‘เฮ้ง’ยันเอ็มโอยูล็อตแรกวิศวกร‘โฟร์แมน-เชฟ’

‘รมต.เฮ้ง’ เดินเครื่องส่งคนไทยไปทำงานที่ซาอุฯ เตรียมส่ง วิศวกรเงินเดือน 1.2 แสน เชฟ- โฟร์แมน เงินเดือนกว่า 2.5 หมื่น แถมมีสวัสดิการประกัน อาหาร ที่อยู่พร้อม เผยภายใน 45 วันทั้งสองประเทศต้องเซ็นเอ็มโอยู รับวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030 ด้านจังหวัดอุดรฯ ขยับแล้ว เตรียมความพร้อมส่งแรงงานไปซาอุฯ อีกครั้ง เผยเคยเป็นอันดับหนึ่ง คนแห่เดินทางไปทำงานที่ประเทศดังกล่าว สร้างรายได้กว่าหมื่นล้านบาท

วันที่ 28 ม.ค. นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบียว่าหลังการเดินทางร่วมคณะกับพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เยือนประเทศซาอุดีอาระเบีย อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25-26 ม.ค. ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมารรองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ตามนโยบายวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030 (Saudi Vision 2030) ที่ต้องการเปิดประเทศ ไม่พึ่งพารายได้จากพลังงานเพียงอย่างเดียว

นายสุชาติกล่าวต่อว่า ในการเดินทางเยือนซาอุฯ มีโอกาสพบและหารือกับนายอะห์หมัด บิน สุไลมาน อัลรอยิฮี รมว.ทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคม หรือรัฐมนตรีแรงงานพบว่า ซาอุฯ ต้องการแรงงานจำนวนมาก เพื่อรองรับ ถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030 (Saudi Vision 2030) ที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก จึงจำเป็นต้องก่อสร้าง โรงแรม อาคารต่างๆ อีกมากมาย

สำหรับการบริหารจัดการการท่องเที่ยว ทำให้ซาอุฯ ต้องการแรงงานจำนวนมาก เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการ โดยแรงงานที่ต้องการมี 3 ระดับ คือ 1.แรงงานฝีมือ กลุ่มนี้เป็นแรงงานที่มีทักษะสูง อาทิ วิศวกรก่อสร้าง เงินเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 1.2 แสนบาทต่อเดือน 2.แรงงานกึ่งฝีมือ อาทิ ช่างเครื่องจักร โฟร์แมนในการควบคุมการก่อสร้าง เชฟปรุงอาหาร เป็นต้น กลุ่มนี้จะมีเงินเดือนขั้นต่ำ 25,000 บาทต่อเดือน แต่มีสวัสดิการ มีอาหาร มีประกันสุขภาพ ประกันชีวิต มีที่อยู่อาศัย เงินเดือนเหลือเก็บ และแรงงานไร้ฝีมือ กลุ่มนี้ในเมืองไทยมีไม่มาก จึงเชื่อว่าในจำนวนแรงงานที่ซาอุฯ ต้องการประมาณ 8 ล้านคน ไทยคงส่งไปได้จำนวนไม่น้อย ในระดับแรงงานฝีมือ และแรงงานกึ่งฝีมือ ที่ผ่านมาเมื่อ 30 ปีก่อน ไทยเคยส่งแรงงานไร้ฝีมือไปก่อสร้างประมาณ 2 แสนคนต่อปี ขณะนี้ข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2564 แรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในซาอุดีอาระเบีย จำนวน 1,345 คน

“การผลักดันความร่วมมือด้านแรงงานให้เกิดขึ้นโดยเร็ว หลังจากเดินทางเยือนซาอุฯ แล้ว ไม่เกิน 30-45 วัน ทั้ง 2 ประเทศคือไทยและซาอุฯ ต้องได้ทำเอ็มโอยูระหว่างกัน ซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้กำชับกระทรวงแรงงานให้เข้มงวดและตรวจสอบรายละเอียดของการทำงาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ทั้งในเรื่องของค่าจ้าง การหักหัวคิวของบริษัทจัดส่งแรงงานไปต่างประเทศ ความปลอดภัยของคนไทย มุ่งรักษาสิทธิของลูกจ้าง และ ลดความขัดแย้งระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง” นายสุชาติกล่าว

นายสุชาติกล่าวว่า ทางรัฐมนตรีแรงงานของซาอุฯ ได้สอบถามปัญหาและอุปสรรคของทางการไทย หากจำเป็นต้องส่งแรงงานไปซาอุฯ จะสามารถทำได้หรือไม่อย่างไร และเนื่องจากไทยไม่ได้จัดส่งแรงงานไป ซาอุฯ นานมาก ทำให้ทางรัฐมนตรีแรงงานของซาอุฯ ได้สอบถามถึงวิธีดำเนินการว่าจะทำอย่างไร ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานตนเองได้ตอบไปว่า ปกติ จะต้องดำเนินการแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี รัฐบาลต้องทำสัญญาระหว่างกันก่อน ภายใต้หลักการรัฐจัดส่งเอกชนจัดหาการจัดส่งแรงงานระหว่างกัน เอกชนในระดับคนทำงานเขามีความสามารถ เขาสามารถดำเนินการได้เลย ขอเพียงให้ได้รับสัญญาณจากรัฐบาลเท่านั้นว่า แรงงานไทยสามารถไปทำงานซาอุฯ ได้แล้ว ส่วนคำถามที่ว่าแรงงานมีหลากหลายระดับ โดยเฉพาะแรงงานมีฝีมือ และแรงงานกึ่งฝีมือไทยจะมีจัดส่งหรือไม่ เรื่องนี้ได้ยืนยันกับทางซาอุฯ ว่าสามารถดำเนินการได้ เพราะมีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สามารถพัฒนาแรงงานให้ตรงกับความต้องการของผู้จ้าง

ที่ จ.อุดรธานี ว่าที่ร.ท.อนุเทพ ศรีดาวเรือง เจ้าหน้าที่จัดหางานจ.อุดรธานี เปิดเผยว่า ทางสำนักงานฯ ได้หยิบยกการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับซาอุดี อาระเบียในรอบกว่า 30 ปีมาพิจารณา เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานไทยกลับเข้าไปทำงานได้ ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2520-2540 จ.อุดรธานี มีสถิติแรงงานไปทำงานที่ซาอุฯ โดยช่วงปี 2525-2532 เป็นช่วงที่แรงงานไทยเดินทางไปทำงานซาอุฯ เฉลี่ยปีละ 1.6 หมื่นคน สร้างรายได้ต่อปีถึง 1.47 หมื่นล้านกว่าบาท โดยเป็นข้อมูล ซึ่งพื้นฐานคนอุดรธานีนิยมไปทำงานต่างประเทศอยู่แล้ว ตอนนี้รอแค่ฝ่ายนโยบายไปเจรจากับทางซาอุฯ เพื่อกำหนดนโยบาย ตำแหน่งงานใด ก็จะมีการเปิดรับสมัคร โดยต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง เพราะแรงงานของที่นี่เดินทางไปทำงานซาอุฯ มากสุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ

นายวิชัย จันทร์เพ็ญ อายุ 76 ปี ชาวอุดรธานี อดีตแรงงานที่เคยไปทำงานที่ซาอุดี อาระเบียเป็นเวลา 9 ปี กล่าวถึงความหลังว่า ตนสมัครไปทำงานซาอุดีอาระเบีย เมื่อปี 2528 โดยสมัครไปทำงานเป็นคนขับรถในซูเปอร์มาร์เก็ตได้ 3 ปี ก่อนไปเป็นพนักงานขับรถบรรทุกน้ำมัน 3 ปี สุดท้ายไปขับรถดัมพ์อีก 3 ปี จนมีสถานการณ์สู้รบระหว่างอิรักกับคูเวต สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก การทำงานไม่ค่อยดี จึงตัดสินใจกลับไทย

นายวิชัยกล่าวว่า ช่วงไปขับรถดัมพ์นั้น ตนได้เบี้ยเลี้ยงรายได้ 3-4 หมื่นบาท ตนไม่มีปัญหาในการทำงาน นายจ้างใจดี มีสวัสดิการให้ทุกอย่าง ทั้งอาหาร ค่ารักษาพยาบาลก็ฟรี ตอนขับรถก็สามารถเข้าไปรักษาได้ตลอด เงินเดือนที่หามาได้ก็ส่งกลับบ้านให้ภรรยาไว้ใช้จ่าย ส่งลูก 2 คนเรียนจนจบเป็นครู บางส่วนก็เก็บไว้ พอกลับไทยก็เอาเงินเก็บมาซื้อรถแบ๊กโฮถมที่ ก็ไม่ลำบากมากนัก ตอนนั้นงานทำที่ไทยดิ้นรนมาก ทำไปไม่มีเงินเก็บ จึงตัดสินใจไปทำงานที่ซาอุฯ

สำหรับแรงงานไทยที่ไปนั้น นายวิชัยกล่าวว่า ก็เจอทั้งนายจ้างดีและไม่ดี บางคนถูกลอยแพ เพราะกิจการที่ทำขาดทุน ไม่มีเงินจ้าง ก็อาศัยสถานทูตไทยช่วยเหลือส่งกลับบ้าน โดบบรรยากาศตอนไปทำงานนั้น ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากทำจะถือว่าผิดกฎหมาย ถูกลงโทษโดยการใช้แส้หวายตี จะมีกำหนดว่าจะต้องถูกตีกี่ครั้ง โดยจะถูกลงโทษทุกวันศุกร์ ส่วนความผิดทั้งข่มขืน ปล้นนั้น มีโทษสถานเดียวคือตัดคอ แรงงานไทยหรือแรงงานชาติอื่นๆ มักจะไปก่อเหตุลักทรัพย์บ่อยมาก ก็จะถูกตัดนิ้ว แต่ไม่ทำผิดกฎหมาย ก็อยู่ประเทศเขาได้สบาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน