เมื่อวันที่ 11 ม.ค. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า สัปดาห์แรกของปี 2566 สถานการณ์ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ผู้ป่วยอาการหนักและใส่ท่อช่วยหายใจของประเทศมีแนวโน้มลดลง แสดงให้เห็นถึงกระบวนการเฝ้าระวังโรคของไทย การฉีดวัคซีนโควิดที่ครอบคลุม เข็มแรกกว่า 80% เข็มสองกว่า 70% และคนไทยมีความรู้ในการดูแลตัวเอง ทั้งนี้ตามที่เคยคาดว่าหลังปีใหม่จะมีการติดเชื้อในลักษณะพุ่งสูงขึ้น แต่เท่าที่ดูตอนนี้ยังไม่เพิ่มขึ้น แต่จะดูช่วงหลังตรุษจีนด้วย

นพ.ธเรศกล่าวต่อว่า ส่วนหลังจากมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาเที่ยวในไทย ส่วนใหญ่ไปตามแหล่งท่องเที่ยวสายมูหรือวัดชื่อดังตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งจากการประชุมเตรียมการรองรับนักท่องเที่ยวเมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการเตรียมการเรื่องนี้ ตั้งแต่คน วัคซีน สถานที่เพื่อทำตามมาตรการการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล ถ้ามีความห่วงกังวลเรื่องวัดหรือสถานที่ต่างๆ จะประสานไปยังกระทรวงวัฒนธรรมเพิ่มเติม รวมถึงกทม.เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยว

“ขณะนี้มีการเฝ้าระวังการเดินทางผ่านท่าอากาศยาน ทั้งตรวจวัดอุณหภูมิ ให้ความรู้ผู้เดินทาง ว่าหากติดเชื้อโควิดจะต้องทำอย่างไร ซึ่งเราจะทำเพิ่มคือด่านบก เพราะส่วนหนึ่งเดินทางด้วยรถไฟที่กรมควบคุมโรคมีด่านอยู่แล้ว แต่ก็สั่งการแล้วว่าให้เฝ้าระวังในกลุ่มผู้เดินทางเพิ่มขึ้น เช่น เชียงราย จังหวัดชายแดน โดยใช้แนวทางเดียวกันคือถ้าประเทศปลายทางกำหนดว่าจะต้องตรวจ RT-PCR ก่อนกลับ ก็จะต้องทำประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการรักษาโควิด วงเงินไม่ต่ำกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันมี 2 ประเทศที่กำหนด คือ อินเดีย และจีน” นพ.ธเรศกล่าว

นพ.ธเรศกล่าวต่อว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมฉีดวัคซีนโควิดให้ชาวต่างชาติ กรมควบคุมโรคได้เตรียมพื้นที่ใน กทม.ไว้ 2 จุด คือ 1.ศูนย์การแพทย์บางรัก มีคำสั่งให้เปิดบริการทุกวัน และ 2.สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) เขตบางเขน ส่วนกรมการแพทย์จะมีสถาบันโรคผิวหนังเข้ามาช่วย มีค่าบริการทางการแพทย์ 380 บาท ค่าบริการวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า 800 บาท รวม 1,180 บาทต่อเข็ม และไฟเซอร์ 1,000 บาท รวม 1,380 บาทต่อเข็ม โดยพื้นที่กทม.เริ่มบริการแล้ว พื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ กรมควบคุมโรคจะนัดประชุมเตรียมความพร้อม โดยมีเป้าหมายว่าจะให้ทุกจังหวัดมีจุดฉีดวัคซีนสำหรับต่างชาติ 1 จุด

เมื่อถามถึงการคาดการณ์โควิดหลังจากมีนักท่องเที่ยวมากขึ้น นพ.ธเรศกล่าวว่า มีคาดการณ์ฉากทัศน์ไว้ ซึ่งนักท่องเที่ยวระยะแรกคาดว่าจะไม่มาก อย่างจีน 3 เดือนแรกคาดว่าเข้ามา 3 แสนคน คิดเป็น 5% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ขณะที่เราเปิดประเทศตั้งแต่ ต.ค.2565 นักท่องเที่ยวเข้ามาปกติ แต่ยังไม่เห็นการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ ส่วนหนึ่งนักท่องเที่ยวเองก็มีความระวัง แสดงว่าระบบเฝ้าระวังดูแลได้ตามที่คาด

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีคำถามโควิด-19 สายพันธุ์ XBB จะแพร่ระบาดหลักในประเทศไทยว่า กรมควบคุมโรค และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการเฝ้าระวังสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ยังไม่พบสายพันธุ์ XBB ในไทย สายพันธุ์นี้พบมากในสหรัฐอเมริกา แต่การแพร่เชื้อไม่เร็วเท่าสายพันธุ์ BA.2.75 ทำให้สายพันธุ์ XBB ไม่น่าแพร่ระบาดในไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน