ชูถกครม.ไทย-เวียดนาม อินโดฯสั่งซื้อข้าว2ล.ตัน
นายกฯ ปลื้มเยือนญี่ปุ่น ภารกิจประสบความสำเร็จอย่างมาก ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงเวทีอาเซียน-ญี่ปุ่น 50 ปี ย้ำความเป็นหุ้นส่วนแบบใจถึงใจ ผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ เผยได้คุยส่วนตัวทั้งผู้นำกัมพูชา เวียดนาม อินโดฯ เล็งฟื้นการประชุมครม.ไทย-เวียดนาม หารือจัดเส้นทางเที่ยว 4 ชาติ ชาวนาไทยเฮ อิเหนารับปากซื้อข้าว 2 ล้านตัน สนใจลงทุนแลนด์บริดจ์ วุฒิสภาปล่อยอิสระ สว.ตอบคำถามประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ก้าวไกลย้ำพร้อมแจงศาล รธน. คดี ‘พิธา’ ถือหุ้นสื่อ กับคดีล้มล้างการปกครอง ปชป.เปิดแผนฟื้นฟูพรรค เริ่มจากถอดบทเรียนความล้มเหลว-แตกแยก มั่นใจมีสมาชิกเพิ่มใน 6 เดือน-1 ปี
นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงที่ญี่ปุ่น
เวลา 10.20 น. วันที่ 17 ธ.ค. ที่โรงแรม Okura Tokyo กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (ตามเวลากรุงโตเกียว เร็วกว่ากรุงเทพฯ 2 ชั่วโมง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ช่วงที่ 1 Plenary Session หัวข้อ Review of ASEAN-Japan relations และ Partners for Peace and Stability & Regional and International Issues
นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณนายกฯ คิชิดะของญี่ปุ่นสําหรับการต้อนรับที่อบอุ่น ไทยยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมครั้งประวัติศาสตร์นี้ การกำหนดทิศทางอาเซียน-ญี่ปุ่นด้วยวิสัยทัศน์และแผนปฏิบัติการใหม่ เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตและความเปราะบางของสันติภาพโลก รวมทั้งความมั่นคงในภูมิภาคที่เกี่ยวโยงกัน จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังท่ามกลางความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิเศรษฐศาสตร์และภูมิเทคโนโลยี

ชื่นมื่น – นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรมว.คลัง จับมือกับนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกฯญี่ปุ่น ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ฉลองครบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ที่โรงแรมโอคุระ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.
เสนอความร่วมมือ 3 ข้อ
นายกฯ นำเสนอความร่วมมือในอนาคตเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน 3 ประการ 1.การบูรณาการความร่วมมือระดับภูมิภาคจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น หรือ AJCEP และ RCEP เพื่อเชื่อมโยงตลาดที่มีศักยภาพ เสริมสร้างความ เข้มแข็งให้ความร่วมมือภายใต้กรอบ อนุภูมิภาคต่างๆ เช่น ACMECS และความร่วมมือแม่โขง-ญี่ปุ่น สร้างขีดความสามารถระดับภูมิภาค ซึ่งไทยกำลังพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ ยินดีร่วมมือกับ ทุกพันธมิตรที่สนใจทั้งภาครัฐและเอกชน
2.การพัฒนาที่ยั่งยืนและการเติบโต สีเขียว ไทยยินดีสนับสนุนข้อริเริ่ม Asia Zero Emission เพื่อเร่งรัดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และยุทธศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของอาเซียน ไทยมุ่งมั่นจะเป็นผู้ผลิตพลังงานสะอาดชั้นนำและเป็นศูนย์กลางการผลิต EV 3.ความมั่นคงด้านสุขภาพ นายกฯ ยินดีที่ไทยและญี่ปุ่นร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดส่งเสริมประเด็นเรื่องประกันสุขภาพถ้วนหน้าในระดับโลก
เน้นหุ้นส่วนกับญี่ปุ่นแบบใจถึงใจ
ประเด็นสถานการณ์ นายกฯ กล่าวว่าจำเป็นต้องกระชับความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความไม่แน่นอนเรื่องขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งสงครามยูเครนที่ยังคงไม่สงบ สถานการณ์ในตะวันออกกลางที่ความขัดแย้งขยายตัว ในเมียนมาที่ทวีความรุนแรง ไทยพร้อมแสดงบทบาทนำเพื่อช่วยเหลือเมียนมาไปสู่การทำตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน การดำเนินการทั้งหมดจะไม่ง่าย แต่ด้วยความมุ่งมั่นร่วมกันจะเสริมสร้างโอกาสทองในความสัมพันธ์ของอาเซียนและญี่ปุ่นได้มากขึ้น ดังสุภาษิต “การเดินกับมิตรในความมืดมิด ยังดีกว่าเดินลำพังในแสงสว่าง”
เวลา 11.50 น. นายเศรษฐาเข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ช่วงที่ 2 การหารือระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน ภายใต้หัวข้อ “Heart to Heart Partners across Generations”
นายกฯ เน้นย้ำการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนแบบ “ใจถึงใจ” ผ่านการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน ทั้งด้านการศึกษาและวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมายาวนาน ญี่ปุ่นถือเป็นพันธมิตรที่ไทยให้ความไว้วางใจอย่างมากการสร้างความร่วมมือระหว่างรุ่นสู่รุ่นในอนาคต ต้องคำนึงถึงค่านิยม ทัศนคติที่แตกต่างกันของคนหนุ่มสาว
รัฐบาลไทยตระหนักถึงศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และ Soft Power ในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไทยมีอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่กำลังเติบโต ทั้งการออกแบบ แฟชั่น อาหาร ภาพยนตร์ ดนตรี ศิลปะการแสดง เกม และการสร้างเนื้อหาดิจิทัล ทั้งนี้ ไทยพร้อมมีความร่วมมือกับญี่ปุ่นและอาเซียนในการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และการส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาให้เข้มแข็ง
ชู 3 ข้อความร่วมมือสู่ความมั่งคั่ง
เวลา 12.50 น. นายเศรษฐาเข้าร่วมการประชุม หัวข้อ Partners for Co-creation and Economy and Society of the Future โดยกล่าวว่า การร่วมสร้างสรรค์ (co-creation) ก่อให้เกิดศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ที่จะสร้างความมั่งคั่งร่วมกัน ญี่ปุ่นมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก คาดอาเซียน จะมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ในปี 2573 ต้องให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็น
1.การเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ การลงทุนเกือบ 3 ล้านล้านเยนของญี่ปุ่นในโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียนพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นของญี่ปุ่น ไทยสนับสนุนให้มีการลงทุนมากยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญอันดับแรกคือการสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน ส่งเสริมการขนส่งและโลจิสติกส์ที่คุ้มทุนมากขึ้น โครงการแลนด์บริดจ์ ของไทย เป็นวิสัยทัศน์การพัฒนาความเชื่อมโยงระดับภูมิภาค
2.การเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและเร่งการเปลี่ยนผ่านพลังงาน การเปลี่ยนผ่านนี้อาจก่อให้เกิดต้นทุนแต่ก็เปิดโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ไทยเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนเพิ่มเติมในการพัฒนาระบบนิเวศ EV ในอาเซียน โดยเฉพาะจากญี่ปุ่น ไทยสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานทดแทนและด้านเชื้อเพลิงที่ยั่งยืน และการเงิน สีเขียว 3.การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล ปัจจุบันอาเซียนกำลังศึกษากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน หรือ DEFA เป็นกรอบข้อตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลระดับภูมิภาคฉบับแรกของโลก ด้วย DEFA คาดอาเซียนจะเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค 2 เท่า เป็น 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2573“ไทยยินดีร่วมมือญี่ปุ่นด้าน e-commerce รวมถึงการไหลของข้อมูลข้ามพรมแดน การกำกับดูแล AI เพื่อช่วยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล เชื่อมั่นเหล่านี้จะเป็นกลไกการเติบโตใหม่ เพื่อสร้างสังคมที่เจริญรุ่งเรืองให้ชาติของเราในอนาคต”
หวังญี่ปุ่นลงทุนเพิ่ม
เวลา 15.40 น. ที่ทำเนียบนายกฯ ญี่ปุ่น กรุงโตเกียว นายเศรษฐา หารือทวิภาคีกับนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกฯญี่ปุ่น นายเศรษฐาย้ำถึงการส่งเสริมสภาพแวดล้อมการลงทุนให้ญี่ปุ่น ไทยจะออกมาตรการยกเว้นวีซ่าให้นักธุรกิจญี่ปุ่น พร้อมกล่าวฝากรัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนเอกชนไทย และหวังจะร่วมมือกับญี่ปุ่นด้านซอฟต์ พาวเวอร์ในโครงการ OTOP ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจาก OVOP ของญี่ปุ่น
ไทยหวังจะมีนักลงทุนและแรงงานทักษะสูงด้านดิจิทัลจากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนเพิ่ม โดยเฉพาะสาขา Data Center ขนาดใหญ่ และบริการคลาวด์คุณภาพสูง นายกฯสนับสนุนหลักการความร่วมมือด้านพลังงานและอุตสาหกรรม และยินดีร่วมมือเพื่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานตามกรอบพันธมิตรเอเซค (AZEC) กับญี่ปุ่น
นายกฯ ญี่ปุ่น ขอบคุณรัฐบาลไทยที่ยกเว้นวีซ่าให้นักธุรกิจญี่ปุ่นเข้าไทยเพื่อติดต่อธุรกิจระยะสั้น จะทำให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนในไทย นอกจากนี้ยังเสนอจัดตั้งกลไกการเจรจาด้านพลังงานและอุตฯ กับไทย เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านพลังงานและอุตสาหกรรม โดยนายเศรษฐาจะมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกับญี่ปุ่นต่อไป
ปลื้มนายกฯญี่ปุ่นชูคำพูด‘เจ-ชนาธิป’
นายเศรษฐาทวีตข้อความทาง X โดยหยิบยกคำกล่าวของนายกฯ ญี่ปุ่นถึง เจ-ชนาธิป ว่า วันนี้ในการหารือระหว่างผู้นำอาเซียน-ญี่ปุ่น หัวข้อ “Heart to Heart Partners across Generations” ท่านนายกฯ Fumio Kishida ได้สรุปผลการประชุมโดยอ้างคำกล่าวของเมสซี่เจ ชนาธิป สรง กระสินธ์ นักฟุตบอลทีมชาติไทยสมัยค้าแข้งกับทีมคาวาซากิ ฟรอนตาเล่ ว่า “การเข้าร่วมในเจลีกของผม สามารถสรุปได้ด้วยคำสั้นๆ เพียงคำเดียวนั่นคือ ความงดงามครับ” ความภูมิใจของ #SoftPower คนไทยครับ #JayChanathip
รับปากดูแลนักธุรกิจญี่ปุ่น
เวลา 16.00 น. นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์ถึงผลการประชุมว่า การที่เรากับญี่ปุ่นเป็น Heart to Heart Partners หรือใจถึงใจ ความสัมพันธ์ทางด้านจิตใจนี้เกิดจากความสัมพันธ์ระดับประชาชนที่แน่นแฟ้น เห็นได้จากระยะหลังไทยและญี่ปุ่นเดินทางไปมาหาสู่กันได้สบายโดยไม่ต้องมีวีซ่า และตอนนี้มีการยกระดับนักธุรกิจญี่ปุ่นไม่ต้องมีวีซ่าเข้าประเทศไทย
นายกฯ ญี่ปุ่นยังกล่าวสุนทรพจน์ถึง เมสซ่ี เจ มาญี่ปุ่นก็ดังมากอยากให้มีแบบนี้อีก ตนก็ตกใจเรื่องนี้ยิ่งทำให้เห็นสิ่งที่ตนบอกว่าใจถึงใจ ยังได้หารือกับนายกฯ ญี่ปุ่นเป็นการส่วนตัว พูดคุยถึงการลงทุนธุรกิจและรายงานให้ท่านทราบโดยตรง ตนมาก่อนวันประชุมเพื่อพูดคุยกับ 7 บริษัทยานยนต์ ที่ต้องการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์อีวี ตนให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลญี่ปุ่นมีบุญคุณกับเรามามาก ฉะนั้นการดูแลนักลงทุนญี่ปุ่นเราจึงให้ความสำคัญสูงสุด ท่านได้ขอบคุณและสบายใจ และมีนักลงทุนไทยมาลงทุนที่ญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน ก็ฝากให้ช่วยดูแล และได้พูดคุยให้ญี่ปุ่นช่วยพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ เพราะเขาชำนาญเรื่องนี้

ชื่นมื่น – นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คลัง สวมผ้าไหมมัดหมี่จากศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ถ่ายรูปร่วมกับ นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกฯ ญี่ปุ่น และภริยา ในพิธีเปิดไฟฉลองครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ก่อนร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ นายกฯ ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ ที่อาคาร Mori JP Tower กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.
เยือนญี่ปุ่นประสบความสำเร็จมาก
และพูดถึงองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ซึ่งมีประเทศใหญ่ๆ เป็นสมาชิก 30 กว่าประเทศ แต่เราอยู่ระหว่างการยื่น โดยญี่ปุ่นเชิญให้เราเข้าร่วมประชุมในฐานะ ผู้สังเกตการณ์ในการประชุมปีหน้า เราไม่ต้องไปขอแต่ญี่ปุ่นเชิญเรา หากไทยได้เป็นสมาชิกการเจรจาเกี่ยวกับสนธิสัญญาการค้า ยิ่งแสดงให้เห็นความสำเร็จสัมพันธ์ ดีมาก
“การเดินทางในครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จมาก และการพูดคุยวันนี้ ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี กระทรวงการ ต่างประเทศเตรียมการไว้ดีมาก อย่างเรื่อง นักธุรกิจไม่ต้องใช้วีซ่า เขาขอมาตอนประชุมเอเปค ไม่ถึง 1 เดือนก็เรียบร้อย ยังมีการแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์ใน เมียนมา ผมให้ความมั่นใจไปว่าไทยในฐานะเพื่อนบ้านที่ใกล้เคียงจะไม่ทอดทิ้ง ก่อนหน้านี้นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ ได้ประชุมกับรมต.ต่างประเทศอาเซียนทั้งหมด จะมีการตั้งกลุ่มขึ้นมาพูดคุยว่าจะช่วยเหลืออย่างไร” นายเศรษฐากล่าว
นายกฯ กล่าวว่า หลังการประชุมหารือทวิภาคีกับนายกฯ ญี่ปุ่นแบบเต็มคณะ นายกฯ ญี่ปุ่นมอบของขวัญพิเศษเป็นเหล้าอาวะโมริ เหล้าพื้นเมืองของจังหวัด โอกินาวะ ที่ผลิตจากข้าวไทย ซึ่งเขาทำมา 100 กว่าปีแล้ว แสดงว่าเขามีใจให้ประเทศไทย เราซาบซึ้ง
เล็งฟื้นครม.ไทย-เวียดนาม
นายเศรษฐาเผยว่า ระหว่างการประชุมได้หารือพูดคุยส่วนตัวกับผู้นำอาเซียน อาทิ กัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย การพูดคุยกับนายฮุน มาเนต นายกฯ กัมพูชาที่สนิทสนมกัน พบเจอกันหลายวงประชุมได้หารือกันหลายเรื่อง การสร้างสถานกงสุลที่กรุงเสียมเรียบ นายฮุนยืนยันจะสนับสนุนเต็มที่ รวมถึงขอบคุณไทยที่ช่วยให้คนกัมพูชาเข้าไทยได้โดยไม่ต้องใช้พาสปอร์ต และทำให้ภาคแรงงานทำให้ขับเคลื่อนไปได้
การหารือร่วมกับนายหวอ วัน เถือง ประธานาธิบดีเวียดนาม จะมีการรื้อฟื้นการประชุมครม.ร่วมของ 2 ประเทศ เวียดนามเสนอให้จัดช่วง พ.ค.2567 และ 2 ประเทศเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลกก็น่าจะพูดคุยกันเรื่องราคาข้าว ทำให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น เวียดนามเสนอให้ไทย เวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา พูดคุยกันเพื่อร่วมเป็นคณะกรรมการโปรโมตการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกัน นำจุดแข็งของแต่ละประเทศมาใช้ ซึ่งตนเสนอว่าการประชุม ร่วมครม.เวียดนาม-ไทย พ.ค.จะให้รมว.การท่องเที่ยวฯ จัดประชุมกับรมต.ท่องเที่ยวทั้ง 4 ประเทศ เพื่อทำการบ้านก่อนคลอดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของทุกประเทศ ถือเป็นแนวคิดที่สร้างสรรค์ ที่ดีมากของนายกฯ เวียดนาม
อินโดฯซื้อข้าวไทย 2 ล้านตัน
ส่วนการพูดคุยกับนายโจโก วีโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ปัจจุบันเป็นประธานอาเซียน ตนได้เจอท่าน 3-4 ครั้ง สัปดาห์ที่ผ่านมาท่านส่งนักธุรกิจมาคุยเรื่องการค้าข้าว พูดคุยก่อนแล้ว และการพบกันวันนี้ประธานาธิบดียืนยันว่าจะซื้อข้าวไทย 1 ล้านตันในปีนี้ แต่เมื่อเหลือเพียง 20 วันประธานาธิบดียืนยันจะสั่งข้าวไทยเป็น 2 ล้านตัน โดยจะส่งคนมาพบกับรมว.เกษตรฯ ช่วงต้นปี 2567 เชื่อว่าจะทำให้ราคาข้าวไทยมีราคาและความต้องการ สูงขึ้น ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี
ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ยังสนใจในเรื่องแลนด์บริดจ์ด้วย เพราะมีนักลงทุนอินโดนีเซียสนใจมาลงทุน โดยจะนัดมาหารือต่อไป
นายเศรษฐายังกล่าวถึงการมอบของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนว่า ตอนนี้เวลานี้เราไม่ได้มาเล่นการเมือง แต่รู้ว่าเรามาทำการเมืองเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน ฉะนั้นหากถามว่าของขวัญคืออะไร คือครม.ทุกคน ทีมงาน จะทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เราจะพยายามทำเต็มที่เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ประชาชนให้ดีกว่าที่ผ่านมา ถือเป็นคำมั่น คอยดูแล้วกัน จะทำเต็มที่ เพราะบางอย่างก็ถูกใจ บางอย่างยังไม่เป็นที่เพียงพอเข้าใจได้ถึงความรู้สึก เพราะตอนนี้ยังมีปัญหาอยู่หลายด้าน อะไรที่ทำได้ก็จะทำก่อน อะไรใช้เวลาก็จะทำไป หลายเรื่องต้องเก็บข้อมูลเพื่อมาดำเนินการเพื่อความพร้อม
มท.ชู 18 มาตรการของขวัญปีใหม่
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทยและโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย มอบหมายให้หน่วยงานใต้สังกัดเตรียมมาตรการที่จะเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ซึ่งขณะนี้ผ่านขั้นตอนการหารือระดับหน่วยงานเรียบร้อยแล้ว เตรียมนำเสนอครม. ทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจสรุปมาตรการที่ส่งมอบเป็นของขวัญปีใหม่เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้พี่น้องประชาชนรวม 18 มาตรการ จาก 13 หน่วยงาน บางมาตรการเริ่มดำเนินการแล้ว อีกหลายมาตรการจะเริ่มตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นไป
มาตรการที่จะเสนอต่อครม. อาทิ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ลดการก่อหนี้นอกระบบ โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นดำเนินการผ่านสถาน ธนานุบาล หรือโรงรับจำนำของอปท. 261 แห่ง ตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 มี.ค.67 กรณีใช้บริการเงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท จะไม่คิดดอกเบี้ยใน 3 เดือนแรก จากนั้นคิดร้อยละ 0.25 ต่อเดือน หากเงินต้นเกิน 5,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน
แจ้งย้ายทะเบียนบ้านผ่านแอพฯ
กปน.จัดโครงการตู้น้ำดื่มสะอาด เพื่อชุมชน 72 ตู้ ในจ.สมุทรปราการ และนนทบุรี ตั้งแต่ม.ค.67 เป็นต้นไป เป็นตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญราคา 2 ลิตรต่อ 1 บาท, กปน.และกปภ.ยังมีโครงการขยายเวลางดตัดน้ำประปา 3 เดือน จากเดิม 2 เดือน สำหรับบ้านพักอาศัยซึ่งมียอดรวมใบแจ้งค่าน้ำต่อเดือนไม่เกิน 150 บาท/เดือน ค้างค่าน้ำได้ไม่เกิน 3 เดือน (3 รอบบิล) ดำเนินการระหว่าง พ.ย.66-ม.ค.67
กฟน.และกฟภ.เริ่มมาตรการของขวัญปีใหม่ตั้งแต่ พ.ย.66 คือการขยายระยะเวลางดจ่ายไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่มีค่าไฟไม่เกิน 300 บาทต่อเดือน จากเดิม 1 เดือนเป็น 3 เดือน ระยะดำเนินการ พ.ย.66-พ.ย.67 ครอบคลุมประชาชน 7.6 ล้านราย
กรมการปกครองพัฒนาแอพฯ ThaID ต่อเนื่องตั้งแต่ 1 ม.ค.67 เพิ่มฟังก์ชันใหม่เป็นของขวัญปีใหม่ บริการแจ้งย้ายทะเบียนบ้านและคัดรับรองเอกสารทางทะเบียน ได้แก่ แบบรับรองรายการบุคคล (ทร.14/1) แบบรับรองรายการประวัติบุคคล (ทร.12/2) และแบบรับรองการเกิด (สูติบัตร) (ทร.1/ก) และตั้งแต่ ก.พ.เป็นต้นไป แสดงเอกสาร สูติบัตร ทะเบียนสมรส ทะเบียนการหย่า จากที่แสดงบัตรประจำตัวประชาชน และทะเบียนบ้าน
โพลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทุกจว.
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ขึ้นเงินเดือนข้าราชการและค่าแรงขั้นต่ำ” สำรวจระหว่าง 13-15 ธ.ค.2566 จากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาครวม 1,310 ตัวอย่าง
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการขึ้นเงินเดือนข้าราชการกลุ่มแรกเข้าภายใน 2 ปี พบว่า ร้อยละ 48.93 ระบุ เหมาะสมดีแล้ว รองลงมา ร้อยละ 28.63 ระบุ ควรขึ้นเงินเดือนข้าราชการทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะแรกเข้าหรือรับราชการมานานแล้ว ร้อยละ 13.66 ระบุ ไม่ควรขึ้นเงินเดือนข้าราชการตอนนี้ ร้อยละ 3.74 ระบุขึ้นน้อยเกินไป ร้อยละ 3.51 ระบุ ขึ้นมากเกินไป และร้อยละ 1.53 ระบุ ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการเสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อัตราเพิ่มขึ้น 2-16 บาท ร้อยละ 35.11 ระบุ ควรขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอัตราเพิ่มขึ้นเท่ากันทุกจังหวัด รองลงมาร้อยละ 28.40 ระบุ ขึ้นน้อยเกินไป ร้อยละ 28.32 ระบุ เหมาะสมดีแล้ว ร้อยละ 6.18 ระบุ ไม่ควรขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตอนนี้ ร้อยละ 0.84 ระบุ ขึ้นมากเกินไป และร้อยละ 1.15 ระบุ ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ก.ก.พร้อมแจงศาลรธน.คดีหุ้นสื่อ-112
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรค ก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงความพร้อมของข้อมูลเพื่อเข้าชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญในข้อกล่าวหาคดีถือหุ้นสื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล และคดีเสนอนโยบายหาเสียงแก้ไข ม.112 ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาไต่สวนคดีถือหุ้นสื่อของนายพิธา วันที่ 20 ธ.ค. และพิจารณาไต่สวนคดี ล้มล้างการปกครองวันที่ 25 ธ.ค. ซึ่งต้องรอศาลฯ จะมีคำพิพากษาอีกครั้งในช่วงเดือน ม.ค.2567 เป็นต้นไป เรายืนยันว่าในสิ่งที่พรรคทำนั้นถูกต้องเป็นไปตามกฎหมาย และพร้อมพิสูจน์ความบริสุทธิ์ผ่านกระบวนการยุติธรรม เราพร้อมชี้แจง ทุกคำถามและทุกข้อกล่าวหา
เมื่อถามว่า จะมีตัวแทนไปร่วมฟังการไต่สวนทั้งสองคดีด้วยหรือไม่ นายพริษฐ์กล่าวว่า ทางเราต้องเตรียมบุคลากร เพื่อเข้าไปชี้แจงทุกข้อกล่าวหา ตามกระบวนการอยู่แล้ว
วุฒินัดโหวต‘สิทธิโชติ’นั่งกกต.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา นัดประชุม 18 ธ.ค. วาระสำคัญคือให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กกต. แทนตำแหน่งที่ว่าง คือ นายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา ซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเสนอ ซึ่งคณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติฯ วุฒิสภา ที่มี พล.อ.อู้ด เบื้องบน สว. เป็นประธาน ตรวจสอบเสร็จแล้ว และทำรายงานเสนอต่อที่ประชุม
ทั้งนี้ ผลลงมติจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จากผู้พิพากษาในศาลฎีกาที่ลงมติ 176 คน มีผู้เข้าประชุม 169 คน ลา 7 คน นายสิทธิโชติได้ 139 คะแนน ขณะที่นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ รองประธานศาลฎีกา ได้ 26 คะแนน บัตรเสีย 4 ใบ ถือว่านายสิทธิโชติได้รับเลือกจากที่ประชุม
ปล่อยอิสระสว.ตอบประชามติ
ส่วนความเคลื่อนไหวของวุฒิสภากรณีการตอบคำถามการรับฟังความเห็นเบื้องต้นของ สว. เกี่ยวกับแนวทางการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็น ในกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ จะจัดส่งคำถามให้ตอบระหว่าง 18-19 ธ.ค. ในการประชุมวิปวุฒิสภา ได้หารือเบื้องต้นว่า จะให้ สว.ให้ความร่วมมือแสดงความเห็นตอบคำถามอย่างอิสระ
นายวันชัย สอนศิริ สว. ในฐานะเลขานุการวิปวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ว่า คำถามประชามติเจ้าหน้าที่จะแจกให้สว.ที่หน้าห้องประชุมในวันที่ 18 ธ.ค. นี้ เพื่อให้ สว.แสดงความเห็น ที่ประชุมวิปวุฒิสภาหารือว่าจะให้สว.ให้ความร่วมมือตอบแบบสอบถาม 18-19 ธ.ค. จากนั้นจะรวบรวมความเห็นสว. ส่งคืนไปยังกรรมการประชามติ “การให้ความเห็นถือให้เป็นอิสระของแต่ละบุคคล ใครจะเห็นด้วยหรือไม่ หรือมีความเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร ถือเป็นอิสระไม่ไปก้าวล่วง ชี้นำ หรือกดดันใดๆ”
ปชป.เปิดแผนฟื้นพรรค 6 เดือน-1 ปี
นายชนินทร์ รุ่งแสง ว่าที่รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะนี้ว่าที่ กก.บห.พรรคหลายคน เริ่มต้นเตรียมการและมีการพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อเดินหน้าทำงาน ทุกคนยอมรับว่าการฟื้นฟูพรรคขณะนี้เป็นเรื่องที่ยากแต่ก็ไม่ท้อหรือถอดใจ ถึงแม้จะคิดว่า กก.บห.ชุดนี้มีต้นทุนต่ำโดนวิพากษ์วิจารณ์ในทางไม่ดีเยอะมาก และหลายฝ่ายก็ไม่ได้คาดหมายถึงผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นในระยะใกล้นี้ การทำงานช่วงแรก คงเริ่มต้นถอดบทเรียนความล้มเหลวและความแตกแยกที่เกิดขึ้น เพื่อหาทางแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต
อยากตั้งเป้าหมายไว้เบื้องต้นเพื่อให้พรรคเป็นที่ยอมรับและมีสมาชิกเข้าร่วมงานมากขึ้น ตั้งเป้าภายใน 6 เดือนถึง 1 ปีน่าจะมีสมาชิกใหม่เข้ามา และสมาชิกเก่ากลับเข้ามาร่วมงานกันต่อไป น่าจะมีการเดินสายพบปะประชาชนโดยเฉพาะสมาชิกทั่วประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น ปรับจูนทัศนะความคิด และที่สำคัญรับฟังปัญหาเสียงสะท้อนต่างๆ ของประชาชนเพื่อนำไปติดตามเสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาหรือทำเป็นนโยบายพรรคต่อไป
“สิ่งสำคัญที่ กก.บห.ชุดนี้ต้องให้ความชัดเจน คือต้องพิสูจน์การทำงานที่ยึดมั่นพันธสัญญาของว่าที่หัวหน้าพรรคที่ให้ไว้ในที่ประชุมใหญ่ครั้งแรก เมื่อได้รับตำแหน่งว่า จะยึดมั่นอุดมการของพรรค ไม่เป็นพรรคอะไหล่ในการร่วมรัฐบาล และจะรีบทำงานฟื้นฟูภายในพรรค เพื่อการเปลี่ยนผ่านให้เร็วที่สุด” นาย ชนินทร์กล่าว
เปิดขั้นตอนแรงงานไทยรับเยียวยา
เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ.แรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการเยียวยากรณีการขาดรายได้ของแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศอิสราเอลตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งมีแรงงานไทยจะได้รับสิทธิ 15,000 คน คนละ 50,000 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 750 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดรายได้ในเบื้องต้นของแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล รวมทั้งเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานถูกต้องตามกฎหมายได้รับการดูแลจากภาครัฐอย่างจริงจังนั้น
นายพิพัฒน์กล่าวต่อว่า ความคืบหน้าการดำเนินการภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการดังกล่าวแล้วนั้น ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ได้รับรายงานจากนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงานว่ามีข้อสั่งการให้สำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดเริ่มดำเนินการรับคำร้องได้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 18 ธ.ค.นี้ โดยพี่น้องแรงงานที่กลับมาจากอิสราเอลสามารถยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยาได้ทั้งในส่วนกลางและภูมิลำเนา ส่วนกลางยื่นได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานและติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล กระทรวงแรงงาน ณ กระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาคที่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานและติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลกระทรวงแรงงาน จังหวัด ณ สำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด ในวันและเวลาราชการ ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนธ.ค.2566-ก.ย.2567 หรือจนกว่าจะดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาแล้วเสร็จ ส่วนวิธีดำเนินการ ขั้นตอนการขอรับเงินและเอกสารประกอบการยื่นคำร้องนั้น มีดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การยื่นคำร้อง ผู้ยื่นสามารถยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยา ณ สำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดและกระทรวงแรงงาน โดยแยกตามกลุ่มเป้าหมายและเอกสารที่เกี่ยวข้องประกอบการยื่นคำร้อง ดังนี้
กลุ่มที่ 1 แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอล และเดินทางกลับประเทศไทยหลังวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ซึ่งมีอยู่ 9,475 คน จะต้องยื่นคำร้องด้วยตนเอง โดยมีเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องสำหรับการยื่นขอรับเงินเยียวยา ดังนี้ 1) แบบคำร้องขอรับเงินเยียวยา กรณียื่นคำร้องด้วยตนเอง 2) บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงพร้อมสำเนา 3) หนังสือเดินทางพร้อมสำเนาหน้าที่มีรูปถ่าย และตราประทับเข้า-ออก ประเทศไทยหรือหนังสือเดินทางชั่วคราว (CI) พร้อมสำเนาหน้าที่มีรูปถ่าย และตราประทับเข้าประเทศไทย 4) แบบแจ้งข้อมูลการรับเงินโอนผ่านระบบ KTB Corporate Online 5) สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคาร ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำร้องพร้อมถ่ายรูป ณ สถานที่ยื่น และคำร้องสำเนาเอกสารทุกฉบับให้ผู้ยื่นคำร้องรับรองสำเนาถูกต้องพร้อมลงลายมือชื่อเรียบร้อยแล้ว
กลุ่มที่ 2 แรงงานไทยที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล จำนวน 39 ราย ผู้ยื่นคำร้อง คือ ทายาทผู้มีสิทธิตามกฎหมาย โดยมีเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องสำหรับการยื่นขอรับเงินเยียวยา ดังนี้ 1) แบบคำร้องขอรับเงินเยียวยา กรณี เสียชีวิต 2) สำเนาใบมรณบัตร 3) สำเนาทะเบียนบ้านผู้เสียชีวิต 4) หนังสือรับรองความสัมพันธ์ทางครอบครัว 5) หนังสือให้ความยินยอมเป็นทายาทโดยธรรม 6) สำเนาบัตรประชาชนทายาท 7) สำเนาทะเบียนสมรส (กรณีคู่สมรส) 8) สำเนาสูติบัตร (กรณีบุตร) 9) แบบแจ้งข้อมูลการรับเงินโอนผ่านระบบ KTB Corporate Online 10) สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคารทายาทผู้มีสิทธิ ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำร้องพร้อมถ่ายรูป ณ สถานที่ยื่น และคำร้องสำเนาเอกสาร ทุกฉบับให้ผู้ยื่นคำร้องรับรองสำเนาถูกต้องพร้อมลงลายมือชื่อเรียบร้อยแล้ว และผู้ยื่นคำร้องขอให้เป็นคนเดียวกันกับที่ยื่นคำร้องรับเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิตจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ
กลุ่มที่ 3 กรณีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอลและเดินทางกลับประเทศไทยก่อนวันที่ 7 ตุลาคม 2566 โดยใช้วีซ่า Re-entry อายุไม่เกิน 90 วัน : ระหว่างวันที่ 9 กรกฎาคม-6 ตุลาคม 2566 แต่ไม่สามารถเดินทางกลับไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลได้เนื่องจากกรมการจัดหางานชะลอการเดินทางด้วยเหตุภัยสงครามในประเทศอิสราเอล จำนวน 960 คน โดยมีเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องสำหรับการยื่นขอรับเงินเยียวยา ดังนี้ 1) แบบยื่นคำร้อง กรณี Re-entry Visa 2) บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงพร้อมสำเนา 3) หนังสือเดินทางพร้อมสำเนาหน้าที่มีรูปถ่าย และตราประทับเข้า-ออก ประเทศไทยไม่เกิน 90 วัน 4) Re-entry Visa อายุไม่เกิน 90 วัน) พร้อมสำเนา 5) แบบแจ้งข้อมูลการรับเงินโอนผ่านระบบ KTB Corporate Online และ 6) สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคาร ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำร้องพร้อมถ่ายรูป ณ สถานที่ยื่น และคำร้องสำเนาเอกสารทุกฉบับให้ผู้ยื่นคำร้องรับรองสำเนาถูกต้องพร้อมลงลายมือชื่อเรียบร้อยแล้ว
และกลุ่มที่ 4 สำหรับแรงงานไทยกลุ่มที่ยังไม่เดินทางกลับจากอิสราเอล และประสงค์ที่จะเดินทางกลับมาเพิ่มเติม รวมถึงแรงงานไทยที่ยังคงถูกจับเป็นตัวประกัน เมื่อเดินทางกลับมาแล้วก็สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยาในส่วนนี้ได้เช่นเดียวกัน
ขั้นตอนที่ 2 เจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงานจังหวัด/กระทรวงแรงงาน ตรวจสอบเอกสารของผู้ยื่นคำร้องและพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นคำร้องตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเยียวยา ขั้นตอนที่ 3 สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ รวบรวมเอกสารคำร้องจากสำนักงานแรงงานจังหวัด/กระทรวงแรงงาน ขั้นตอนที่ 4 กองบริหารการคลังรับคำร้องจากสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ ตรวจสอบความถูกต้อง เสนอปลัดกระทรวงแรงงานพิจารณาอนุมัติเบิกจ่าย กองบริหารการคลัง โอนเงินเข้าบัญชี ผู้มีสิทธิ/ทายาท ได้รับเงินเยียวยา
สามารถสอบถามได้ที่สายด่วน กระทรวงแรงงาน 1506 หรือศูนย์ช่วยเหลือแรงงานและติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล กระทรวงแรงงาน โทร.0-2232-1462-3 หรือ 0-2232-1471 หรือสำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ
ลงชื่อแก้หนี้-มูลค่า6พันล้าน
เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นวันที่ 17 นับตั้งแต่เปิดลงทะเบียน โดยจากข้อมูลของสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง เมื่อเวลา 15.30 น. มีมูลหนี้รวม 5,851.294 ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 98,667 ราย
โดยเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 87,561 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 11,106 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 69,093 ราย มีพื้นที่/จังหวัด ที่มี ผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก 1.กรุงเทพฯ ยังคงมากที่สุด มีผู้ลงทะเบียน 6,210 ราย เจ้าหนี้ 5,093 ราย มูลหนี้ 491.003 ล้านบาท 2.จ.นครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 4,234 ราย เจ้าหนี้ 3,380 ราย มูลหนี้ 256.164 ล้านบาท 3.จ.สงขลา มีผู้ลงทะเบียน 3,907 ราย เจ้าหนี้ 2,733 ราย มูลหนี้ 242.895 ล้านบาท 4.จ.นครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 3,836 ราย เจ้าหนี้ 2,392 ราย มูลหนี้ 281.977 ล้านบาท และ 5.จ.ขอนแก่น มีผู้ลงทะเบียน 2,571 ราย เจ้าหนี้ 2,019 ราย มูลหนี้ 185.921 ล้านบาท
สำหรับจังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1.จ.แม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 131 ราย เจ้าหนี้ 85 ราย มูลหนี้ 5.344 ล้านบาท 2.จ.ระนอง มีผู้ลงทะเบียน 203 ราย เจ้าหนี้ 127 ราย มูลหนี้ 14.072 ล้านบาท 3.จ.สมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 262 ราย เจ้าหนี้ 180 ราย มูลหนี้ 8.367 ล้านบาท 4. จ.ตราด มีผู้ลงทะเบียน 331 ราย เจ้าหนี้ 197 ราย มูลหนี้ 10.237 ล้านบาท และ 5.จ.สิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 361 ราย เจ้าหนี้ 238 ราย มูลหนี้ 13.679 ล้านบาท
งานโอท็อปวันแรกสะพัด72ล.
เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ที่อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย เที่ยวชมงาน OTOP City 2023 และให้กำลังใจผู้ประกอบการบริเวณโซนต่างๆ พร้อมด้วนนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรมว.มหาดไทยและโฆษกกระทรวงมหาดไทย ร่วมเที่ยวชมงาน โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน และนายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ร่วมให้การต้อนรับและนำเที่ยวชม
เมื่อเดินทางเข้าสู่บริเวณงาน นายอนุทินเดินไปยังบริเวณโซนโอท็อป ชวนชิม แวะซื้อหอยนางรม ร้านเบญจมาศ หอยนางรม จ.สุราษฎร์ธานี และก๋วยเตี๋ยวเรือลืมดง ส้มตำยกครก จ.เลย แล้วร่วมรับประทานอาหารกับผู้บริหารระดับสูงในโซนโอท็อป ชวนชิม จากนั้นได้เดินเที่ยวชมงาน แวะทักทายให้กำลังใจผู้ประกอบการโอท็อป โซนต่างๆ ร่วม 2 ชั่วโมง ซึ่งในระหว่างเที่ยวชมงานได้มีพี่น้องประชาชนมาขอถ่ายรูป และพูดคุยให้ คำแนะนำในการพัฒนารูปแบบการจัดงาน รวมถึงรูปแบบของผลิตภัณฑ์โอท็อป ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งนายอนุทิน ได้หยุดทักทายและขอบคุณพี่น้องประชาชนที่มาร่วมอุดหนุนกับการใช้สอย และรับคำแนะนำข้อเสนอแนะเพื่อมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการพัฒนาต่อไป
ด้านน.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า นายอนุทินกล่าวขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ได้เดินทางมาร่วมจับจ่ายใช้สอยอุดหนุนผลิตภัณฑ์โอท็อป ในงาน OTOP City 2023 โดยเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันแรก มียอดจำหน่ายรวม 72,757,960 บาท มีพี่น้องประชาชนให้ความสนใจเลือกซื้อเลือกหา ผลิตภัณฑ์โอท็อป 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1.ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย 26,296,273 บาท 2.ศิลปินโอท็อป 10,214,450 บาท 3.อาหาร 6,752,675 บาท 4.ของใช้ของตกแต่ง 6,638,982 บาท และ 5.โอท็อป ชวนชิม ผักและผลไม้ 6,241,280 บาท โดยมีผู้เยี่ยมชมงานแล้วกว่า 23,000 คน พร้อมทั้งกล่าวเชิญชวนพี่น้องประชาชนคนไทย ได้มาร่วมอุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นฝีไม้ลายมือของคนไทย ผลิตภัณฑ์ที่ทำโดยคนไทย ไทยทำ ไทยใช้ มาช่วยเหลือคนไทยซึ่งกันและกัน เงินทองไม่รั่วไหล ในงานนี้รวมผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญ ความสามารถในการผลิตสินค้าไทย คนซื้อก็ดีใจที่ได้ซื้อสินค้าไทยเป็นของขวัญของฝาก ผู้ได้รับก็ดีใจที่ได้ของที่ดีมีคุณภาพของไทย ที่สำคัญคือ เราจะได้ร่วมกันภาคภูมิใจในความเป็นไทยไปด้วย
“ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนคนไทยร่วมงาน OTOP City 2023 “ชHอปสนุก…ส่งสุขท้ายปี สินค้าดีจากภูมิปัญญาไทย” ระหว่างวันที่ 16-24 ธ.ค. นี้ ที่ชาเลนเจอร์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมชม ช็อป ชิม เช็กอิน อุดหนุนสินค้าของคนไทย เพื่อหนุนเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจของประเทศ เลือกซื้อเลือกหาของขวัญปีใหม่มอบแด่คนที่ท่านรัก” โฆษกกระทรวงมหาดไทยกล่าว