โจ๊กลงใต้คุยพ่อแม่แจงคดี! รวบแล้ว41หมาย
‘บิ๊กโจ๊ก’ ลงสุราษฎร์ธานีพูดคุยพ่อแม่เหยื่อกามเด็ก เร่งเยียวยาหลังคดีผ่านไป 6 เดือน เตรียมส่งเหยื่ออีก 4 คนเข้าคุ้มครองพยาน ประสานกระทรวงยุติธรรมแล้ว เผยออกหมายจับแล้ว 42 หมาย จับได้แล้ว 41 หมาย เตรียมสรุปคดีจนท.ทำร้ายเด็กส่งอัยการภายในสัปดาห์นี้ ส่วนคดีเป็นเจ้าพนักงานละเว้นปฏิบัติหน้าที่คาดส่งป.ป.ช.ได้ไม่เกินอาทิตย์หน้า ยันสรุปสำนวนคดีได้ทุกรายราว 1 เดือน มั่นใจไม่มีการเมืองแทรกแซง

จากกรณีการเข้าช่วยเหลือเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ถูกบังคับค้าประเวณีในพื้นที่จ.สุราษฎร์ธานี โดยได้ขยายผลช่วยเหลือเด็กที่เป็นเหยื่อรวม 9 คน ออกหมายจับผู้ต้องหา 42 หมายจับ รวม 30 คน แยกเป็นแม่เล้า 8 คน ข้อหาค้ามนุษย์ฯ และลูกค้า 22 คน ข้อหากระทําชําเราฯ และพรากผู้เยาว์ฯ จับกุมแล้ว 41 หมายจับ 29 คน ซึ่งลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ มีทั้งลูกอดีตนักการเมืองชื่อดังใน จ.สุราษฎร์ธานี, หมอ, ทหาร, ผู้บริหารปกครองส่วนท้องถิ่น และยังดําเนินคดีกับเจ้าหน้าที่และผู้บังคับบัญชาระดับสูงของบ้านพักเด็ก ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ, ข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่ฯ หรือให้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ฯ โดยขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายและขัดขวางการสืบสวนสอบสวนการฟ้องร้อง หรือการดําเนินคดีความผิดฐานค้ามนุษย์ ตามที่เสนอมาโดยตลอดนั้น

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 11 พ.ค. ที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผบ.ตร. ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือรองผอ.ศพดส.ตร. พร้อมด้วยพล.ต.ต. พนัญชัย ชื่นใจธรรม รองผบช.ภ.1, พล.ต.ต. ศุภเศรษฐ์ โชคชัย รองผบช.ทท. และพล.ต.ต.วันไชย เอกพรพิชญ์ รองผบช.ภ.8 และเจ้าหน้าที่เอ็นจีโอเดินทางลงพื้นที่จ.สุราษฎร์ธานีเพื่อติดตามความคืบหน้าคดีอย่างใกล้ชิด

เยียวยา – พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผบ.ตร. พูดคุยกับญาติของเหยื่อค้ากามเด็ก เพื่อติดตามความคืบหน้าการเยียวยา พร้อมกับเร่งนำเหยื่อทั้งหมดเข้าโครงการคุ้มครองพยาน ที่บก.ภ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 11 พ.ค.

โดยพล.ต.ท.สุรเชษฐ์เข้าพูดคุยกับญาติของเหยื่อค้าประเวณีเด็กทั้งหมด เพื่อติดตามความคืบหน้าการเยียวยาผู้เสียหาย หลังจากตํารวจเข้าช่วยเหลือและจับกุมผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์มากว่า 6 เดือนแล้ว พบว่าญาติส่วนใหญ่ยังไม่ได้ยื่นเรื่องที่สํานักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จ.สุราษฎร์ธานี เบื้องต้นทางญาติให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่อย่างดี ตนสั่งการให้ตํารวจช่วยอํานวยความสะดวกเรื่องยื่นขอรับเงินในการเยียวยา พร้อมให้เร่งสอบสวนปากคําพยานทั้งหมด และย้ำกับญาติของผู้เสียหายทุกรายว่าการรับเงินจากผู้ต้องหาเพื่อให้กลับ คําให้การ อาจทําให้ญาติของผู้เสียหายตกเป็น ผู้ต้องหาในคดีค้ามนุษย์ด้วย นอกจากนี้ยังสั่งการเจ้าหน้าที่ตํารวจเร่งประสานงานส่งตัวเด็กที่เป็นเหยื่ออีก 4 ราย ซึ่งอยู่ในบ้านพักเด็ก 2 ราย และดูแลตัวเองที่บ้านอีก 2 รายให้เข้าสู่โครงการคุ้มครองพยานด้วย

“คดีนี้มีความคืบหน้าไปมาก ต้องเร่งทําให้ความจริงปรากฏและให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ขณะนี้สามารถออกหมายจับผู้ต้องหาได้ 42 หมายจับ และจับกุมแล้ว 41 หมายจับ โดยเฉพาะการดําเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งนี้คดี เจ้าหน้าที่ทําร้ายร่างกายเด็กจะสามารถสรุป สํานวนส่งพนักงานอัยการได้ภายในสัปดาห์นี้ ส่วนการดําเนินคดีเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ, ข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่ฯ หรือให้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ฯ โดยขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายและขัดขวางการสืบสวนสอบสวนการฟ้องร้องหรือการดําเนินคดีความผิด ฐานค้ามนุษย์ฯ จะเร่งส่งสํานวนการสอบสวนเบื้องต้นไปยังป.ป.ช. ไม่เกินสัปดาห์หน้าอย่างแน่นอน คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณเดือนกว่าก็จะสามารถสรุปสำนวนคดีได้ ทุกราย” พล.ต.ท.สุรเชษฐ์กล่าว

ก่อนหน้านี้ ช่วงเช้า ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวถึงความคืบหน้าคดีละเมิดสิทธิเด็กที่จ.สุราษฎร์ธานี ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) และพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.มอบหมายให้ตนลงพื้นที่อีกครั้ง เพื่อดูแลสำนวนความคืบหน้าของคดีและพบพ่อแม่ของเด็ก

ผู้สื่อข่าวถามว่าหวั่นใจหรือไม่กรณีมีนักการเมืองในพื้นที่แทรกแซง พล.ต.ท.สุรเชษฐ์กล่าวว่า ยอมรับว่าเรื่องนี้มีปัญหามานานแล้ว แต่ใครก็ตามที่เข้ามาแทรกแซงการสอบสวน ตนให้พนักงานสอบสวนทำเรื่องขออนุมัติต่อศาลเพิกถอนการประกันไปแล้ว ขณะนี้ผู้ต้องหาที่ได้รับการประกันตัวไปก่อนหน้านี้ ศาลได้เพิกถอนการประกันแล้ว จนต้องกลับเข้าไปอยู่ในเรือนจำ คดีนี้ทำง่ายๆ ตรงไปตรงมาไม่มีอะไรซับซ้อน ดังนั้นพนักงานสอบสวนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการงานร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดังนั้นกระทำเหมือนเช่นทุกองค์กรที่ถ้ามีผู้กระทำผิดก็ต้องทำความจริงให้ปรากฏ โดยเฉพาะ ผบ.ตร.เน้นย้ำ ส่วนไหนที่กระทำผิดก็ต้องทำความจริงให้ปรากฏ

“ในท้องถิ่นต้องแยกให้ออกส่วนไหนถูก ส่วนไหนผิด ไม่เช่นนั้นเด็กจะย่ำแย่ ดังนั้นที่สำคัญคือจะต้องกันเด็กทั้งหมด 8 คน รวมทั้งหัวหน้าบ้านพักเด็กเข้าร่วมโครงการคุ้มครองพยาน โดยประสานกระทรวงยุติธรรมเรียบร้อยแล้ว การลงพื้นที่ในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ ผมจะพบกับพ่อแม่เด็กเพื่อให้เกิดความมั่นใจและอุ่นใจว่าเขาจะน้องได้รับเงินเยียวยา และได้รับการดูแล”

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ไม่ลำบากใจกรณีอิทธิพลในพื้นที่ใช่หรือไม่ ผู้ช่วยผบ.ตร. กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่หนักใจ เพราะสิ่งที่เราทำมีความชัดเจน ไม่ได้กลั่นแกล้งใคร ทำอย่างตรงไปตรงมา เรื่องการตีเด็กในสถานที่ราชการจะต้องไม่เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง ยืนยันว่าไม่มีเรื่องการเมืองในพื้นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง หรืออาจจะเป็นเครือญาติหรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งถือเป็นการกระทำผิดปกติก็ต้องถูกดำเนินคดี

วันเดียวกัน นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงความคืบหน้าการสอบสวนข้อเท็จจริงรองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจ.สุราษฎร์ธานี และเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กฯ ว่า ขณะนี้ดำเนินการสอบข้อเท็จจริงกับบุคคลทั้ง 3 แล้ว แบ่งเป็นผู้ถูกร้องเรียน 2 คนคือรองอธิบดี ดย. เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กฯ และผู้ร้องเรียน 1 คนคือหัวหน้าบ้านพักเด็กฯ แต่ยังไม่มีรายงานความคืบหน้าเข้ามา

“วันนี้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงซึ่ง มีรองปลัดพม.เป็นประธาน ลงพื้นที่จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อสอบพยานแวดล้อมทั้งหมด คาดว่าหากประเด็นเคลียร์ก็น่าจะจบได้เลย หากไม่เคลียร์ คือมีประเด็นสงสัยเพิ่มเติม ต้องเรียกสอบเพิ่ม คาดว่าจะสามารถรายงานผลสอบเบื้องต้นมาที่ตนอย่างช้าภายในวันศุกร์ 13 พ.ค.นี้”

ผู้สื่อข่าวถามว่าการสอบครั้งนี้อาจมีการช่วยเหลือกัน โดยเฉพาะรองอธิบดีดย. นางพัชรีกล่าวว่า ยืนยันว่าจะไม่มีเรื่องดังกล่าว

เมื่อถามถึงความคืบหน้าของคณะทำงานช่วยเหลือและแก้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ ที่รมว.พม.ลงนามแต่งตั้งไปเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น ปลัดพม.กล่าวว่า คณะทำงานหยิบยกกรณีค้าประเวณีจ.สุราษฎร์ธานี มาถอดบทเรียน ตั้งแต่การวิเคราะห์ระบบการช่วยเหลือผู้เสียหาย ตั้งแต่การแจ้งขอความช่วยเหลือ ทีมสหวิชาชีพลงไปช่วยเหลือ คัดแยกผู้เสียหาย กระบวนการส่งต่อ การดูแลของศูนย์คุ้มครอง การสอบปากคำ ตลอดจนการดูแลและสนับสนุนผู้เสียหายให้ต่อสู้ในคดี มันติดขัดหรือบกพร่องตรงไหน รวมถึงทำไมเด็กถึงถูกล่อลวงไปค้าประเวณี เพื่อจะให้มีนโยบายหรือกลไกป้องกันเด็กไม่ให้ถูกล่อลวง ซึ่งจะถอดบทเรียนให้ครบทั้ง 4 ภาค ภายในเวลา 1 เดือน

นางพัชรีกล่าวต่อว่า ฝากสังคมอ่านข่าวให้ละเอียด คดีนี้เด็กไม่ได้อยู่ที่หน่วยงานพม.แล้วเอาไปค้าประเวณี แต่คือพม.ได้รับแจ้งจากโรงแรมแห่งหนึ่งว่ามีเด็กถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว เราจึงไปแจ้งตำรวจเพื่อช่วยเด็กคนนั้นออกมา ต่อมามีการสืบเสาะต่อจนพบ ผู้เกี่ยวข้องอีกหลายคน ฉะนั้นถ้าเราคิดว่าจะช่วยปิดบังคดี คงจะไม่ไปชี้ เช่นเดียวกัน ผู้บริหารของเรา ไม่ได้ไปซื้อบริการทางเพศเด็ก แต่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกลี้ยกล่อมให้หัวหน้าบ้านพักเด็กฯ ไม่สืบค้นคดีต่อ และไม่ได้เกี่ยวกับการพัวพันคดีค้ามนุษย์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน