พท.-ก้าวไกลอ้าแขนรับผู้กองป้อมเคลียร์พรรคเล็ก17กค.กลุ่ม16ขู่ล้มป๊อก-สันติ-ชัยวุฒิ

‘ธรรมนัส’ โต้แกล้งแพ้เลือกตั้งซ่อมส.ส. ลำปาง ยันสู้เต็มที่ ไม่มีดีลลับกับเพื่อไทย นัดเข้ากราบลา ‘บิ๊กป้อม’ ไปเป็นฝ่ายค้าน 17 ก.ค.นี้ ลั่นพร้อมร่วมศึกซักฟอก ถ้าฝ่ายค้านให้ร่วมงาน เพื่อไทยย้ำเปิดกว้าง ร่วมตรวจสอบรัฐบาล ก้าวไกลหนุนรวมพลังล้ม ‘บิ๊กตู่’ ด้าน ‘บิ๊กป้อม’ นัดเช็กเสียงพรรคเล็ก 17 ก.ค. ‘พีระวิทย์’ ยันกลุ่ม 16 เทคะแนนให้ ‘ประยุทธ์-ประวิตร-สุชาติ’ ขู่โหวตคว่ำ ‘อนุพงษ์-สันติ-ชัยวุฒิ’ ‘เอกนัฏ’ เผยรอ ‘พีระพันธุ์’ เคาะเปิดตัวเข้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กกต.ยื่นอุทธรณ์คดีใบส้ม ‘สุรพล’ ขอทุเลาจ่ายเยียวยากว่า 70 ล้านบาท

‘ชวน’ออกร.พ.-พักฟื้นที่บ้าน
เมื่อวันที่ 14 ก.ค. รายงานข่าวจากคนใกล้ชิด นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า หลังจากที่นายชวนตรวจพบว่า ติดเชื้อโควิด-19 และเข้ารับการรักษาตัวที่ โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมานั้น ล่าสุด บ่ายวันที่ 14 ก.ค. แพทย์ประจำตัว ได้อนุญาตให้นายชวนกลับมา พักฟื้นที่บ้านได้

ถ้านับการรักษาตัวอย่างน้อย 7 วัน ตั้งแต่นายชวน เริ่มมีอาการอ่อนเพลียเมื่อวันที่ 11 ก.ค. คาดว่าวันที่ 19 ก.ค. ซึ่งเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลรวม 11 คนเป็นวันแรก นายชวนจะมาปฏิบัติหน้าที่ที่อาคารรัฐสภาอย่างแน่นอน ซึ่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้มีรัฐมนตรีถูกอภิปราย 11 คน คือนายกฯ และรัฐมนตรีอีก 10 คน มีขึ้นระหว่างวันที่ 19-22 ก.ค. ลงมติวันที่ 23 ก.ค.

‘ธรรมนัส’โต้แกล้งแพ้ซ่อมลำปาง
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) กล่าวในรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ถึงข้อสังเกตของนักวิชาการบางคนที่ระบุว่าพรรคเศรษฐกิจไทย เล่นลิเกโรงใหญ่ มีดีลลับกับเพื่อไทย แกล้งแพ้ในการเลือกตั้งซ่อมส.ส.ลำปาง เขต 4 เพื่อสร้างเงื่อนไขไปอยู่กับฝ่ายค้านว่า ถ้าไม่ลงพื้นที่จริงจะไม่รู้ว่าเป็นการเล่นเกมหรือไม่ ไม่มีครั้งไหนที่ตนทุ่มเทลงพื้นที่เท่าครั้งนี้ ลาประชุมสภาเพื่อไปฝังตัวในพื้นที่ ปราศรัยทุกวัน วันละ 3 รอบ ใน 27 ตำบล ทำโพลสำรวจก่อนลงคะแนน ผลออกมา ว่าเราแพ้ขาด ทำให้เครียดและต้องมาหารือกับคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และส.ส. 16 คน เพื่อปรับกลยุทธ์ ยืนยันว่าไม่ใช่การแกล้งแพ้แน่นอน

ผู้สื่อข่าวถามว่าผลโพลแพ้ขาด เหตุใดไม่ขอ ความช่วยเหลือจากนายพินิจ จันทรสุรินทร์ อดีตส.ส.ลำปาง เจ้าของพื้นที่เดิม ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ไม่อยากรบกวน เพราะทราบว่าภรรยา ป่วยอยู่ และอยากเดินด้วยตัวเอง อยากรู้ว่าฐานพรรคเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นหรือไม่ ยอมรับว่าที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนจากผู้นำชุมชนตำหนิผู้สมัครของพรรคห่างพื้นที่ เนื่องจากงานสภามีประชุมมาก ไม่ได้กลับพื้นที่ แต่เชื่อว่านายพินิจไม่ได้ส่งสัญญาณ ถึงฐานคะแนนให้มาเทคะแนนให้พรรคเสรีรวมไทย (สร.) เพราะทราบว่ามีความเกรงใจพรรคเสรีรวมไทยอยู่

ยันไม่มีดีลลับ-ซัดมือที่มองไม่เห็น
ส่วนที่มองว่าพรรคเพื่อไทย (พท.) ไม่เทคะแนน หรือไม่ส่งคนลงเลือกตั้งนั้น เป็นเพราะ เวลาสภาเหลืออีกไม่นานและผู้สมัครยังไม่ลงตัวจึงไม่ส่ง นอกจากนั้นพรรคเพื่อไทย คงอยากจะรู้ว่าฐานที่แท้จริงของพรรคเศรษฐกิจไทยมีเท่าไรด้วย จากการเลือกตั้งต้องยอมรับว่าเรามีฐานเสียงประมาณ 3 หมื่น ทั้งจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 และครั้งนี้ แต่จะเป็นฐานสำคัญที่ต้องถอดบทเรียน ในการเลือกตั้งครั้งหน้าต่อไป ส่วนหนึ่งเรารู้ว่า แกนนำ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ผู้นำท้องถิ่น ถูกเบรกโดยคนที่มองไม่เห็น และไม่สามารถลงพื้นที่ให้เราได้ และมีการ ตัดกำลังไม่ให้เราลงพื้นที่

คนที่วิเคราะห์ว่าพรรคเศรษฐกิจไทยแกล้งแพ้ อาจฟังมาจากหลายด้านและผสมกับหลักรัฐศาสตร์ว่ามีแนวโน้มว่าตนอยากจะกลับไปบ้านเดิม จึงหาเหตุและผลที่ทำให้สังคมมองได้ แต่ในความเป็นจริงหลักรัฐศาสตร์กับหลัก ข้อเท็จจริงบางครั้งต่างกัน การทุ่มเทครั้งนี้ไม่ใช่มาเล่นๆ เพราะครอบครัวเศรษฐกิจไทยหลายคนมาลงพื้นที่ด้วย หากตนไม่เอาจริง คนเหล่านี้จะอยู่กับตนหรือไม่ และคนที่จะเข้ามา เป็นครอบครัวเศรษฐกิจไทยจะมองอย่างไร

“การพ่ายแพ้ครั้งนี้ พรรคเศรษฐกิจไทยเสียเครดิต เสียทรงมวย และยังกระทบกับ ผู้สมัคร และว่าที่ผู้สมัครหลายคน นักการเมือง ท้องถิ่นที่จะมาอยู่กับเรา หลายจังหวัด โดยเฉพาะในภาคอีสานถอนตัวที่จะมาอยู่ กับเรา ถามว่าหากแกล้งแพ้จะได้อะไร” ร.อ.ธรรมนัสกล่าว

ลา‘ป้อม’17ก.ค.-ยังเป็นฝ่ายค้านอิสระ
ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ส่วนสาเหตุการถอนตัว จากการร่วมรัฐบาล เป็นเพราะผลการเลือกตั้งซ่อมส.ส.ลำปาง ที่ประชาชนสะท้อนและให้บทเรียน แสดงถึงความนิยมของรัฐบาลตกต่ำลงและยังบอกให้ตนรู้ว่าอย่าเชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไป แม้จะทำงานให้ประชาชนในพื้นที่มาตลอดก็ตาม หลังจากตัดสินใจถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล จะขอเข้าพบพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เพื่อกราบลาเป็นการส่วนตัวและบอกว่ายังรักและเคารพเช่นเดิม โดยไปลาวันที่ 17 ก.ค. เลื่อนจากเดิมวันที่ 15 ก.ค. เนื่องจากพล.อ.ประวิตร ติดภารกิจ สำหรับบทบาทการทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายค้านตอนนี้ยังเป็นฝ่ายค้านอิสระ เพราะพรรคร่วมฝ่ายค้านยังไม่ได้เชิญหรือตอบรับให้เข้าร่วมทำงานในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้าน

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะร่วมเป็นผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีด้วยหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า กำลังคิดอยู่ อาจจะหาเวลา พูดอภิปรายด้วย แต่ขณะนี้ติดปัญหาว่ายังไม่ได้ เป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างเป็นทางการและยังไม่ทราบว่าฝ่ายค้านจะให้เข้าร่วมทำงาน หรือจัดสรรเวลาให้พรรคเศรษฐกิจไทยด้วยหรือไม่อย่างไร

สำหรับส.ส.กลุ่ม 16 ที่จะย้ายมาลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคเศรษฐกิจไทย มี 5 คน ขึ้นไป ยังเหนียวแน่นกับตนและได้ลงพื้นที่ ในนามพรรคเศรษฐกิจไทยอยู่แล้ว ในวันที่ 18 ก.ค. จะไปคุยกับแกนนำกลุ่ม 16 อาทิ นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค หัวหน้าพรรคไทรักธรรม (ท.ธ.) นายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้า พรรคประชาธิปไตยใหม่ (ปธม.) เกี่ยวกับท่าทีการอภิปราย เพื่อประกาศจุดยืนและแนวทางที่ชัดเจนของพรรค

พท.ชี้‘ผู้กอง’ต้องเจรจาร่วมทีมเอง
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีร.อ.ธรรมนัส ประกาศ เป็นฝ่ายค้าน 100% ว่า โดยหลักการแล้วร.อ.ธรรมนัส ต้องเป็นผู้มาเจรจาก่อนว่าจะเข้าร่วมกับฝ่ายค้านแบบไหน เพราะที่ผ่านมาพรรคร่วมฝ่ายค้านมี 6 พรรค หาก ร.อ.ธรรมนัส จะมาเข้าร่วมด้วย ต้องมีการหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งหมดด้วยว่าเห็นอย่างไร ดังนั้น ร.อ.ธรรมนัสต้องแสดงท่าทีให้ชัดเจนว่าจะมาร่วมกับฝ่ายค้าน

ส่วนที่ ร.อ.ธรรมนัสระบุจะทำหน้าที่ไปในทิศทางเดียวกันกับฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนั้น แม้ว่า ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทยจะไม่ได้ร่วมเซ็นชื่อในญัตติ แต่สามารถอภิปรายรัฐบาลได้เช่นกัน แต่ต้องประกาศตัวและพูดให้ชัดเจนว่าจะเป็นฝ่ายค้านและจะมาร่วมเป็นหนึ่งในพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่สำคัญพรรคเศรษฐกิจไทยต้องมีข้อมูลที่สามารถสั่นสะเทือนรัฐบาลได้ และอยู่ในกรอบของญัตติ 6 ข้อที่ฝ่ายค้านยื่นไป เราถึงจะพิจารณาจัดสรรเวลาให้ เพราะขณะนี้มีการกำหนดเวลาและตัวบุคคลที่จะอภิปรายในส่วน ของพรรคร่วมฝ่ายค้านไปหมดแล้ว

พร้อมให้เวลาร่วมซักฟอก
ด้านนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ขณะนี้พรรคเพื่อไทยกำหนดคนอภิปรายไว้ประมาณ 20 คน โดยจะอภิปราย รัฐมนตรีทั้งหมด ซึ่งผู้อภิปรายทั้ง 20 คน จะมีทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ อาทิ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรค น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. นายศรันย์ ทิมสุวรรณ ส.ส.เลย และตน

ส่วนที่ ร.อ.ธรรมนัสระบุว่าจะหาเวลา ขออภิปรายด้วยนั้นเราไม่ขัดข้อง เพียงแต่ร.อ.ธรรมนัสยังไม่ได้ประสานมา แต่ยอมรับว่าเราได้วางแผนการทำงานไปหมดแล้ว หากเป็นความประสงค์ที่ร.อ.ธรรมนัสจะร่วมอภิปรายด้วย เราจะประชุมหารือกันอีกครั้ง โดยวันที่ 18 ก.ค.จะหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน อีกครั้งก่อนอภิปราย

เมื่อถามถึงคิวอภิปรายรัฐมนตรีจะเริ่มต้นที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และปิดท้ายที่ 3 ป.ใช่หรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า ที่วางไว้จะเริ่มที่นายอนุทิน รัฐมนตรีจากจากพรรคภูมิใจไทย ต่อด้วยพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคพลังประชารัฐ และปิดที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม

ก.ก.หนุนรวมพลังล้ม‘บิ๊กตู่’
นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ว่า ส่วนตัวคิดว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านอาจพูดคุย กันว่าจะสามารถเป็นไปได้หรือไม่ที่พรรคเศรษฐกิจไทยจะร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถ้าต้องการทำให้พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่ง ก็ต้องอาศัยทุกฝ่ายในสภา เพื่อเอาพล.อ.ประยุทธ์ลง เบื้องต้นเชื่อว่าหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านแต่ละพรรคยินดีที่จะพูดคุยด้วย ส่วนการทำหน้าที่ของ ร.อ.ธรรมนัส จะได้รับการไว้วางใจจากประชาชนมากแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการทำหน้าที่จากโอกาสที่ได้รับ สุดท้ายประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเองว่าสิ่งที่ร.อ.ธรรมนัสทำไป เพียงพอกับครั้งหนึ่งที่เคยอุ้มชู พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ หรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามถึงแผนการจัดคิวอภิปรายรัฐมนตรีที่เริ่มจากนายอนุทิน และปิดท้ายด้วยพล.อ.ประยุทธ์ นายรังสิมันต์กล่าวว่า คิดว่า การเรียงลำดับเช่นนี้จะช่วยให้ประชาชน จับประเด็นได้ว่ารัฐมนตรีแต่ละคนมีปัญหาอย่างไร และจะทำให้ ส.ส.ได้เห็นการอภิปรายพล.อ.ประยุทธ์ แบบสดๆ ร้อนๆ จึงจะทำให้เกิดศูนย์รวมการลงมติ และทำให้สมาชิก ทุกคนยังจดจำได้ว่า สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ทำไปเลวร้ายอย่างไร

“ถ้าสามารถล้มพล.อ.ประยุทธ์ได้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในรัฐบาลนี้อย่าง แน่นอน และหากล้ม พล.อ.ประวิตร ที่เป็นเบอร์สอง ซึ่งได้ก่อกรรมทำเข็ญไม่แพ้กัน และเป็นนั่งร้านที่สำคัญ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากเช่นกัน ดังนั้นการเก็บไฮไลต์ที่เป็นแก่นกลางของความเลวร้ายไว้ท้ายสุด จะส่งผล อย่างมีนัยยะสำคัญให้การลงมติที่จะเกิดขึ้นในวัน สุดท้าย มีประสิทธิภาพสูงสุด” นายรังสิมันต์กล่าว

‘อู๊ดด้า’จี้พปชร.คุมเสียงในพรรค
ที่ห้างแม็คโคร สาขานครอินทร์ นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็น 1 ใน 11 รัฐมนตรี ที่ถูกอภิปราย ไม่ไว้วางใจ ให้สัมภาษณ์ว่า ได้เตรียมชี้แจงการอภิปรายเหมือนทุกครั้ง ไม่คิดว่ามีปัญหาอะไร และจะตอบในส่วนที่คิดว่าเป็นข้อสงสัย หรือต้องการคำตอบก็จะตอบ และจะถือโอกาส ตอบให้พี่น้องประชาชนรับทราบด้วยในประเด็น ที่ฝ่ายค้านซักถาม ตนยินดีตอบ ไม่มีปัญหาอะไร

ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่าไม่หนักใจใช่หรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า เป็นกระบวนการปกติ ตนเป็นผู้แทนราษฎรมา 11 สมัย เข้าใจกระบวนการของรัฐสภาดีอยู่แล้ว เป็นเรื่องปกติ ที่ฝ่ายค้านต้องตรวจสอบรัฐบาล ต่อข้อถามว่าได้เตรียมตอบเรื่องไหนเป็นพิเศษหรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า เตรียมตามที่ฝ่ายค้านเขียนไว้ ในญัตติ

ส่วนจะใช้เวลาชี้แจงนานเท่าใดนั้นจะเป็นไปตามที่คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทน ราษฎร(วิปรัฐบาล) ได้ประสานงานกันไว้ว่าฝ่ายค้านได้เวลาเท่าไร รัฐบาลมีเวลาเท่าไหร่ เมื่อถามถึงความกังวลต่อเสียงโหวตหลังพรรคเศรษฐกิจไทย ประกาศย้ายไปอยู่ฝ่ายค้าน นายจุรินทร์กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นภารกิจของพรรคแกนนำรัฐบาล คือพรรคพลังประชารัฐ ที่จะเป็นผู้ดำเนินการต่อไป

ส่วนปชป.ดูแลกันเองได้
ด้านนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องการลงมติในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต้องดูพรรคแกนนำว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะเดิม ร.อ.ธรรมนัส อยู่ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ เมื่อออกไปก็ต้องดูว่าจะดำเนินการอย่างไร ทางที่ดีที่สุดต้องรอฟังจากพรรคพลังประชารัฐ เพราะเป็นพรรคแกนนำในการรวบรวมเสียงว่าจะเป็นอย่างไร และรอดูว่า เมื่อถึงที่สุดแล้ว เสียงของรัฐบาลจะมีจำนวนเท่าไร ดังนั้นพรรคแกนหลักต้องดูแลเรื่องนี้

ในส่วนพรรคประชาธิปัตย์ต้องดูแลกันเอง ยอมรับว่าทุกครั้งก็มีปัญหาในการโหวตที่ไม่เป็น ไปตามมติพรรค แต่เราพยายามพูดคุยกันภายในเพื่อทำความเข้าใจ คิดว่าทั้งหมดจะยุติได้ แต่ต้องดูว่าวันอภิปรายจะเป็นอย่างไร การพูดคุยกันต้องมีมากขึ้น แต่ยังไม่สะเด็ดน้ำเสียทีเดียว

เมื่อถามว่า หากมีส.ส.แหกมติพรรคจะมีบทลงโทษอย่างไร เช่นไม่ส่งลงสมัครส.ส. นายนิพนธ์กล่าวว่า เรื่องนี้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พยายามทำหน้าที่อย่างดี และกก.บห.ตามเรื่องนี้อยู่ แต่ละคนต้องลองฟัง เหตุผลว่าเป็นอย่างไร แต่ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันว่าจะมีการลงโทษอย่างไรบ้าง

กลุ่ม 16 รอฟัง‘บิ๊กป้อม’17 ก.ค.
นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทรักธรรม กล่าวถึงท่าทีของกลุ่ม 16 ส.ส.และพรรคเล็ก ในการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า เรื่องเสียงยังให้คำตอบไม่ได้ว่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับพรรคเศรษฐกิจไทยหรือไม่ โดยกลุ่ม 16 จะหารือกันช่วงเย็นวันที่ 17 ก.ค. ภายหลังที่เข้าพบพล.อ.ประวิตร ที่มูลนิธิบ้านป่ารอยต่อฯ แล้ว เราต้องฟังท่าทีและทิศทางของพล.อ.ประวิตรก่อนว่าจะเป็นอย่างไร เพราะร.อ.ธรรมนัส จะลงคะแนนโหวตไว้วางใจให้กับพล.อ.ประวิตร เพียงคนเดียว ซึ่งจะขัดกับมติของกลุ่ม 16

ในวันที่ 18 ก.ค. ร.อ.ธรรมนัส นัดหารือกับกลุ่ม 16 เรื่องหลักๆ ที่จะคุยกันคือแนวทางการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี และอาจมีการพูดถึงแนวทางการทำงานของพรรคเล็กจะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลหรือไม่ ขณะนี้ยังสรุปไม่ได้ว่าพรรคเล็กจะถอนตัวหรือไม่ แต่แนวโน้มคงไม่ถอนตัว เพราะการถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลต้องมีเหตุผล ไม่ใช่จู่ๆ ก็ถอนตัวออกมา กลุ่ม 16 คงต้องหารือกันอย่างรอบคอบในเรื่องนี้

“ยืนยันเราไม่ได้ไปตามร.อ.ธรรมนัสทุกเรื่อง พรรคของร.อ.ธรรมนัสก็เป็นพรรคของเขา เราก็ยังคงอยู่ร่วมรัฐบาล แต่ยังพูดคุยกันได้ตามปกติ ส่วนอนาคตจะย้ายไปอยู่ร่วมพรรคเศรษฐกิจไทยหรือไม่นั้น มีความเป็นไปได้ทั้งหมด แต่ผมยังไม่ตัดสินใจว่าจะไปอยู่พรรคไหน ขอให้ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อนแล้วค่อยตัดสินใจอีกครั้ง” นายพีระวิทย์กล่าว

ขู่คว่ำ‘ป๊อก-สันติ-ชัยวุฒิ’
นายพีระวิทย์ กล่าวว่า ขอย้ำว่ากลุ่ม 16 ขอรอดูการอภิปรายไม่ไว้วางใจส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งรอฟังเสียงของร.อ.ธรรมนัส ยืนยันว่าตอนนี้จะโหวตไว้วางใจให้ 3 คนคือ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร และนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ ส่วนรัฐมนตรี คนอื่นๆ เช่น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย มีการเปิดเผยกันว่าอาจจะโหวตคว่ำ ไม่ไว้วางใจ ซึ่งทางกลุ่ม 16 ก็รับข้อเสนอไว้

การถอนตัวของพรรคเศรษฐกิจไทย จากการร่วมรัฐบาลนั้น ดูแล้วไม่เป็นผลดี ต่อรัฐบาลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะนอกจากเสียงจากพรรคเศรษฐกิจไทยจะหายไป 16 เสียงแล้ว ยังไม่รู้จะมีเสียงส.ส.พรรคพลังประชารัฐที่เป็นสายของร.อ.ธรรมนัส หายไปอีกกี่เสียง การโหวตซักฟอกครั้งนี้ มีบริบทแตกต่างจากการอภิปรายในทุกรอบ แต่ดูแล้วตัวพล.อ.ประยุทธ์ ไม่น่าจะมีปัญหา แต่รัฐมนตรีคนอื่นๆ ไม่รับประกัน อยู่ในข่ายมีความเสี่ยงจะตกเก้าอี้ได้ เช่น นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

โฆษกรัฐจวกกลับ‘ชลน่าน’
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ผลเลือกตั้ง ซ่อม ส.ส.ลำปาง เขต 4 บ่งชี้ว่า คะแนนนิยมอยู่ที่ฝั่งประชาธิปไตย และเมื่อย้อนไปดูผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ก็สอดคล้องกัน ว่า ดูเหมือนจะกลายเป็นงานถนัดของฝ่ายค้าน ไปแล้ว ที่ออกมาตีกิน โยงทุกเรื่องเป็นเรื่องการเมืองเพื่อโจมตีรัฐบาล ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่าสาเหตุที่ผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ลำปางออกมาแบบนั้นเพราะฝ่ายค้านช่วยกันเทคะแนนให้และไม่เกี่ยวกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะพรรคพลังประชารัฐไม่ได้ส่งผู้สมัคร

ยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมชี้แจงในทุกประเด็น โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ว่าฝ่ายค้าน จะจัดเวลาอภิปรายไม่ไว้วางใจไว้ลำดับไหน ผลที่ออกมาก็ไม่แตกต่างกัน เพราะประชาชนทราบดีว่ารัฐบาลโดยเฉพาะนายกฯบริหารประเทศด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และเด็ดขาดกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งแตกต่างจากรัฐบาลในอดีตอย่างชัดเจน

“วันนี้ฝ่ายค้านเริ่มเห็นแววว่าตัวเองจะไปไม่รอด เพราะหาข้อมูลทุจริตไม่ได้ตามที่โม้เอาไว้ จึงรีบออกมาโยนบาปให้คนอื่นว่า หากผลโหวตออกมาว่ารัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นได้รับเสียงไว้วางใจอย่างล้นหลาม เป็นเพราะฝ่ายค้านที่เป็นงูเห่าถูกซื้อตัวไปเยอะ จนเป็นตัวแปรที่มีผลพอสมควร ทั้งๆ ที่ผ่านมา ฝ่ายค้านโหมโรงแทบจะรายวัน แต่เนื้อหาและข้อเท็จจริงกลับไม่เคยมีให้เห็น จึงต้องโยนบาปให้งูเห่าเพื่อรักษาหน้าตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าละอายยิ่งกว่า เข้าทำนองรำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง” นายธนกรกล่าว

‘เอกนัฏ’รอ‘พีระพันธุ์’เคาะเปิดตัว
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อดีตส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีมีชื่อจะไปร่วมพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่จะเปิดตัวแกนนำพรรคในการประชุมใหญ่วิสามัญ พรรควันที่ 3 ส.ค.นี้ โดยมีชื่อนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าพรรค ว่า ขณะนี้ตนและอีกหลายคนที่กำลังคุยเรื่องการทำการเมืองและการตั้งพรรคการเมือง อยู่ระหว่างรอการตัดสินใจบางอย่าง โดยเฉพาะรอการตัดสินใจจาก นายพีระพันธุ์ แต่เบื้องต้นที่มองไว้ว่าหากจะเข้า สังกัดพรรคการเมือง ตัวเลือกอันดับหนึ่งคือ พรรครวมไทยสร้างชาติ

สำหรับนายพีระพันธุ์ หากเขาไปที่ไหน พวกตนจะไปอยู่ที่นั่น ส่วนการตัดสินใจจะไปอยู่พรรคไหนคงให้จบการลงมติอภิปราย ไม่ไว้วางใจ ในวันที่ 23 ก.ค.ก่อน หากสุดท้ายจะไปอยู่พรรคไหน เช่น ไปรวมไทยสร้างชาติ จากนั้น จะเดินสายเปิดตัวแนวร่วมของเรา ในแต่ละพื้นที่ ผู้สื่อข่าวถามว่า คนมองว่า รวมไทยสร้างชาติ จะเป็นพรรคสาขาพันธมิตร ของพรรคพลังประชารัฐ นายเอกนัฏกล่าวว่า ยังไม่ได้คุยกันถึงขั้นดังกล่าว แต่เรามีแนวคิดของเรา กลุ่มคนที่มาคุยกันมีทั้งคนในแวดวงการเมืองและคนที่อยู่ภายนอก ต่างมีความตั้งใจ อยากผลักดันพรรคการเมืองใหม่ ทำการเมืองใหม่ ไม่ยึดติดกับความขัดแย้ง ในอดีต ให้มารวมตัวช่วยกันทำงาน

เมื่อถามว่า 3 อดีตกปปส. ทั้งนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรมว.ศึกษาธิการ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. มีข่าวว่าจะมาอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ ด้วย นายเอกนัฏกล่าวว่า เรากับเพื่อนกับพี่ ที่รู้จักกัน คุยกันหมด รวมถึงส.ส.ที่อยู่ในสภาเวลานี้ แต่การตัดสินใจเป็นสิทธิของแต่ละคน

‘สมชาย’แนะกมธ.คุยก่อนถกกม.ลูก
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่..) พ.ศ… รัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีข้อกังวลปัญหาเรื่องการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ด้วยการหาร 500 ว่า ฝ่ายเสียงข้างน้อยที่ชนะโหวตหาร 500 ต้องแก้มาตราตกกระทบที่เหลืออยู่เพื่อไม่ให้กฎหมายขัดกัน ซึ่งตนได้บอกในกลุ่มไลน์กมธ.ว่า น่าจะประชุมเรื่องนี้ก่อนที่จะถึงวันประชุมร่วมรัฐสภา 26-27 ก.ค.นี้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดความยุ่งยากไม่ราบรื่นในการพิจารณา แต่ดูเหมือนกมธ.ที่อยู่ในไลน์นั้นไม่เห็นด้วย

ดังนั้น ทางออกคือต้องปล่อยให้เกิดการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 26-27 ก.ค. และที่ประชุมร่วมรัฐสภาต้องสะท้อนปัญหานี้ว่าเมื่อกมธ.เสียงข้างน้อยชนะในการแก้ไขมาตรา 23 ของร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.แล้ว มาตราต่อเนื่องจะแก้ไขอย่างไร เพื่อไม่ให้กฎหมายขัดกันเอง เข้าใจว่าฝ่ายเสียงข้างน้อยต้องไปยกร่างปรับปรุงมา ก่อนที่จะโหวตกันในที่ประชุมรัฐสภาต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า ดูแล้วกฎหมายเลือกตั้งฉบับนี้จะทันใช้กับการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ นายสมชายกล่าวว่า คิดว่าทัน แต่ขึ้นอยู่กับสภาว่าจะอยู่ครบวาระหรือไม่ หากเกิดอุบัติเหตุภายหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจปลายเดือนก.ค.นี้ นายกฯ ประกาศยุบสภาก็ไม่ทัน แต่เชื่อว่านายกฯ จะไม่ยุบสภา เพราะมีภารกิจสำคัญคือการต้อนรับผู้นำประเทศต่างๆ ในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปกที่จะมีขึ้นกลางเดือนพ.ย.นี้ ตนเชื่อว่าสภาจะอยู่ไปได้จนถึงพ.ย. หรือเลยไปถึงต้นปี 2566

“หากรัฐสภาร่วมมือช่วยกันให้กฎหมาย ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งสองฉบับผ่านการพิจารณาก็จะใช้ทันการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ถ้าไม่ร่วมมือกันและขัดกันเองด้วยเหตุใด ก็แล้วแต่ แม้ยุบสภา และไม่มีกฎหมายสองฉบับนี้ยังมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ เพราะเมื่อปี 2532 และ 2538 เคยเกิดเหตุการณ์ไม่มีพ.ร.บ.เลือกตั้ง ทำให้ต้องใช้พ.ร.ก. อาศัยความตามประเพณีได้ โดยฝ่ายบริหารสามารถออกพ.ร.ก.ให้มีการประกาศใช้สำหรับกกต.ในฐานะที่จัดการเลือกตั้งได้มีวิธีปฏิบัติ เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างที่จะไม่มีกฎหมายใช้” นายสมชายกล่าว

กกต.ยื่นอุทธรณ์คดี‘สุรพล’แล้ว
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยความคืบหน้าในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ. 164/2562 และคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ. 23/2565 ศาลจังหวัดฮอด กรณี นายสุรพล เกียรติไชยากร ยื่นฟ้อง กกต. และเจ้าหน้าที่ รวม 14 คน เพื่อเรียกค่าเสียหายและเยียวยา ฐานทำให้เสียชื่อเสียง หลังศาลฎีกาพิพากษา ยกฟ้องคดี บูชาเทียนเพื่อทำบุญ วันเกิด 2,000 บาท ไม่ใช่เป็นการซื้อเสียง หรือทุจริตเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี 2562 โดยศาลจังหวัดฮอดได้พิพากษาให้ กกต.จ่ายค่าเสียหายและเยียวยานายสุรพล รวมกว่า 64 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย รวมทั้งสิ้นกว่า 70 ล้านบาทนั้น

ล่าสุดได้รับแจ้งจากนิติกรอัยการจังหวัดฮอดว่าเมื่อวันอังคารที่ 12 ก.ค.พนักงานอัยการได้ยื่นอุทธรณ์และคำร้องขอทุเลาการบังคับคดี ต่อศาลจังหวัดฮอดเรียบร้อยแล้ว

ก.ก.เร่งสอบวินัย‘ส.ก.อานุภาพ’
วันเดียวกัน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร หัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายกทม. พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณี นายอานุภาพ ธารทอง ส.ก.เขตสาทร พรรคก้าวไกล ถูกดำเนินคดีคุกคามทางเพศว่า คณะกรรมการวินัยของพรรคจะเริ่มพิจารณาสอบข้อเท็จจริงและหลักฐานช่วงต้นสัปดาห์หน้า ส่วนข้อมูลการแถลงข่าวของบุคคลกลุ่มหนึ่งที่อธิบายเป็นฉากๆ ประหนึ่งเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ว่าได้บุกเข้าไปช่วยผู้เสียหายด้วยนั้น โดยข้อเท็จจริงไม่ใช่แบบนั้น และเป็นการให้ข้อมูลที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง

การนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาพูดซ้ำอาจทำให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อจิตใจของผู้เสียหาย จึงเป็นสิ่งไม่ควรทำ เพราะยังไม่มีการพิสูจน์ว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ ดังนั้น จึงต้องให้ความ เป็นธรรมกับทุกฝ่ายก่อน คณะกรรมการวินัยฯ จะตัดสินและพิจารณาจากหลักฐานที่ปรากฏที่ปราศจากข้อสงสัยแล้วเท่านั้น เช่น มีการดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น และเมื่อกระบวนการยุติธรรมดำเนินไปจนข้อเท็จจริงปรากฏเพิ่มเติม คณะกรรมการวินัยฯ สามารถเพิ่มโทษ นายอนุภาพ ได้ เพราะข้อกล่าวหาไม่ใช่หลักฐาน

ถ้าล่วงละเมิดทางเพศขับพ้นพรรค
น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม รองโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในส่วนของกระบวนการยุติธรรม พรรคได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยน.ส.ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก.เขตบางซื่อ พรรคก้าวไกล ได้เข้าไปให้ปากคำกับตำรวจแล้วในฐานะพยาน เนื่องจากเป็นผู้ที่ได้พยายามติดต่อกับผู้เสียหายในช่วงที่เกิดเหตุ

ส่วนการดำเนินการทางวินัย พรรคไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินัยพรรคสอบสวนข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วนตั้งแต่ในวันที่ 12 ก.ค. คาดว่าจะส่งรายงานให้กก.บห.ลงมติได้ภายในสุดสัปดาห์นี้ หากมีพยานหลักฐานพอให้เชื่อได้ว่าผู้ถูกกล่าวหา กระทำผิดจริง จะต้องลงโทษ ขั้นสูงสุด คือ ขับพ้นจากสมาชิกภาพของพรรค

พรรคไม่มีอำนาจบังคับให้ส.ก. ลาออกจาก ได้ เนื่องจากแม้จะพ้นจากสมาชิกภาพพรรค ยังสามารถดำรงตำแหน่ง ส.ก. ได้อยู่ เรื่องการลาออกจากส.ก. จึงต้องเป็นวิจารณญาณของเจ้าตัวเอง แต่พรรคได้ยืนยันไปตั้งแต่แรกแล้วว่าหากผู้ถูกกล่าวหา กระทำผิดจริง สมควรต้องพิจารณาลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ต่อประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน