกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยและสมาคมสายการบินประเทศไทยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไทยอย่างที่ทราบ บางคนเรียกเฟส 4 บางคนเรียก 3.2

ซึ่งก็ขึ้นมาเป็นการระบาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ยากต่อการควบคุม ขณะนี้อยู่ในการควบคุมแล้ว และจำนวนเคสต่อวันอยู่ในช่วงขาลง แต่ประเมินว่าอาจมีขึ้นมาอีกก็ได้ แต่ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีกที่รับมือไม่ไหวและไม่ทัน การบินเป็นอีกสถานที่ที่เราพิจารณาว่าจะต้องเกิดความปลอดภัยมากที่สุด ถ้าทำได้ในต่างประเทศ การไปต่างประเทศหรืออื่นๆ ก็ไปได้ ผมเสนอเรื่องของโควิด ฟรีทราเวล ทำระบบขึ้นมาเพื่อให้ผู้โดยสารเกิดความปลอดภัยในการเดินทาง

ปลัด สธ.กล่าวต่อว่า เฟสต่อไปเรียกว่า Living with COVID แต่ถ้าทำให้บางที่ไม่มีโควิดก็จะเกิดความปลอดภัย อย่างสายการบินมีระบบการตรวจสอบก่อนขึ้นเครื่องอยู่แล้ว ก็พยายามทำให้เกิดระบบโควิดฟรีทราเวลขึ้น โดยหมอพร้อมที่โชว์ผลการฉีดวัคซีน 2 เข็ม แต่อาจจะต้องมีระบบรองรับคนที่ไม่มีโทรศัพท์ มือถือในการเปิดแสดงหมอพร้อมด้วย เช่น ใช้บัตรประชาชนกดเลขบัตรประชาชนเข้าไปแล้วบอกข้อมูลได้ เป็นต้น

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า คนที่เดินทางได้ คือไม่มีโรค หรือมีภูมิ ซึ่งเกิดได้จากการฉีดวัคซีน หรือหลังติดเชื้อซึ่งต้องมีใบรับรองแพทย์ ถ้าไม่มีโรคก็ใช้ ATK ตอนนี้ซื้อกันไม่ค่อยเด็ดขาดสักที ถ้าซื้อเด็ดขาดราคาลงทันที ตอนนี้ซื้อราคาอยู่ที่ 70 บาท ถ้าซื้อเด็ดขาดออกมาราคาจะลงเรื่อยๆ คิดว่าราคาประมาณ 35-40 บาท แล้วเราตรวจได้ทุก 3 วัน หรือ 7 วัน ขึ้นกับความเสี่ยงของแต่ละบุคคลในพื้นที่ก็ตกวันละ 10 บาท ทำเสร็จก็มีบัตรเหลืองบัตรเขียว หากครบกำหนดก็ต้องตรวจใหม่ อยากขอท่าอากาศยานมีที่ทำ ATK ตอนแรกว่าจะเริ่มที่ดอนเมืองก่อน ใครมาโควิดฟรี ก็ต้องแหย่ ATK ถ้าไม่พบก็เข้าไปได้กรณีไม่มีวัคซีน

“พยายามทำระบบนี้ให้เกิดขึ้น พร้อมๆ กับการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม กทม.ครอบคลุม 90% แล้ว เข็มสองกำลังตามไป ถ้าทำได้ จะใช้ระบบนี้ โดยจะเข้มข้นในต.ค. พยายามทำระบบขึ้นมาให้เกิดโควิดฟรีทราเวล พนักงาน ก็เช่นกันต้องวัคซีน 2 เข็ม และทุกคนต้องเข้ม Universal Prevention DMHTT การทำความสะอาดต่างๆ

ซึ่งเชื่อว่าผู้ประกอบการทำอยู่แล้ว ก็ต้องให้บริการแบบถูกสุขอนามัย ถ้าทำได้ดีทั้งผู้ประกอบการ พนักงาน และ ผู้โดยสาร โอกาสติดเชื้อก็น่าจะเกิดได้ยากมาก ตอนนี้ก็เริ่มจาก Health Pass ถือเป็นก้าวแรก อยากเห็นการบริการของสายการบินเป็นต้นแบบของ COVID Free Setting เพราะมีความพร้อม อาจเป็นต้นแบบให้ COVID Free Hotel, COVID Free Restuarant COVID Free Town หรือ City เป็นต้น ประเทศไทยจะฟื้นได้เร็ว” ปลัด สธ.กล่าว

‘บิ๊กตู่’ลงพื้นที่เยี่ยมร.พ.สนาม

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “แจงให้เคลียร์กับทีมโฆษกรัฐบาล” ว่า วันที่ 9 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมจะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ระดับสีแดง ในโครงการลมหายใจเดียวกันของกลุ่มปตท.

ซึ่งโรงพยาบาลสนามดังกล่าวจัดสร้างบนพื้นที่ 4 ไร่ บริเวณด้านหน้าของโรงพยาบาล ปิยะเวท มีเตียงรองรับผู้ป่วยระดับสีแดง 120 เตียง และจัดให้มีพื้นที่รองรับผู้ป่วยที่ต้อง ฟอกไตโดยเฉพาะ 24 เตียง และในโรงพยาบาล สนามแห่งนี้มีเครื่องช่วยหายใจ มีระบบออกซิเจน ส่งตรงถึงทุกเตียง

พร้อมทั้งมีเทคโนโลยีผลิตนวัตกรรมของกลุ่มปตท.ที่จะมาฟอกและกำจัดเชื้อโรคในอากาศในบริเวณโดยรอบ ภายใต้การดูแลของบุคลากรทาง การแพทย์ของโรงพยาบาลปิยะเวทตลอด 24 ชั่วโมง

ส่วนวันศุกร์ที่ 10 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม บริษัท เอสบีอุตสาหกรรม เครื่องเรือน จำกัด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่ดำเนินมาตรการ เรื่องการตรวจรักษา การควบคุมภายในโรงงาน ภายใต้ มาตรการแนวคิดเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข คือการทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปพร้อมกับการที่อยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด ซึ่งต้องมีมาตรการด้านสาธารณสุขควบคู่กันไปด้วย เพื่อไปให้กำลังใจและรับฟังข้อคิดเห็น การจัดการโครงการดังกล่าว

น.ส.ไตรศุลีกล่าวถึงการจัดหายารักษา โควิด-19 ตัวใหม่ ชื่อ “โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir)” ว่า ขณะนี้รัฐบาลเจรจากับทางบริษัทผู้ผลิตแล้ว โดยยาดังกล่าวอยู่ในช่วงทดลองเฟส 3 ในมนุษย์ หากดำเนินการสำเร็จภายในปีนี้ ก็จะสั่งมารักษาประชาชนแน่นอน และจะมีทั้งยารักษาและวัคซีนป้องกันโควิด-19

‘บิ๊กตู่’ย้ำเร่งเยียวยาทุกกลุ่ม

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความสำเร็จและพึงพอใจความคืบหน้าการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ประกันตน ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ตามมาตรา 33 มาตรา 39 และ มาตรา 40 ว่า รัฐบาลได้เร่งรัดให้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ประกันตนที่ได้รับผลประทบจากโควิด-19 ในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มหรือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด

โดยมีจ่ายเงินเยียวยาผู้ประกันตนทั้ง 3 มาตราไปแล้ว 8,865,806 ราย และนายจ้าง 117,758 ราย รวมเป็นเงิน 41,160.86 ล้านบาท หรือคืบหน้าไปถึงร้อยละ 97 จากกรอบที่อนุมัติเดิม

แบ่งเป็น ผู้ประกันตน ม.33 ซึ่งได้รับเงินช่วยเหลือ 2,500 บาท/คน จำนวนโอน 3,269,993 ราย จำนวนเงิน 8,174.98 ล้านบาท

นายจ้าง ซึ่งได้รับการช่วยเหลือ 3,000 บาท/ ลูกจ้าง/เดือน ไม่เกิน 200 คน จำนวนโอน 117,758 ราย จำนวนเงิน 5,006.81 ล้านบาท

ผู้ประกันตน ม.39 ได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000/ราย จำนวนโอน 1,293,921 ราย จำนวนเงิน 6,469.60 ล้านบาท

ผู้ประกันตน ม.40 ได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000/ราย จำนวนโอน 4,301,892 ราย จำนวนเงิน 21,509.46 ล้านบาท

“นายกฯ กำชับให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งดำเนินการช่วยเหลือให้ทั่วถึงแก่ประชาชนทุกกลุ่ม ให้ครอบคลุมและรวดเร็วอีก รวมทั้งยังจะทบทวนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการคนละครึ่งเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์โดยตรงมากที่สุด”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน