เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มีความยินดีหลังจากได้รับทราบรายงานว่าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 เอชเอ็กซ์พี-จีพีโอแวค (HXP-GPOVac) ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้เข้าใกล้ผลสำเร็จ โดยขณะนี้เข้าสู่การทดลองในมนุษย์ หรือการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 แล้ว ซึ่งหากการทดลองในส่วนนี้ประสบความสำเร็จ จะนำไปสู่การดำเนินการตามแผนงานคือ ขึ้นทะเบียนภายในปี 2566 ดำเนินการผลิตและกระจายวัคซีนสู่ประชาชน โดย อภ.จะมีศักยภาพในการผลิตวัคซีนประมาณ 5-10 ล้านโดสต่อปี นายกรัฐมนตรีขอบคุณ อภ. กระทรวงสาธารณสุข และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนที่เป็นอาสาสมัครในการทดสอบทางคลินิกทั้งใน 2 ระยะที่ผ่านมา และระยะที่ 3 ซึ่งกำลังดำเนินการที่โรงพยาบาลนครพนม จำนวน 4,000 คน ที่อาสาสมัครเป็น พี่น้อง อสม. และประชาชนชาวนครพนม โดยนายกรัฐมนตรีขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันผลักการพัฒนาวัคซีนฝีมือคนไทย
ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ลงพื้นที่ จ.นครพนม เพื่อติดตามการเริ่มการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 3 ของวัคซีนเอชเอ็กซ์พี-จีพีโอแวค ณ โรงพยาบาลนครพนม ได้มีรายงานว่าหากการทดสอบครั้งนี้สำเร็จไปได้ จะเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้คนไทยเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึง ลดภาระค่าใช้จ่ายในการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ และส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงด้านวัคซีนหากเกิดการระบาดขึ้นอีกในอนาคต
ขณะที่ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์โรค โควิด-19 ในประเทศไทย คาดการณ์ว่า หลังปีใหม่จะมีการติดเชื้อระลอกเล็กๆ เพราะวัคซีนป้องกันการติดเชื้อได้ไม่ 100% แต่ป้องกันการเสียชีวิตได้ดี
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ภาพรวมความรุนแรงเมื่อติดเชื้อโควิด-19 ไม่ได้แสดงออกชัดเจน แม้แต่ประเทศที่ติดเยอะๆ บางช่วงระบาดมาก เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น หรือยุโรป ที่เคยมีการเสียชีวิตจำนวนมาก แต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้นแล้ว จึงเชื่อว่าสภาพแวดล้อมเริ่มสมดุล คนทั่วไปมีภูมิคุ้มกัน และเชื้อที่พบมากในไทยคือ BA.2.75 ประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละตัวต่างกันเพียงเล็กน้อย หากนำวัคซีนตัวใหม่เข้ามา ต้องทิ้งของเก่าซึ่งต้นทุนมหาศาล ไม่จำเป็น ไม่ได้เซฟชีวิตต่างจากเดิม