หนังสือบุด (ตอนจบ)
คอลัมน์ รู้ไปโม้ด
[email protected]

ฉบับวานนี้ (28ก.ค.) “พี่พล” ถามว่า หนังสือบุดเป็น ยังไงเมื่อวานตอบเบื้องต้นไปแล้ว วันนี้อ่านถึงหนังสือบุดกันต่อ
หนังสือบุดจำแนกตามลักษณะของกระดาษที่ใช้ทำได้เป็น 2 ประเภท คือ หนังสือบุดดำ และหนังสือบุดขาว


หนังสือบุดดำ เนื้อกระดาษมีสีดำ เขียนด้วยอักษรสีเหลือง หรือสีขาว เนื้อหาเป็นวิชามาร เช่น ไสยเวท มนต์ดำ รวมถึงตำราพิชัยสงครามและตำราต่างๆ การที่บุดดำใช้สีขาว สีเหลือง หรือ สีทองเขียนเพราะต้องการให้มีพลังอำนาจหรือมีความศักดิ์สิทธิ์ สีขาวจากดินสอสีขาวหรือเปลือกหอยมุก, สีเหลืองและสีทอง จากรงหรือหรดาล
หนังสือบุดขาว เนื้อกระดาษมีสีขาวเขียนด้วยอักษร สีดำเนื้อหาเป็น วิชาเทพ เช่น วรรณกรรมประโลมโลก วรรณกรรมศาสนา ตำรายา การแพทย์ เป็นต้น หนังสือ บุดขาวจะใช้สีดำโดยใช้หมึกดำหรือสีดำ ซึ่งสมัยก่อนภาคใต้นิยมใช้ ลูกสมอป่าหรือลูกนน โดยเอาไปต้มและแช่น้ำจนคายรสฝาด สีดำอมน้ำตาลออกมา กลายเป็นหมึกเพื่อเขียนหรือจาร
วัสดุที่ใช้ทำหนังสือบุดแตกต่างไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ภาคเหนือนิยมใช้เปลือกของต้นสา จึงมีชื่อเรียกว่า สมุดกระดาษสา สำหรับภาคใต้จะใช้ไม้เถาย่านกฤษณา หรือปฤษณา หรือใช้หัวของต้นเอาะนก หรือต้นกระดาษ ลักษณะคล้ายบอน โดยนำมาผสมกับเยื่อไม้อื่นๆ ทำเป็นกระดาษ
จัดรูปเล่มลักษณะเป็นพับ ซึ่งจะต้องเป็นขนาดเดียวกัน พับไปพับมาซ้อนกันหลายๆ ชั้นหรือหลายๆ กลีบ ส่วนบนสุดและล่างสุดของหนังสือบุดแต่ละเล่มจะใช้เป็นปกหน้าและปกหลังในหนังสือบุดไม่มีเลขกำกับหน้า เพียงแต่บอกหน้าไว้ 2 ตอนเท่านั้นคือ หน้าต้น กับ หน้าปลาย หรือ ต้นสมุด กับ ปลายสมุดผู้อ่านต้องเริ่มอ่านจากหน้าต้นหรือต้นสมุด เปิดอ่านตามรอยพับไปเรื่อยๆ จนหมดหน้าต้น ซึ่งจะเขียนบอกไว้ว่าให้พลิกไปอ่านหน้าปลายต่อไป
การเขียนหนังสือบุดมีคตินิยมอยู่บางประการ เช่น จะต้องเขียนใต้เส้นบรรทัด ถือเป็นการยกย่องครู การขึ้นต้นเรื่องจะต้องมีคำนมัสการพระศาสนา บูชาพระรัตนตรัย สรรเสริญผู้มีพระคุณลงท้ายด้วยการบอกชื่อผู้เขียน บอกวันเดือนปีที่เขียน และบอกคำอธิษฐาน เป็นต้น
หนังสือบุดเป็นมรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage) เป็นทรัพย์ทางปัญญาของชุมชนและสังคม เป็นแหล่งรวบรวมสรรพวิทยาการไว้หลายสาขา คือ ศาสนา กฎหมาย ตำนานและประวัติศาสตร์ ตำราและแบบเรียน สุภาษิตและวรรณกรรมประโลมโลก ไสยศาสตร์ ดาราศาสตร์ เป็นวรรณกรรมท้องถิ่นประเภทลายลักษณ์ อันเป็นผลผลิตจากภูมิปัญญาของบรรพชนชาวไทยภาคใต้ที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์และสืบทอดไว้ ให้ประโยชน์ทั้งด้านสังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง
ภาพประกอบในหนังสือ มีทั้งภาพเขียนสี และภาพลายเส้น ที่ลักษณะเนื้อหาและศิลปะหลากหลาย บางเล่มมีความสมบูรณ์ทั้งรูปเล่มและเนื้อหาตั้งแต่หน้าแรกถึงหน้าสุดท้าย บางเล่มชำรุดข้อความบางตอนบางส่วนขาดหายไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน